เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นกับ เครื่องบิน จากเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียที่หายสาบสูญไป และยังคงเป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครแก้ได้ เฉกเช่นกับเหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้ บางทีหาการย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีต เราอาจจะพบสาเหตุเข้าก็เป็นได้
Air Force Flight 571
เครื่องบิน เช่าเหมาลำอุรุกวัยแอร์ฟอร์ซ นำผู้โดยสาร 45 ชีวิตรวมนักบิน และทีมรักบี้ของอุรุกวัย บินจากเมืองหลวงของอุรุกวัย มุ่งหน้าไปยังกรุงซานติอาโก ของชิลี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1972 แต่ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้องหยุดพักที่สนามบินนานาชาติเมนโดซ่า ในอาร์เจนตินา ก่อนออกเดินทางอีกครั้งในวันถัดมา โดยไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเป็นการเดินทางที่พาพวกเขาไปสู่หายนะที่คร่าชีวิตเพื่อนร่วมทางไปหลายสิบคน ส่วนผู้รอดชีวิตก็ต้องกินเนื้อจากร่างมนุษย์ด้วยกันเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง
เครื่องบิน ลำดังกล่าวเกิดเหตุขัดข้อง ประกอบกับสภาพอากาศเลวร้าย จึงตกลงบนเทือกเขาแอนดีส ผู้โดยสาร 12 ราย เสียชีวิตทันทีจากเหตุเครื่องบินตก อีก 6 ราย เสียชีวิตในอีกไม่กี่วันถัดมา และยังมีอีก 8 ชีวิต ที่จบลงจากเหตุหิมะที่ถล่มลงมายังซากเครื่องบินซึ่งพวกเขาปักหลักยึดเป็นที่พักพิง
อีก 16 คน ที่เหลืออยู่รอดได้ด้วยการกินเนื้อจากร่างผู้โดยสารที่เสียชีวิตไปแล้วเพื่อประทังชีวิตตัวเอง กว่าทั้งหมดจะถูกค้นพบและได้รับความช่วยเหลือก็เป็นเวลาอีก 72 วันถัดมา เมื่อ 2 คนในกลุ่มที่รอดชีวิต ตัดสินใจออกเดินเท้าข้ามเขตเขา ใช้เวลาถึง 10 วัน จนกระทั่งได้พบกับเซลล์แมนนักเดินทางชาวชีลีที่ได้แบ่งปันน้ำและอาหารให้ พร้อมทั้งแจ้งขอความช่วยเหลือกู้ภัยเร่งด่วนไปยังทางการ
เรื่องราวหายนะของเที่ยวบิน 571 และการต่อสู้ของผู้รอดชีวิตทั้ง 16 คน กลายเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง Alive (1993)
Flight 19
ฝูงบิน 19 (Flight 19) คือชื่อเรียกฝูงบินทิ้งระเบิด ทีบีเอ็ม เอเวนเจอร์ 5 ลำ ของสหรัฐฯ ซึ่งหายไประหว่างการบินทดสอบ หลังบินออกจากฟอร์ท ลอเดอร์เดล ในฟลอริดา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1945 โดยการบินครั้งนี้นำโดยนักบินประสบการณ์สูง ชาร์ลส์ เทเลอร์
หลังเริ่มทดสอบการบินไปได้หนึ่งชั่วโมงครึ่ง นักบินได้รายงานกลับมายังศูนย์ว่าเกิดเหตุสภาวะการแปรปรวน ไม่สามารถระบุตำแหน่งพื้นที่เบื้องล่างได้ เทเลอร์บอกเจ้าหน้าที่ผ่านการสื่อสารทางวิทยุว่า เข็มทิศทั้งสองของเครื่องไม่สามารถทำงานได้ปกติ แม้ว่าทางศูนย์ทางภาคพื้นจะมีความพยายามในการช่วยระบุตำแหน่ง แต่ก็ไร้ผลเมื่อฝูงบินทั้ง 5 ก็ไม่สามารถจับทิศทางได้ ในที่สุด เครื่องบิน ทั้ง 5 ลำ พร้อมนักบิน 14 ชีวิต ก็ล้มเหลวในการลงสู่พื้นดิน และพุ่งดิ่งสู่ผืนน้ำเบื้องล่าง ไม่มีใครได้พบแม้แต่เศษซากอีกเลย
ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้น เครื่องบินค้นหาพีบีเอ็ม ของกองทัพเรือ พร้อมนักบินอีก 13 นาย ที่รับหน้าที่ค้นหาร่องรอยของฝูงบิน 19 ที่สูญหาย ก็กลับหายสาบสูญไปด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าคงมีจุดจบไม่ต่างไปกับฝูงบิน 19 นั่นเอง
BSAA star dust
เครื่องบิน สตาร์ดัสต์ ของสายการบินบริติช เซาธ์ อเมริกัน แอร์เวย์ส (BSAA) ภายใต้การบังคับของกัปตันเรจินัลด์ คุก นักบินผู้มีชื่อเสียง นำเครื่องออกจากกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อเวลา 13.46 นาฬิกา ของวันที่ 2 สิงหาคม 1947 บินข้ามเทือกเขาแอนดีส มุ่งหน้าไปยังกรุงซานติอาโก ประเทศชิลี แต่ก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง การติดต่อสุดท้ายของเครื่องบิน คือรหัสมอร์สปริศนา ใจความว่า “STENDEC”
มีความพยายามแกะความหมายของรหัสมอร์สดังกล่าวมาตลอดหลายสิบปีหลังเกิดเหตุการณ์ มีการคาดเดาถึงหลายสาเหตุที่ทำให้สตาร์ดัสต์บินไปพบจุดจบ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ฟังดูเหลวไหลอย่างการโจมตีจากมนุษย์ต่างดาว ไปจนถึงการก่อวินาศกรรมทางอากาศ การตั้งใจระเบิดเครื่องกลางอากาศเพื่อทำลายเอกสารทางการทูตที่ผู้โดยสารรายหนึ่งนำขึ้นเครื่องมา และการคาดการณ์ที่ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น อย่างเครื่องบินอาจบินเข้าสู่ช่วงเทือกเขาที่มีการเลื่อนไถลในแนวดิ่งของหิมะ ทำให้เครื่องบินตก และซากถูกหิมะฝังไว้มิด
BSAA star tiger
เป็นอีกครั้งที่เกิดความสูญเสียกับเครื่องบินของสายการบินบริติช เซาธ์ อเมริกัน แอร์เวย์ส (BSAA) ในคราวนี้คือ เครื่องบิน สตาร์ไทเกอร์ พร้อมผู้โดยสาร 25 ชีวิต โดยหนึ่งในนั้นคือฮีโร่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งของสหราชอาณาจักร พลอากาศโทเซอร์อาเธอร์ โคนิงแฮม ที่บินออกจากเกาะซานตามาเรีย ประเทศโปรตุเกส มุ่งสู่หมู่เกาะเบอร์มิวดา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1948 ท่ามกลางสภาพอากาศค่อนข้างเลวร้ายเนื่องจากลมพัดแรงจัด
สตาร์ไทเกอร์ออกบินพร้อมเชื้อเพลิงเหลือเฟือ บังคับเครื่องให้บินต่ำเพื่อเลี่ยงการต้านกระแสลม โดยบินตามเครื่องบินขนส่งแลงคาสเทรนออกมาไม่ทิ้งห่างกันนัก จากระยะทางที่น่าจะกินเวลาบินราว 12 ชั่วโมง เครื่องบินแลงคาสเทรนมาถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ แต่ปรากฏว่าสตาร์ไทเกอร์นั้นไม่มีใครได้พบเห็นอีกเลย
เป็นที่คาดการณ์ว่าการบินที่ระดับต่ำ ประกอบกับกระแสลมแรงจัด พัดให้สตาร์ไทเกอร์ร่วงสู่พื้นมหาสมุทรเบื้องล่าง หรืออาจเป็นการทำงานที่ขัดข้องของมาตรวัดระดับความสูง บวกกับความเหนื่อยล้าของนักบินจากชั่วโมงบินที่ยาวนาน ทำให้เกิดความผิดพลาดบังคับเครื่องสตาร์ไทเกอร์พุ่งลงสู่ผืนน้ำก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีทั้ง เครื่องบิน และผู้โดยสารในเที่ยวบินทั้งหมด ยังคงหายสาบสูญจนถึงปัจจุบัน
BSAA star Ariel
สตาร์แอเรียล นับเป็นเครื่องบินอีกลำของสายการบินบริติช เซาธ์ อเมริกัน แอร์เวย์ส (BSAA) ที่ต้องเผชิญชะตากรรมไม่คาดคิด จากไฟลท์ที่บินจากหมู่เกาะเบอร์มิวดามุ่งหน้าไปยังประเทศจาเมกา ในวันที่ 17 มกราคม 1949
สตาร์แอเรียล ออกบินอย่างราบรื่นสู่ท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง ไม่มีสัญญาณของหายนะใด ๆ ปรากฏมาก่อน กระทั่งเกิดเหตุขัดข้องด้านสัญญาณการติดต่อกับนักบิน และแล้วสตาร์แอเรียลก็ไม่อาจพาผู้โดยสาร 20 ชีวิตพร้อมนักบินอีกหนึ่งนาย ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ นอกจากนี้ยังน่าแปลกใจที่ความพยายามในการค้นหา เครื่องบิน ลำนี้ดำเนินไปเพียงไม่นาน ก็ยุติลงในวันที่ 25 มกราคม
การสรุปสาเหตุการหายไปของสตาร์แอเรียลยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ดอน เบนเนตต์ อดีตผู้อำนวยการของ BSAA ออกมาระบุว่า เหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งกับสตาร์ไทเกอร์ และสตาร์แอเรียล คือการจงใจก่อวินาศกรรมทางอากาศ ทั้งยังพาดพิงถึงนายคลีเมนต์ แอทท์ลี นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในตอนนั้น ว่าเป็นผู้ออกคำสั่งอย่างลับ ๆ ให้ยุติการค้นหา และการสืบสวนเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของเครื่องบินทั้งสองลำตัว
Flight 191
หากลองสังเกตดูจะพบว่าสายการบินหลาย ๆ แห่ง จะไม่ตั้งชื่อเที่ยวบินของตนว่า เที่ยวบิน 191 (Flight 191) ซึ่งปกติจะเป็นเที่ยวบินที่บินจากสนามบินนานาชาติโอแฮร์ ในชิคาโก ไปยังสนามบินนานาชาติลอสแอนเจลิส กันเท่าใดนัก สืบเนื่องมากจากหายนะหลาย ๆ ครั้งที่เคยเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมานี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับหมายเลขของเที่ยวบินดังกล่าว
หนึ่งในหายนะเที่ยวบิน 191 ที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินอเมริกา คือเที่ยวบิน 191 ของสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1979 ที่เครื่องบินตกหลังออกจากสนามบินโอแฮร์ได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น คร่าชีวิตผู้โดยสาร 258 ชีวิต และลูกเรืออีก 13 ชีวิต
นอกจากนี้ก็ยังมี เครื่องบินเจท X-15 เที่ยวบิน 191 ซึ่งขึ้นบินเป็นการบินทดสอบเครื่อง โดยนักบินไมเคิล เจ. อดัมส์ ออกตัวที่ทะเลสาบร้างเดลามาร์ ในรัฐเนวาดา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1967 แต่เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคหลังนำเครื่องขึ้นเพียงไม่กี่นาที ลงเอยด้วยการโหม่งโลก คร่าชีวิตนักบินในซากเครื่องบินไหม้พังยับเยิน และเหตุการณ์หวิดนำหลายชีวิตดิ่งสูญดับของเที่ยวบิน 191 สายการบินเจ็ตบลู แอร์เวย์ส ในปี 2012 ที่กัปตันผู้บังคับเครื่องเกิดอาการแพนิคกะทันหัน โชคดีที่ผู้โดยสารเข้าช่วยเขาระงับอาการได้ทันท่วงที จึงไม่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น
Did you know?
-โดยปกติจะใช้วิธีการคำนวณจากเชื้อเพลิงของแต่ละเครื่องว่าสามารถบินได้นานเท่าใด หากเลยพ้นกำหนดตามการคำนวณว่าเชื้อเพลิงประจำเครื่องจะสามารถบินได้ ก็จะถือว่าเครื่องบินลำดังกล่าวสูญหายแล้ว
-หลังเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน เป็นต้นมา ปัจจุบันทุกสายการบินมีระเบียบปฏิบัติเคร่งครัดในเรื่องการรักษาความปลอดภัย โดยประตูห้องนักบินจะออกแบบอย่างแข็งแกร่งและถูกตั้งรหัสล็อก เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายสามารถเข้าไปยังห้องนักบินได้
- การส่งสัญญาณ SOS ขอความช่วยเหลือ นักบินจะกระทำเมื่อ 1. เกิดความพยายามที่จะ HIJACK เครื่องบิน 2. ไม่สามารถติดต่อสื่อสาร 3. เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินบนเครื่อง ซึ่งอาจจะเกิดจากเครื่องขัดข้องและเสี่ยงอันตราย จนต้องขอร่อนลงฉุกเฉิน
- เครื่องยังชีพบนเครื่อง โดยเฉพาะอาหาร น่าจะช่วยยังชีพให้ผู้รอความช่วยเหลือได้นานประมาณ 5-7 วัน แต่ที่น่าห่วงคือ น้ำดื่ม ซึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 วัน
-เครื่องบิน โดยสาร โบอิ้ง 777 สำหรับเครื่องบินลำนี้ ถือได้ว่าเป็นเครื่องบินที่บริษัทโบอิ้ง นำสุดยอดเทคโนโลยีมารวมกันใส่ไว้ในเครื่อง และถือเป็นรุ่นยอดนิยม ที่สามารถขายได้ประมาณ 1,500 ลำทั่วโลก และที่สำคัญผลิตมาแล้ว 19 ปี ยังไม่เคยมีประวัติว่าเกิดอุบัติเหตุจนทำให้คนเสียชีวิต จนกระทั่งล่าสุด เมื่อปี 2013 ที่เครื่อง 777 ของ asiana ตก แล้วมีผู้โดยสารเสียชีวิต 3 ราย ที่ซานฟรานซิสโก เพราะฉะนั้นจึงเชื่อมั่นในคุณภาพความปลอดภัยของเครื่องบินลำนี้ได้แน่นอน
-เที่ยวบิน MH370 มีผู้โดยสารอยู่บนเครื่องทั้งหมด 239 คน โดยเป็นผู้โดยสาร 227 คน ลูกเรือ 12 คน ในจำนวนนี้มี 5 คน ที่เป็นเด็กอายุเพียง 5 ปี ขณะที่สัญชาติของผู้โดยสารเท่าที่ทราบจนถึงขณะนี้ เป็นชาวจีนและไต้หวัน 154 คน ชาวมาเลเซีย 38 คน ชาวอเมริกัน 3 คน และในจำนวนนี้ มีผู้โดยสาร 2 คน ใช้พาสปอร์ตที่ถูกขโมยมา
Bermuda Triangle
สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา (Bermuda Triangle) หรืออาจรู้จักกันในชื่อ สามเหลี่ยมปีศาจ (Devil’s Triangle) เป็นพื้นที่สมมุติทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งมีการอ้างว่าอากาศยานและเรือผิวน้ำจำนวนหนึ่งหายสาบสูญไปโดยหาสาเหตุมิได้ในบริเวณดังกล่าว วัฒนธรรมสมัยนิยมได้ให้เหตุผลของการหายสาบสูญว่าเป็นเรื่องของปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติหรือกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตนอกโลก หลักฐานซึ่งบันทึกไว้ได้ระบุว่า เหตุการณ์การหายสาบสูญของอากาศยานและเรือผิวน้ำส่วนใหญ่ได้รับรายงานอย่างไม่ถูกต้องหรือถูกเสริมแต่งโดยนักประพันธ์ในช่วงหลัง และหน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้กล่าวว่า จำนวนและธรรมชาติของการหายสาบสูญไปในพื้นที่ดังกล่าวก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการหายสาบสูญไปในมหาสมุทรส่วนอื่นๆ ของโลก
ขอบคุณเนื้อหาจาก