วันนี้ teen.mthai นำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ ส.ค.ส. มาฝากเพื่อนๆกันนะค่ะ เพื่อนๆ ทราบกันหรือไม่ว่า ส.ค.ส โบราณ ใบแรกของไทย เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2409 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 4 ทรงเขียนอวยพรด้วยพระองค์เอง สำหรับพระราชทานแก่คณะทูตานุทูต ข้าราชบริพาร และมิตรสหายชาวต่างประเทศ เนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่สากล
ส.ค.ส โบราณ ใบแรกของไทย
ส.ค.ส.โบราณ ใบแรกของไทย พบหลักฐานว่ามีขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๐๙ สมัยรัชกาลที่ ๔ บนแผ่นการ์ดเป็นลายพระหัตถ์เขียนอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นสำหรับพระราชทานคณะทูตานุทูต ข้าราชบริพาร และมิตรสหายชาวต่างประเทศ เนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่สากล เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๖๖ บัตรอวยพรอันประเมินค่ามิได้อายุ ๑๔๐ ปีแผ่นนี้ พบในร้าน Maggs Bros ร้านหนังสือเก่าแก่ ใจกลางกรุงลอนดอน
ผู้ซื้อ ส.ค.ส.โบราณใบแรกของไทย?กลับมาคืนสู่แผ่นดินมาตุภูมิ ก็คือ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามผ่านเอกสารของชาวตะวันตก ธวัชชัย อธิบายว่า ส.ค.ส.เก่าแก่ที่สุดใบนี้ รัชกาลที่ ๔ พระราชทานให้แก่ “กัปตันบุช” (ข้าราชบริพารชาวอังกฤษ เข้ามารับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าแผ่นดินไทยถึงสองพระองค์ คือ ร.๔-๕) บัตรอวยพรยุคเก่าที่มีตัวตนเหลืออยู่ค่อนข้างมาก
ได้แก่ ส.ค.ส.สมัยรัชกาลที่ ๕ นับแต่ พ.ศ. ๒๔๒๙ เป็นต้นมา นอกจาก ส.ค.ส.ฉบับแรกของสยาม ค.ศ. ๑๘๖๖ เอกสารเก่าที่ซื้อมาครั้งนี้ยังมี ส.ค.ส.ฉบับพิมพ์แผ่นแรกของสยาม ค.ศ. ๑๘๖๗ ทั้งสองฉบับอยู่ในสภาพดีอย่างแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีอายุร้อยกว่าปี ไม่ขาดชำรุด เปื่อยยุ่ย หรือปรุพรุน เช่นเอกสารโบราณส่วนใหญ่ คงเป็นเพราะที่อังกฤษนั้น สภาพภูมิอากาศและการดูแลรักษา เอื้ออำนวยให้เอกสารสำคัญนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์ อนึ่ง ส.ค.ส.ฉบับแรกของโลก นั้นเป็นความคิดของ เฮนรี โคล และออกแบบโดยจอห์น คาลคอตต์ ฮอร์สลี ชาวอังกฤษ พิมพ์ ๑,๐๐๐ ใบ จำหน่ายที่กรุงลอนดอนเมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
การส่งบัตรอวยพรหรือ ส.ค.ส. จึงเป็นธรรมเนียมตะวันตก เพราะฉะนั้นการส่ง ส.ค.ส.ของรัชกาลที่ ๔ จึงมีนัยสื่อให้ตะวันตกเห็นว่า เมืองสยามไม่ได้ป่าเถื่อน ที่ฝรั่งจะใช้เป็นข้ออ้างมาครอบครองเราได้ เรารู้ธรรมเนียมอารยะที่ต้องส่งการ์ดกันทุกวันปีใหม่ แล้วถ้ามองทะลุผ่านลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษ ๓๐-๔๐ บรรทัดนี้ จะเห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ท่าน นักประวัติศาสตร์หลายคนอาจมองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ว่าเราเป็น ‘รัฐกันชน’ ระหว่าง อินโดจีนกับพม่า แต่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ทวีปเอเชียมีแค่ไทยกับญี่ปุ่นที่ไม่ตกเป็นอาณานิคม ถ้าเราไม่ได้พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาเช่น ร.๔-๕ ก็ไม่แน่ว่าการเป็นรัฐกันชนจะต้านจักรวรรดินิยมได้เพียงพอหรือเปล่า วันนี้เราอาจไปยืนเคารพธงชาติของคนอื่นก็เป็นได้
ส.ค.ส.โบราณ ใบแรกของไทยข้อมูล : มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย