มองคำขวัญ’วันเด็กแห่งชาติ‘ ผ่านยุคสมัยทางการเมือง จากอดีตถึงปัจจุบัน
เป็นธรรมเนียมทุกปีที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลบริหารประเทศจะเป็นผู้มอบ คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่วันเด็กแห่งชาติครั้งที่ 1 จัดขึ้นวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ตรงกับยุคสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยในตอนนั้นกำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมเป็นวันเด็กแห่งชาติซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มอบคำขวัญวันเด็กแห่งชาติครั้งแรก ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” ซึ่งสอดคล้องนโยบายรัฐนิยมของท่านผู้นำที่มุ่งหวังให้คนไทยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมและชาติเป็นสำคัญ
พอหมดยุครัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2502-พ.ศ.2506 กินเวลายาวนาน5ปี คำขวัญวันเด็กในสมัยของจอมพลผ้าขาวม้าแดงนี้มีเอกลักษณ์ไปในแบบของยุคทหารปฏิวัติ โดยมีคำขึ้นต้นเหมือนกันคือ “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่….” สะท้อนแนวคิดรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเด่นชัดที่สุด
พ.ศ. 2502 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. 2503 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. 2504 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. 2505 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. 2506 ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2507 ได้มีการงดจัดงานวันเด็กแห่งชาติและเปลี่ยนการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเป็นวันเสาร์ที่2 ของเดือนมกราคม และถูกจัดขึ้นในปีต่อมาในยุครัฐบาลเผด็จการของจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานกว่า 9 ปี [พ.ศ.2508-2516] ถึงแม้ว่ารัฐบาลของจอมพลถนอมจะเป็นเผด็จการทหารไม่ต่างจากยุคจอมพลสฤษดิ์ แต่จะเห็นได้ว่าคำขวัญวันเด็กในยุคนี้ดูจะสะท้อนระบอบการเมืองน้อยลงและมุ่งไปที่การให้เด็กไทยมีความเพียรพยายาม การฝึกตนเพื่อเป็นเด็กฉลาด เป็นเด็กผู้มีการศึกษา โดยคำขวัญที่จำขึ้นใจคนไทยหลายคนคือ คำขวัญวันเด็กปีพ.ศ.2516 ที่ว่า “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ”
จากนั้นเรื่อยมาก็ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลมาเรื่อยๆ ป 2 – 3 เปลี่ยนครั้ง จนกระทั่งมาสู่ยุคของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี 8ปี ที่คำขวัญวันเด็กของป๋าเปรมนี้มุ่งเน้นให้เด็กไทยเป็นผู้มีวินัย ที่สำคัญคือ มีเรื่องของความประหยัดและนิยมความเป็นไทย ดังคำขวัญปี พ.ศ.2530 “นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม”
วันเด็กถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาถึงช่วงของพตท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรียาวนาน5ปี มีคำขวัญวันเด็กทื่เก๋ไก๋ ทันสมัย ให้เด็กได้เล่นอย่างมีความรู้และเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี เช่น เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส,เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี ซึ่งคำขวัญของอดีตนายกฯทักษิณ ก็คล้ายน.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว ที่มุ่งหวังให้เด็กเรียนรู้เทคโนโลยีเช่นเดียวกัน [สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี(วันเด็ก:2556)] สุดทายในช่วงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ที่ให้คำขวัญง่ายๆ สั้นว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต”
ข้อสังเกตคือ คำขวัญวันเด็กส่วนใหญ่จะยึดเรื่องความรู้เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยความมีวินัย คุณธรรม และค่านิยมทางสังคมที่ดี แต่ไม่ได้มุ่งหวังให้เด็กไทยกล้าคิด กล้าทำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอดองค์ความคิดของเด็กได้มากที่สุด โดยในคำขวัญที่พูดถึงการแสดงออกทางความคิดของเด็กไทยในคำขวัญวันเด็กแห่งชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีเพียงคำขวัญเดียวของพตท.ทักษิณ ที่ว่า เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
อย่างไรก็ตามในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่หลายๆอย่าง ความคิดความอ่านของเด็กสมัยนี้กับยุคก่อนนั้นไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง อิสระทางความคิดของเด็กมีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย คำขวัญวันเด็กจึงไม่ควรแต่สะท้อนเรื่องของค่านิยมแบบเดิมๆ แต่ควรจะก้าวไปพร้อมกับวัยของเด็กที่กำลังหมุนตามโลกยุคที่คนรุ่นเราเรียกว่ายุคโลกาภิวัฒน์ด้วย
ขอบคุณภาพจาก www.su-usedbook.com
BY Nookkill