ในปี พ.ศ. 2486 โฮวาร์ด คาร์เตอร์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้เปิดหีบบรรจุพระศพฟาโรห์ตุตันคามุน(Tutankhamun) ฟาโรห์ของราชวงศ์ที่ 18 แห่งอียิปต์ ขึ้นครองราชย์เมื่อ 790 ปีก่อนพุทธกาล ด้วยชันษา 9 ปี สวรรคตเมื่อชันษา 18 ปี เป็นฟาโรห์ที่ไม่มีบทบาทเป็นที่รู้จักนัก
แต่โด่งดังเพราะสุสานของพระองค์ที่ถูกค้นพบมีทรัพย์สมบัติที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์มากมาย ) ซึ่งสุสานของกษัตริย์หนุ่มถูกขุดพบเมื่อสามปีก่อนหน้านี้ ด๊อกเตอร์ ดักกลาส เดอร์รี่ ทำการชันสูตรซากศพโบราณอย่างหยาบๆ แต่ซากศพก็ไม่อยู่ในสภาพที่ดีนัก ซากศพมัมมี่ถูกปิดผนึกด้วยยางไม้ ซึ่งแข็งตัวหลังจากเวลาผ่านไปกว่า 3,300 ปี ต่อมาในปี 2512 อาร์.จี. แฮริสันและคณะชาวอังกฤษได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องเอกซเรย์ซากมัมมี่
พวกเขามองเห็นในสิ่งที่เดอร์รี่มองไม่เห็น กล่าวคือ กระดูกลิ้นปี่ และกระดูกซี่โครงของมัมมี่สูญหายไปทั้งหมด บางทีอาจถูกนำออกไประหว่างกรรมวิธีการดองศพ แต่เพื่ออะไร นอกจากนี้ภาพเอกซเรย์กะโหลกศีรษะยังแสดงให้เห็นว่า มีเศษกระดูกเล็กๆ สองชิ้นลอยอยู่ในผลึกยางไม้ที่ถูกเทใส่ช่องโพรงสมอง มันมีความหมายอย่างไร
ในปี 2545 ท็อด เกรย์ หัวหน้าแผนกนิติเวชของเมืองซอลท์ เลค ให้ความสนใจภาพเอกซเรย์ของแฮริสันและคณะ เขาผ่านภาพกะโหลกศีรษะที่ได้รับอันตรายหลายรูปแบบ ในกรณีที่บุคคลล้มลงกับพื้น สมองจะกระแทกเข้ากับบริเวณใดบริเวณหนึ่งของกะโหลก ด้วยแรงกระแทกในลักษณะนี้บริเวณที่มีชิ้นกระดูกบอบบางอาจโยกคลอนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนจมูกและกระบอกตา
เกรย์สันนิษฐานว่า มีความเป็นไปได้ที่กรรมวิธีในการนำเนื้อสมองออกจากกะโหลกแล้วใส่ของเหลวที่ใช้ในการดองเข้าไปแทนที่อาจทำให้กระดูกชิ้นที่โยกคลอนอยู่แล้วเคลื่อนลึกเข้าไปในโพรงสมอง เขาสรุปว่าฟาโรห์ตุตันคามุนอาจถูกสังหารด้วยการตีเข้าที่ศีรษะ
แล้วกระดูกซี่โครงที่สูญหายไป จะมีคำอธิบายอย่างไร การสังหารด้วยวิธีการใดจึงทำให้กระดูกซี่โครงแตกหักจนต้องนำออกไปทั้งหมดระหว่างพิธีชำระล้างทำความสะอาดศพ หรือจะเป็นการตกจากที่สูง หรือระหว่างการล่าสัตว์อาจพลัดตกจากรถเทียมม้า อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่เศษกระดูกภายในโพรงสมองอาจเกิดขึ้นระหว่างกรรมวิธีในการดองศพ หรือเป็นเพราะกรรมวิธีการชันสูตรของเดอร์รี่ในปี 2486
ปมฆาตกรรมฟาโรห์ตุตันคามุน คือ ตัวอย่างหนึ่งของความคลุมเครือและการคาดเดาทางโบราณคดี เนื่องจากหลักฐานจำนวนมากขาดหายไป เครื่องสแกนเนอร์รังสีเอ็กซ์บอกเราได้เพียงข้อมูลปัจจุบันของโบราณวัตถุในช่วงเวลาที่ทำการสแกนเท่านั้น แต่สาเหตุที่มาของการปรากฏหรือการดำรงอยู่เช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสืบสวน
ภาพเอกซเรย์ศีรษะมัมมี่ฟาโรห์ตุตันคามุนโดย อาร์.จี. แฮริสันและคณะในปี 2512 ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่า ฟาโรห์หนุ่มอาจจะเสียชีวิตจากอาการโลหิตออกในสมอง ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกตีศีรษะอย่างแรงด้วยวัตถุที่หนาทื่อ ต่อมาในปี 2545 ได้เกิดข้อโต้แย้งขึ้นและยังคงหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้