ทุกวันนี้การเกิด มะเร็งเต้านม มีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพฤติกรรมความเป็นอยู่เปลี่ยนไป บริโภคอาหารที่มีไขมันสูงขึ้น และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ผู้หญิงจึงมีทางเลือกมากมายที่จะป้องกันการเสียเต้าและรวมถึงการป้องกันโรคหัวใจด้วย ถ้ารู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและออกกำลังกายเสียบ้างตามข้อแนะนำต่อไปนี้
ดูแลน้ำหนักตัว อย่าอ้วน
น้ำหนักตัวที่วิ่งตามอายุในวัยผู้ใหญ่มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนกับกับความเสี่ยงการเกิด มะเร็งเต้านม ในวัยหมดประจำเดือน ยิ่งอ้วนเท่าไร ความเสี่ยงก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
บริเวณที่ไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสามารถบ่งชี้ความเสี่ยงของ มะเร็งเต้านม ได้ หญิงที่มีรูปร่างแบบลูกแอ๊ปเปิ้ล คืออ้วนลงพุง จะมีไขมันสะสมในส่วนหน้าท้องมาก จึงมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น และเรียกร้องให้ มะเร็งเต้านม มาเยือน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีรูปร่างแบบนี้มีความเสี่ยง มะเร็งเต้านม มากกว่าหญิงที่อ้วนแบบรูปชมพู่หรือลูกแพร์ ถึง 43 เปอร์เซ็นต์
เลือกชนิดไขมัน
โดยทั่วไปนักวิจัยเชื่อว่าอาหารไขมันจะเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยกระตุ้นให้เกิด มะเร็งเต้านม ได้
แต่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว มีองค์ประกอบอื่นที่เพิ่มความเสี่ยง มะเร็งเต้านม เช่น อาหารเนื้อแดงที่ปรุงสุกโดยใช้ความร้อนสูงๆ โดยเฉพาะวีธีการปิ้งย่างจะมีสารก่อมะเร็งเกิดขึ้น ซึ่งกระตุ้นการเจริญของ มะเร็งเต้านม ในสัตว์ทดลอง และผลิตภัณฑ์นมไขมันสูงมีฮอร์โมนที่ละลายในไขมันหรือสารเร่งการเจริญการเติบโตที่อาจก่อมะเร็ง
กินอาหารพืชถนอมเต้า
ผักผลไม้ประกอบด้วยสารพฤกษเคมี สารต้านอนุมูลอิสระ เบต้าแคโรทีน และวิตามินซีสูง ซึ่งวิตามินทั้งสองเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ ช่วยป้องกันมะเร็งโดยการลดอนุมูลอิสระ ทำให้ดีเอ็นเอ (DNA) ไม่ถูกทำลาย
ผักที่มีสีส้ม สีเขียวจัด และผักตระกลูครูซิเฟอรัส (กะหล่ำปลี บร็อคเคอลี ดอกกะหล่ำ คะน้า กวางตุ้ง และแขนงผัก) ให้ผลในการป้องกัน มะเร็งเต้านม มาก
กินถั่วเหลืองพอประมาณ
ถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวนส์ หรือฮอร์โมนพืช ซึ่งเป็นพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์น้อยกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนของคน ก่อนหน้านี้พบว่าให้ผลมากที่สุดในการต่อต้าน มะเร็งเต้านม นักวิจัยเชื่อว่าฮอร์โมนพืชสามารถจับกับตัวรับของฮอร์โมนเอสโตรเจน ยับยั้งเอสโตรเจนเข้าไปในเซลล์เต้านม ซึ่งอาจจะกระตุ้นการเจริญของเซลมะเร็ง งานวิจัยเพื่อดูผลของไอโซฟลาโวนส์ต่อการเกิด มะเร็งเต้านม พบผลที่ไม่แน่นอนจากผลิตภัณฑ์เสริมไอโซฟลาโวนส์มากกว่าจากอาหารถั่วเหลือง บางงานวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมไอโซฟลาโวนส์อาจกระตุ้นเซลมะเร็ง โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีประวัติการเป็น มะเร็งเต้านม มาก่อน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยถั่วเหลืองและโรคมะเร็งจึงแนะว่า สำหรับผู้หญิงที่ไม่มีความเสี่ยง มะเร็งเต้านม การบริโภคถั่วเหลืองไม่เกินวันละ 2 ที่เสิร์ฟ ปลอดภัยไม่กระตุ้นเซลล์มะเร็ง แต่หญิงที่มีความเสี่ยงสูงควรบริโภคถั่วเหลืองไม่เกินสัปดาห์ละ 2-3 ที่เสิร์ฟ และงดการเสริมสารไอโซฟลาโวนส์ซึ่งมีปริมาณมากกว่าในถั่วเหลืองหลายเท่า
ระวังแอลกอฮอล์ทำลายเต้า
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยง มะเร็งเต้านม สำหรับผู้หญิงที่ดื่มเฉลี่ยวันละดริ๊งค์มีความเสี่ยงน้อย ในขณะที่การดื่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังมีผลเสียกับสุขภาพของหญิงที่กำลังย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอีกด้วย นั่นก็คือทำให้กระดูกบาง สำหรับผู้ที่นานๆดื่มทียังไม่ค่อยมีผลต่อ มะเร็งเต้านม นัก
ปริมาณแอลกอฮอล์ 1 ดริ๊งค์มาตรฐานคือ เบียร์ 1 กระป๋อง หรือ 1 แก้ว ขนาด 360 ซี.ซี.หรือไวน์ 1 แก้ว 150 ซี.ซี. หรือวิสกี้ 45 ซี.ซี.
และสำหรับผู้ที่ดื่มสม่ำเสมอ ควรจะรับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูงๆ (ผักในเขียว น้ำส้มคั้น ถั่วต่างๆ วิตามินเสริม) จะช่วยลดความเสี่ยงจากผลของแอลกอฮอล์ ปริมาณโฟเลตที่ให้ผลในการป้องกันมากที่สุดคือ วันละ 600 ไมโครกรัม
หมั่นออกกำลังกายถนอมเต้า
งานวิจัยรายงานไว้ว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอลดความเสี่ยง มะเร็งเต้านม ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และความแรงของการออกกำลังกายมีผลมากกว่าระยะเวลาการออกกำลังกาย และการออกกำลังกายจะให้ผลมากที่สุดในคนที่ไม่อ้วน
ข้อสรุปในการป้องกันมะร้งเต้านม ณ ขณะนี้คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้นทั้งการเลือกบริโภค และการออกกำลังกาย ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรก็รับผลประโยชน์เร็วเท่านั้น เพราะนอกจากจะป้องกันโรคมะเร็งแล้วยังช่วยป้องกันโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดและความดัน โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน และสารพัดโรคอีกมากมายเมื่อวัยมากขึ้น
ขอบคุณที่มาจาก : Health&Cuisine มกราคม, Issue 48