เปิดประวัติ ‘พระยาอุปกิตศิลปสาร‘ อาจารย์ใหญ่คนแรกของเมืองไทย
จากกรณีที่ชาวสังคมออนไลน์ได้แชร์คลิปโฆษณา อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ให้… โดยตอนสุดท้ายของโฆษณาได้ยกวาทะอมตะของ พระยาอุปกิตศิลปสาร สร้างความประทับใจให้คนบนโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก
ในโอกาสนี้ MThai ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับชีวประวัติของ พระยาอุปกิตศิลปสาร ครูผู้เขียนตำราภาษาไทยและเป็นอาจารย์ใหญ่อุทิศร่างกายให้กับการศึกษาทางการแพทย์คนแรกของเมืองไทย
อำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เกิดวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย โดยท่านได้รับความรู้เบื้องต้นมาจากการเรียนที่วัดบางประทุนนอก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และต่อมาได้บวชเรียนที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร จนสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมา นายนิ่มได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูฝึกสอน ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สายสวลี
ต่อมาได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ วัดมหาธาตุ และ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา นอกจากเป็นครูแล้ว พระยาอุปกิตศิลปสารยังเคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการพนักงานกรมราชบัณฑิต หัวหน้าการพิมพ์แบบเรียน หัวหน้าแผนกอภิธานสยาม ปลัดกรมตำราและอาจารย์ประจำกรมศึกษาธิการ โดยได้แต่งตำราเรียนภาษาไทย4เล่ม ร้อยเรียงกันได้แก่ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และ ฉันทลักษณ์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มการใช้คำว่า “สวัสดี” สำหรับทักทาย โดยได้ปรับเสียงของคำว่า สวสฺติ จากคำสระเสียงสั้น (รัสสระ) ซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะรื่นหูกว่า จึงเป็น สวัสดี จนจอมพลป.พิบูลสงคราม ประกาศเป็นคำทักทายประจำชาติไทย
จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระยาอุปกิตศิลปสาร ถึงแก่อนิจกรรมและได้บริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ โดยอมตะวาทะของท่านที่ว่า “ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป” กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ไทยอย่างมหาศาล
MThai News