ตามพระราชพงศาวดารราชวงศ์ซ่งระบุว่า เปาบุ้นจิ้นมีแซ่เปา ชื่อจริงคือ “เปาจิ้น” หมายถึงการ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ส่วนคำว่า เปาบุ้นจิ้น ที่คนไทย เรียกกันนั้น เป็นคำในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว เพราะคนจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก
เปาบุ้นจิ้น เป็นทายาทรุ่นที่ 35 ของเซินเปาซูที่เป็นวีรชนร่วมยุคกับไซซี มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 999-1062 ท่านเกิดในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือในรัชสมัยของพระเจ้าซ่ง – เหญินจง วันที่ 13 เดือน 3 พุทธศักราช 1542 ที่อำเภอหลูโจว เมืองเหอเฝยในมณฑลอันฮุย ท่านมาเกิดเป็นลูกชายของเปาเบ๊ะบ้วน และนางหลีสีอันหยิน ท่านมีพี่ชายสองคน คือเปาบุ้นกุ้ย และ เปาบุ้นลุ้ย เมื่อเปาบุ้นจิ้นเกิดมาท่านมีหน้าดำมืดมาก พร้อมกับแผลเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวกลางหน้าผาก พอเพื่อนบ้านเรือนเคียงพากันมาเยี่ยม และเห็นทารกหน้าดำปี๋ ต่างตกใจกลัวไปตามๆ กัน และนึกรังเกียจว่าอัปลักษณ์ และเชื่อว่าทารกนี้อาจจะเป็นปีศาจมาเกิด จึงมีหน้าตาผิดมนุษย์มนาเช่นนี้ ชาวบ้านก็โจษขานกันว่าปีศาจมาเกิด ทำให้เปาเบ๊ะบ้วนบิดาของท่านเปาบุ้นจิ้นใจคอไม่ดี พลอยนึกไปในทางอกุศลแก่ลูกของตนตามที่ชาวบ้านโจษขานว่าลูกคนนี้คงเป็นปีศาจมาเกิด หากเลี้ยงไว้จะเป็นเสนียดจัญไรแก่บ้าน เขาจึงได้ปรึกษากับหลีสีอันหยินผู้เป็นภรรยา และเห็นพ้องกันว่าจะเอาลูกที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่นานนี้ไปทิ้งไว้ในป่า หากเอาไว้ในบ้านจะนำความพินาศมาสู่วงศ์ตระกูล
ในขณะที่พ่อแม่ของท่านเปาบุ้นจิ้นกำลังปรึกษากัน นางหลิวสีสะใภ้คนโตผู้มีสติปัญญา ซึ่งนั่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่นั้นได้ยินเข้า จึงขอร้องให้พ่อแม่ของเปาบุ้นจิ้นอย่าได้ทำเช่นนั้น แล้วนางจะเป็นผู้รับเลี้ยงไว้เอง ถ้ามีภัยอันตรายเกิดขึ้นก็จะขอรับผิดชอบเอง เนื่องจากนางเชื่อว่าเด็กคนนี้เมื่อโตขึ้นจะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามาก นางหลิวสีรับทารกนั้นไปเลี้ยงไว้ แล้วให้ตั้งชื่อว่า เปาบุ้นจิ้น โชคดีที่ถึงแม้ว่าพ่อแม่ของท่านเปาบุ้นจิ้นจะรังเกียจเดียดฉันท์อย่างไร แต่พี่ชาย ทั้งสอง พร้อมพี่สะใภ้ทั้งสองให้ความเมตตามาก
ในวัยเด็กท่านไม่ค่อยเล่นหัวอย่างเด็กทั่วไป ท่านเป็นคนที่เคร่งขรึมจริงจังมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโต เป็นผู้ใหญ่ก็มิค่อยยิ้มหรือหัวเราะให้ใครเห็น คือเป็น คนยิ้มยากทำให้คนเรียกขานท่านว่า “เถี่ยเมี่ยนอู๋ฉิง” แปลว่า “หน้าเหล็กไม่เห็นแก่หน้าใคร”
มีประวัติเล่าว่าท่านเปารับราชการเป็นเวลา 45 ปี ในฝ่ายบริหาร เริ่มตั้งแต่นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน เจ้าเมืองไคฟง เสนาบดีการคลัง เป็นต้น ประวัติของเปาบุ้นจิ้นส่วนใหญ่ เน้นที่การตัดสินความ แม้ว่าความจริงแล้ว เปาบุ้นจิ้นไม่ได้มีอาชีพเป็นตุลาการก็ตาม ความเด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจ ทำให้ผู้คนพากันยกย่อง และคอยร้องทุกข์ต่อเปาบุ้นจิ้นเสมอ
เปาบุ้นจิ้นมีหลักในการบริหารว่า “จิตใจสะอาด บริสุทธิ์ คือหลักแก้ไขปัญหามูลฐาน ความเที่ยงตรง เป็นหลักในการดำเนินชีวิต จงจดจำบทเรียนในประวัติ ศาสตร์ไว้ อย่าให้คนรุ่นหลังเย้ยหยันได้” และนอกเหนือจากการตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เปากงผู้นี้ ก็ยังมีชื่อเสียงในฐานะข้าราชการตงฉิน ไม่เคยรับ สินบนใดๆ แม้จะเป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
ช่วงวัยเยาว์ท่านเปาบุ้นจิ้นเป็นคนขยันขันแข็ง ร่ำเรียนหนังสืออย่างตั้งใจ และคุณธรรมเด่นที่ท่านมี นอกจากจะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ท่านยังมีความกตัญญูเป็นเลิศ เมื่อท่านเปาบุ้นจิ้นมีอายุได้ 29 ปี จึงสอบจอหงวนได้ในระดับจิ้นซื่อ ซึ่งเป็นตำแหน่งบัณฑิตสูงสุดในสมัยนั้น เทียบเท่ากับปริญญาเอกในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานช่อดอกไม้ทองเสียบหมวกจาก เหยินจงฮ่องเต้ ท่านรับราชการอยู่ได้เพียง 1 ปีก็ลาออก
เพราะท่านต้องรับคำสั่งให้ไปรับราชการประจำที่เมืองต้าหลี่ อำเภอเจี้ยนชาง หรืออำเภอหย่งซิว มณฑลเจียงซีในปัจจุบัน เนื่องจากบิดามารดาของท่านแก่ชรามากแล้วจึงไม่สามารถร่วมเดินทางกับท่านไปยังเมืองที่ท่านรับตำแหน่งได้ ท่านเปาบุ้นจิ้นจึงตัดสินใจไม่ไปรับราชการ และอยู่ปรนนิบัติจนกระทั่งบิดาและมารดาทั้งสองเสียชีวิต ระยะเวลาที่ท่านต้องออกจากราชการในคราวนี้ราว 10 ปี โดยใช้เวลาดูแลบิดามารดา 5 ปี เมื่อบิดามารดาสิ้นท่านก็ไว้ทุกข์ตามประเพณีจนครบ 3 ปี และยังเฝ้าฮวงซุ้ยอีก 2 ปี ก่อนที่ท่านจะกลับไปรับราชการต่อ เพราะผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลมาขอร้อง
แม้ท่านจะห่างหายจากวงศ์ราชการไปนาน แต่ท่านก็ก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว เพราะความที่ท่านเป็นคนที่มีความสามารถและมี ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง จนได้เป็นรองอัครมหาเสนาบดี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบการปฏิบัติราชการของขุนนางทั้งแผ่นดิน รวมไปถึงการตรวจสอบแม้กระทั่งตัวอัครมหาเสนาบดีว่าปฏิบัติราชการถูกต้องตามกฎหมายอย่างมีความสุจริตเที่ยงตรงหรือไม่
เมื่อศักราชคังติ้งปีแรก ปีพุทธศักราช 1583 ท่านเปาบุ้นจิ้นได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองตวนโจวจือโจว ปัจจุบันอยู่ในเมืองกาวย่าว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็น แหล่งผลิตจานฝนหมึกที่มีชื่อเสียงและดีที่สุดของเมืองจีน ในสมัยเจ้าเมืองคนก่อนๆ นั้นมักจะอ้างว่าต้องส่งไป ราชสำนัก จึงขูดรีดจัดจานฝนหมึกให้มีจำนวนมากกว่าที่ต้องส่งจริงราว 10 เท่าเพื่อกำนัลขุนนางในราชวัง แต่ท่านสั่งให้จัดหาจานฝนหมึกตามจำนวนจริงเท่าที่ถวาย ครั้นเมื่อท่านพ้นตำแหน่งการเป็นเจ้าเมืองนี้ บรรดาชาวเมืองก็นำเอาจานฝนหมึกชั้นดีมามอบให้ แต่ท่านเปาบุ้นจิ้นก็ไม่นำจานฝนหมึกติดตัวกลับไปแม้ สักชิ้นเดียว โดยในวันที่ท่านเดินทางออกมาจากเมืองท่านได้โยนจานฝนหมึกทิ้งแม่น้ำ เพราะท่านไม่ต้องการถูกครหาว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ให้แก่ตัว ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ท่านจึง ได้รับการสรรเสริญยกย่องมากในยุคนั้น
ต่อมาปีพุทธศักราช 1600 ท่านได้รับคำสั่งให้รักษาการตำแหน่งเจ้าเมืองไคเฟิงอันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งเหนือ ท่านได้ตั้งกลองไว้ที่หน้าศาลา ที่ว่าราชการของท่านเพื่อให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนสามารถมาเคาะกลองร้องเรียนได้โดยตรง ความเถรตรงของท่านไม่เว้นแม้แต่ญาติสนิท เพราะการตัดสินคดีที่เที่ยงตรงทำให้ตระกูลของท่านต้องสิ้นผู้สืบตระกูลมาแล้ว มีเรื่องกล่าวกันว่าครั้งหนึ่งหลานของท่านเปาเองต้องคดีถูกใส่ความ แต่เนื่องจากไม่มีข้อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง กล่าวว่าถ้าท่านประหารชีวิตหลานของท่านคนนี้แล้ว จะหมดผู้สืบสกุลเปาซึ่งถือเป็นบาปของตระกูล เนื่องจากท่านเปาเองก็ไม่มีบุตรสืบสกุล ท่านเองนั้นตระหนักในข้อครหาว่าท่านลำเอียงช่วยเหลือญาติพี่น้อง ในที่สุดท่านจึงต้องจำใจสั่งประหารทายาทของตระกูลทำให้ท่านโดนประณามจากสังคมว่าทำตนเสแสร้ง จึงทำให้ต้องสิ้นตระกูลเปา
ในช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านเปาบุ้นจิ้นได้แจ้งกฎเกณฑ์เพื่อสั่งสอนลูกหลานในตระกูล ความว่า ลูกหลานของท่านที่เข้ารับราชการ ผู้ใดหากกระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง รับสินบน เมื่อเขาเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ห้ามกลับมาเหยียบตระกูล หากเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ก็ห้ามนำศพเข้ามาฝังรวมกับสุสานของบรรพบุรุษในตระกูล
ปัจจุบันศาลไคเฟิงอยู่ในอำเภอไคเฟิง เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน อำเภอไคฟงหรือไคเฟิงเดิมจมน้ำไปแล้ว เพราะถูกน้ำท่วมใหญ่จากแม่น้ำฮวงโห ศาลไคเฟิงใหม่ในปัจจุบันนี้ จึงสร้างขึ้นโดยจำลองจากศาลไคเฟิงเดิมทุกประการ แต่มีขนาดเล็กกว่าศาลไคเฟิงเดิม 1 เท่า สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ยังคงรักษาไว้ซึ่งรูปลักษณ์แบบโบราณ ทั้งอาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง รวมถึงการวางผังเมือง โดยศาลไคเฟิงใหม่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองเจิ้งโจวอีกด้วย เพราะในเวลา 9 นาฬิกา จะมีการจำลองเรื่องราวของท่านเปามาแสดงที่ศาลไคเฟิงแห่งนี้ด้วย มีเปาบุ้นจิ้น (ตัวปลอม) ออกมาเปิดศาลและรับเรื่องราวร้องทุกข์เหมือนที่เห็นในหนังทุกประการ
ภายในศาลไคเฟิง มีหุ่นขี้ผึ้งของบุคคลในศาล ครบทุกท่าน นอกจากนี้ หน้าห้องตัดสินคดีความ ยังมี “เครื่องประหาร 3 แบบ 1 ความตาย” นั่นคือ เครื่องประหารหัวมังกร (สำหรับประหารเชื้อพระวงศ์), เครื่องประหารหัวพยัคฆ์ (สำหรับประหารขุนนาง ข้าราชการ) และ เครื่องประหารหัวสุนัข (สำหรับ คนทั่วไป) จัดแสดงไว้ด้วย