あけましておめでとうございます!(Akemashite omedetou gozaimasu)
ก่อนที่จะกล่าวประโยคข้างบน ซึ่งแปลว่า “สวัสดีปีใหม่” ได้เต็มปากเต็มคำ รู้หรือเปล่าว่าพอถึงปีใหม่คนญี่ปุ่นเขานึกถึงอะไรกันบ้าง อ๊ะ! ขอแบบเป็นงานเป็นการกันหน่อยนะ ประมาณว่า...ควงแฟนไปสวีทบนหอคอยโตเกียวทาวเวอร์ อันนั้นเอาเก็บไว้คุยกันรอบหน้า^^
ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (ประมาณกลางเดือนธ.ค. ถึงกลางเดือนมกราคม) เราจะได้เห็นสิ่งของที่ไม่ค่อยชินตาคนไทยส่วนใหญ่หลายอย่าง รวมถึงกิจกรรมอีกหลายรูปแบบที่คนญี่ปุ่นจะทำกันในช่วงนี้ ขอเสนอ8 สิ่งที่เราจะเห็นในญี่ปุ่นช่วงปีใหม่
อย่างแรกเป็นของประดับบ้านช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่นเรียกว่า Kadomatsu (門松)
Kadomatsu ทำจากไม้ไผ่และกิ่งสน อาจจะเพิ่มเติมสิ่งของมงคลอย่างอื่นไปบ้างแล้วแต่รสนิยมของแต่ละท้องถิ่น แต่โคโดมัตสึจะถูกจัดวางไว้สองฟากฝั่งประตู บริเวณทางเข้าบ้าน หรืออาคารสำนักงาน เพื่อต้อนรับเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ที่จะนำความสุขและความโชคดีลงมาสู่โลกมนุษย์ในปีใหม่
ของแต่งบ้านช่วงปีใหม่นั้นก็มีอีกอย่าง เรียกว่า Kagamimochi (鏡餅)
Kagamimochi เป็นของแต่งบ้านปีใหม่ ที่ทำออกมาเพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ โดยจะจัดวางไว้ที่Tokonoma ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ถูกจัดไว้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน Kagamimochi นั้นจะมีโมจิกลมๆ สองลูกวางซ้อนกันอยู่ (ตัวแทนพระจันทร์กับพระอาทิตย์) เมื่อพ้นช่วงปีใหม่ไป ประมาณวันที่ 11 มกราคม โมจิทั้งสองลูกก็จะถูกกินเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับคนในบ้าน
อย่างต่อมา นักช้อปทั้งหลายคงจะชอบ เรียกว่า Fukubukuro (福袋)หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Lucky Bags (ถุงนำโชค) นั่นเอง
Fukubukuro ส่วนใหญ่จะรวมสินค้าหลายๆ อย่างไว้ภายใน ผู้ซื้อจะไม่รู้เลยว่ามีอะไรอยู่บ้าง แต่มูลค่าของสินค้ามักจะมากกว่าราคาที่จ่ายไป 2 – 3 เท่า (จากราคาขายปลีก) ปกติก็จะมีการจำหน่ายเจ้าถุงนำโชคนี่กันในวันที่ 2 หรือ 3 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ห้างร้านต่างๆ เปิดเป็นวันแรกของปี ซึ่งก็ดีเพราะลูกค้าจะได้มีโอกาสลุ้น “โชคดี” ของตัวเองรับปีใหม่กันด้วย
อย่างที่สี่ เข้าสู่หมวดของกินกันแล้ว เรียกว่า Osechi-ryori (お節料理)
อาหารปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น เพื่อนำโชคดีและสุขภาพแข็งแรงมาให้ในปีใหม่ แต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นก็จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ส่วนประกอบของอาหารแต่ละอย่างก็จะมีความหมายดีๆ พิเศษๆ ทั้งนั้น ซึ่งอาหารจะถูกจัดวางอย่างสวยงามภายในกล่องอาหาร อาจจะเป็นกล่องใหญ่ชั้นเดียว หรือขนาดย่อมๆ หน่อยแต่หลายชั้นก็ได้ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวรวมถึงแขกที่มาอวยพรปีใหม่ได้รับประทานร่วมกัน
อย่างที่ห้า ยังคงเป็นอาหารมงคลช่วงปีใหม่ เรียกว่า Zoni (雑煮)
Zoni เป็นซุปโมจิใส่เนื้อไก่ ปลาและผักต่างๆ ส่วนประกอบและรสชาติก็จะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ (แต่แอบส่วนตัวนิ๊ดนึง ก็ถ้าเป็นอาหารมงคลช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่น จะชอบกินเส้นโซบะปีใหม่ที่เรียกว่า โทชิโคชิโซบะ (Toshikoshi soba 年越し蕎麦) มากกว่า มีความหมายดีเหมือนกัน ประมาณว่าเจริญรุ่งเรืองและอายุยืนยาวนาน เรื่องของเรื่องก็คือเราว่ามันกินง่ายกว่าซุปโมจิอ่ะ^^)
อย่างต่อไป มารู้จักกับ ส.ค.ส ฉบับญี่ปุ่นกันบ้าง เรียกว่า Nengajo (年賀状)
อันที่จริง Nengajo ก็เป็นการ์ดธรรมดาๆ ที่ส่งไปอวยพรปีใหม่ให้กับญาติพี่น้อง เพื่อน และเจ้านายนั่นแหล่ะ ชาวญี่ปุ่นจะส่งการ์ดนี้กันก่อนสิ้นเดือนธันวาคม แต่จุดเด่นของ Nengajo ก็คือทางไปรษณีย์เขาจะรีบจัดส่งให้ถือมือผู้รับทั้งหมดในวันที่ 1 มกราคม ซึ่งคงจะทำให้ผู้รับมีความสุขกับคำอวยพรปีใหม่กันมากทีเดียว แถมบน Nengajo แต่ละใบก็จะมีตัวเลขกำกับอยู่ด้วย ใครโชคดีอาจจะถูกรางวัลพิเศษได้โชคใหญ่รับปีใหม่เลยก็ได้ (ส.ค.ส. แบบนี้อยากได้กันใช่มั้ยล่ะ)
อย่างที่เจ็ดนี้ เด็กๆ จะชอบกันมาก เรียกว่า Otoshidama (お年玉)
Otoshidama ก็คือเงินปีใหม่ ประมาณอั่งเปาของชาวจีน เด็กๆ จะได้รับจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา เป็นเงินรางวัลที่ปีที่แล้วเป็นเด็กดี และหวังว่าปีใหม่จะทำตัวเป็นเด็กดียิ่งๆ ขึ้นไป อารมณ์ก็จะประมาณนั้น...
อย่างสุดท้ายนี้ ใครๆ ก็ทำกันช่วงปีใหม่ นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็ไม่พลาด นั่นคือ Hatsumode (初詣)
Hatsumode ก็คือการไปวัดหรือศาลเจ้าเพื่อขอพรปีใหม่นั่นเอง ใครอยากให้ปีใหม่เป็นปีที่ดี มีโชค มีลาภ สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง จะขออะไรก็จัดหนักกันไปตั้งแต่วันปีใหม่เลย ซึ่งศาลเจ้าที่คนญี่ปุ่นนิยมไปขอพรปีใหม่กันมาก ก็เห็นจะเป็นศาลเจ้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ศาลเจ้าอิเสะ (Ise Jingu) รวมถึงศาลเจ้าอิซุโมะ (Izumo Taisha) และศาลเจ้าเมจิ (Meiji Jingu)
เห็นได้ชัดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ถ้าทำแล้วจะปัดเป่าโชคร้าย นำสิ่งดีๆ และความสุขมาให้
ทีนี้ ถ้าได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงปีใหม่ เราก็จะ enjoy กับบรรยากาศได้อย่างเต็มที่เต็มอารมณ์แล้วละนะ
ขอให้ あけましておめでとうございます! กันถ้วนหน้าจ้ะ