เป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต เมื่อเจ้าชายแฮร์รี พระนัดดา
ในสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ตก
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในยุโรปด้วยเหตุที่ทรงสวมเสื้อที่มีเครื่องหมาย “สวัสดิกะ” อันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีแห่งเยอรมนี ไปร่วมงานเลี้ยง ขณะที่ความโหดร้ายของ นาซี ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพราะความไม่เหมาะสมดังกล่าว ตัวเครื่องหมายสวัสดิกะก็ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน จนถึงขั้นที่นักการเมืองชาวเยอรมันออกมาเรียกร้องให้มีการห้ามใช้เครื่องหมายนี้ ในทุกประเทศทั่วยุโรปซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์อันเลวร้ายสืบเนื่องจากนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง....
สำหรับคนรุ่นหลังสงคราม เครื่องหมายกากบาทที่มีปลายหัก 90องศานี้ เห็นแล้วก็นึกถึงพรรคนาซีโดยทันที แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแท้จริงเครื่องหมายสวัสดิกะ เป็นเครื่องหมายแห่งมงคลที่ปรากฏอยู่ ในประวัติศาสตร์มายาวนานแล้ว....
“สวัสดิกะ” เป็นคำเรียกเครื่องหมายกากบาทที่มีปลายหัก 90 องศา ไม่ว่าจะเวียนไปด้านขวา หรือด้านซ้าย ทั้งที่ขนานแนวนอน หรือเอียง 45 องศา คำนี้มีรากศัพท์จากภาษาสันสกฤต ว่า “สุ” แปลว่า ดี ร่วมกับคำว่า “
อัสติ” แปลว่า มี และ “กะ” ต่อท้ายคำ หมายถึง อาคม แปลตรงตัว จึงอาจเรียกได้ว่า สวัสดิกะ เป็นเครื่องหมายแห่งความโชคดีหรือเครื่องราง วัตถุมงคล
เครื่องหมายนี้มีปรากฏในศิลปะและการออกแบบ มา
ในหลายยุคหลายสมัย พบเห็นได้วัตถุหรือสิ่งปลูกสร้างตามศาสนาฮินดูศาสนาพุทธ ศาสนาเชน รวมทั้งวัฒนธรรมเอเชีย ยุโรป และอเมริกันพื้นเมือง บางวัฒนธรรมใช้สวัสดิกะเป็นสัญลักษณ์เชิงเรขาคณิตขณะที่หลายพื้นที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม ความหมายของสวัสดิกะถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีในเยอรมนี และตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ก็มองว่า สัญลักษณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการ นำไปสู่
ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับความหมายของสวัสดิกะ ในวัฒนธรรมอื่นๆด้วย
สัญลักษณ์แห่งความโชคดี
ลวดลายแบบสวัสดิกะ ปรากฏให้เห็นทั่วไป ใสถาปัตยกรรมแบบฮินดูและสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั่วชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็นลวดลายบนกระเบื้องปูพื้น ลวดลายติดผนังห้อง และงานศิลปะอื่นๆ ในยุคโบราณ เช่นเดียวกับในศิลปะจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งสวัสดิกะถูกใช้สร้าง เป็นลวดลายต่างๆ โดยเฉพาะลาย “ซะยะกะตะ”ซึ่งนำเครื่องหมายสวัสดิกะที่เวียนไปด้านซ้ายและขวา มาเชื่อมต่อกันด้วยเส้นตรง
ถ้าเป็นชาวฮินดูในอ่าวเบงกอล คำว่าสวัสดิกะจะใช้เรียกสัญลักษณ์แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะหมายความตรงกันคือหมายถึงวัตถุมงคล
ขณะที่เครื่องหมายสวัสดิกะที่ปรากฏในโลกตะวันตก มักเป็นลวดลายประดับประดา ที่ไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจงนอกจากนี้ ยังมีสวัสดิกะให้เห็นมาก ตามวัดพุทธในเกาหลี ทั้งนี้สวัสดิกะตามแบบศาสนาพุทธจะขนานแนวนอน และมีทั้งที่เวียนไปด้านซ้ายและขวา
แต่เมื่อเครื่องหมายสวัสดิกะเวียนขวาถูกนำมาเชื่อมโยงกับพรรคนาซีสัญลักษณ์ที่ใช้กันทั่วไปในศาสนาพุทธ จึงหันมาใช้สวัสดิกะหมุนซ้ายทั้งหมด ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
ปัจจุบันเรายังเห็นสวัสดิกะรูปแบบดังกล่าวได้
ตามบรรจุภัณฑ์ของอาหารที่ผลิตในประเทศจีน เพื่อ
เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นอาหารมังสวิรัติ นอกจากนี้ยังมีการเย็บสวัสดิกะเข้ากับคอเสื้อของเสื้อผ้าเด็กในจีนเพื่อปกป้องพวกเขาจากวิญญาณร้าย
ความหมายที่แปรเปลี่ยน
พรรคนาซีนำสวัสดิกะไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของพรรคอย่างเป็นทางการในปี 1920 และบทบาทของพรรคภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำให้ความหมายของสวัสดิกะ เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ และมีอิทธิพลต่อการใช้สัญลักษณ์นี้อย่างแพร่หลาย
ทางการอันตาริโอ ประเทศแคนาดา พยายามเปลี่ยนชื่อเมืองเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อ “สวัสดิกะ” มาตั้งแต่ปี 1906โดยชื่อเมืองนี้ถูกตั้งชื่อตามบริษัทเหมืองแร่ที่ขุดพบทองในพื้นที่และชาวเมืองก็ยืนยันจะใช้ชื่อดังกล่าวต่อไป
ด้าน รัดยาร์ด คิปลิง นักเขียนอังกฤษชื่อดัง ซึ่งได้รัอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียเป็นอย่างมากยกเลิกการพิมพ์เครื่องหมายสวัสดิกะลงบนปกหนังสือทุกเล่มของเขา
เนื่องจากสัญลักษณ์นี้สะท้อนความหมายที่ไม่เหมาะสม
แม้แต่ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แถบตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาและเคยใช้เครื่องหมายสวัสดิกะซึ่งมีความหมายแทนมิตรภาพเป็นลวดลายตกแต่งในของที่ระลึกต่างๆ ของพวกเขา ก็ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า จะไม่ใช้เครื่องหมายนี้ในงานศิลปะแล้ว เนื่องจากสวัสดิกะกลายเป็นสิ่งแสดงถึงความชั่วร้าย
บริษัทในญี่ปุ่น เลิกพิมพ์เครื่องหมายสวัสดิกะ หรือ “มันจิ” อันเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนามาแต่โบราณลงบนการ์ดการ์ตูนโปเกมอนที่ผลิต เพราะถูกบ่นมาจากลูกค้าตะวักตกว่า สัญลักษณ์นี้ชวนให้นึกถึงนาซี แม้ว่าปัจจุบันยังมีการใช้สวัสดิกะแนวนอนที่เวียนซ้าย เพื่อแสดงตำแหน่งของวัดในผังเมืองก็ตามที
สัญลักษณ์ของ ลัทธิราเอลเลียน ซึ่งผสมผสานดวงดาวแห่งเดวิดเข้ากับเครื่องหมายสวัสดิกะ ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้ทางกลุ่มต้องเปลี่ยนสัญลักษณ์เสียใหม่ในปี 1991 แทนสัญลักษณ์ที่ใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970
ที่มา http://www.myfirstbrain.com/main_view.aspx?ID=29482