โพธิญาณพฤกษา : ต้นทองกวาว (ต้นกิงสุกะ)

 



โพธิญาณพฤกษา
พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้

ต้นทองกวาว (ต้นกิงสุกะ)


ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 พระนามว่า “พระเมธังกรพุทธเจ้า” ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้ทองกวาว

ต้นทองกวาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Butea monosperma Kuntze.” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นกิงสุกะ” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย มักพบในทุกส่วนของประเทศ มีชื่อเรียกในภาษาสันสกฤตว่า “ปารัช” (Palasha) ซึ่งแปลว่า “ทอง”

ส่วนในเมืองไทยนั้นจะพบต้นทองกวาวอยู่ตามที่ราบลุ่มในป่าผลัดใบ ป่าหญ้า หรือป่าละเมาะที่แห้งแล้ง พบมากทางภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นขึ้นกระจัดกระจาย ยกเว้นภาคใต้ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภาค ได้แก่ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), จาน (ภาคอีสาน), จ้า (เขมร) เป็นต้น

ทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดสูงประมาณ 10-18 เมตร ลำต้นส่วนมากจะคดงอ และแตกกิ่งต่ำ เปลือกสีเทาคล้ำ แตกเป็นร่องตื้นๆ มีน้ำยางใสๆ ใบหนาและมีขน ใต้ใบสีเขียวอมเทา เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบออกสลับกัน รวมกันเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ก้านช่อยาว ก้านใบย่อยสั้นออก ดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง คล้ายดอกแค สีแดงอมส้ม หรือสีเหลือง (แต่ที่พบโดยทั่วไปเป็นสีแสด เพราะสีเหลืองเป็นพันธุ์ไม้หายาก) ไม่มีกลิ่น



ดอกยาวประมาณ 5-6 ซม. มีกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 ตัว กลีบเลี้ยงรูประฆัง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน โค้งงอเล็กน้อย มีขนนุ่มปกคลุม ฝักยาวประมาณ 10-14 ซม. เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กที่ปลายฝัก การแตกกิ่งก้านสาขาของทองกวาวค่อนข้างกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ราวเดือนธันวาคม-มีนาคม เป็นช่วงเวลาที่ทองกวาวออกดอก และเวลาออกดอกนั้นจะผลัดใบทั้งต้น

ทองกวาวเป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนหรือดินปนทราย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง แสงแดดจัด ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพอสมควร ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

ประโยชน์ของทองกวาวมีมากมาย ในบางท้องที่ใช้เนื้อไม้ทำกระดานกรุบ่อน้ำหรือทำเรือขุด หรือเรือโปงใช้ชั่วคราว ใช้กั้นบ่อน้ำ ร่องน้ำ และทำกังหันน้ำ เพราะเนื้อไม้เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบา และหดตัวมาก เส้นใยจากเปลือกใช้ทำเชือก ส่วนดอกสีแดงหรือสีแสดใช้ย้อมผ้า ใบสดใช้ห่อของ ใช้ตากมะม่วงกวน ในอินเดียได้นำใบมาปั้นเป็นถ้วยใส่อาหารและขนมแทนพลาสติก



สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพร ได้แก่

ยางใช้รับประทานแก้ท้องร่วง เลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขับพยาธิ

ใบใช้ตำพอกแก้ฝีและสิว ถอนพิษ แก้ปวด แก้ท้องขึ้น แก้ริดสีดวง ขับพยาธิ

ดอกรับประทานถอนพิษได้ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ลดความกำหนัด ขับพยาธิ ใช้หยอดตาแก้ตาแดง ปวดเคืองตา ตาแฉะ ตามัว

เมล็ดบดให้ละเอียดผสมน้ำมะนาวใช้ทาแก้ผิวหนังเป็นผื่นแดง อักเสบ คันและแสบร้อน (ข้อควรระวัง พบสารในเมล็ดออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน มีผลเสียต่อสตรีที่กำลังตั้งครรภ์)

แก่นทาแก้ปวดฟัน

รากประคบบริเวณที่เป็นตะคริว ขับพยาธิ

ในประเทศอินเดียเรียกต้นทองกวาวว่า “Kamarkas” มีความหมายว่า กล้ามเนื้อหลังที่แข็งแรงและยืดหยุ่น เพราะสมัยก่อนผู้หญิงอินเดียทั่วไปมักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดบุตร จึงได้ใช้สรรพคุณทางยาของทองกวาวเป็นยาบำรุงร่างกายโดยเฉพาะกระดูกเชิงกรานและกล้ามเนื้อหลัง นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้งการกลับมามีรูปร่างดังเดิมหลังคลอด รวมทั้งนำมาใช้ในการบำรุงรักษาผิวพรรณ เพื่อเพิ่มความงาม

คนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ จะทำให้มีทองมากเพราะชื่อทองกวาวเป็นมงคลนาม นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยงามเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ยิ่งถ้าผู้ปลูกเป็นผู้ที่ประกอบแต่คุณงามความดีแล้วละก็นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยยิ่งนัก ปัจจุบัน ทองกวาวเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดเชียงใหม่


 
Credit: ธรรมจักรดอทเน็ต
#ต้นทองกวาว
tanggua
ช่างเทคนิค
9 พ.ค. 53 เวลา 18:58 1,386 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...