รู้ยัง ภาพสัญลักษณ์ในสถานีรถไฟใต้ดิน มีความหมายซ่อนอยู่ เพื่อนๆ เคยสังเกตหรือสงสัยไหมคะว่า ภาพสัญลักษณ์ที่เราเดินผ่านไปผ่านมานั้น มีไว้เพื่ออะไร และมันมีความหมายจริงๆ หรอ นอกจากสัญลักษณ์แล้วยังมีสีต่างๆ ก็มีความหมายได้อีกด้วย จนน่าแปลกใจว่า ทำไมเราไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย งั้นอย่ารอช้าเรามาคลายความสงสัยเรื่องทั้งหมดนี้พร้อมๆ กันค่ะ
รู้ยัง ภาพสัญลักษณ์ในสถานีรถไฟใต้ดิน มีความหมายซ่อนอยู่
โดยสีและสัญลักษณ์นของสถานีรถไฟใต้ดินแบ่งเป็น 2 ส่วน
1. ส่วนใต้ 9 สถานี ใช้สัญลักษณ์ และ สีประจำสถานี
2. ส่วนเหนือ มี 9 สถานี (ไม่มีสัญลักษณ์ประจำสถานี) ใช้เพียงสีเป็นตัวบ่งบอก ทั้งนี้ เพราะสถานี 2 ส่วนผู้ได้รับสัมปทานจัดสร้างเป็นผู้รับเหมาคนละบริษัท และบริเวณ 9 สถานีที่เหลือไม่มีเอกลักษณ์หรือสถานที่สำคัญใดๆ พอจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ได้ สำหรับสีสัญลักษณ์แต่ละสถานี
คราวนี้เราลองมาดูความหมายทีละสัญลักษณ์พร้อมๆ กันค่ะ หรือเพื่อนๆ คนไหนจะลองเดาดูก่อนจากภาพก็ได้นะคะ เริ่มจากส่วนใต้ 9 สถานี
1. สถานีพระราม 9
ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปเลข 9 ไทย (๙) เนื่องจากสถานีตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพระราม 9 จุดตัดถนนพระราม 9 โดยใช้สีแดงเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นย่านธุรกิจ หรือตลาด
2. สถานีเพชรบุรี
สัญลักษณ์คือ รูปคลื่นน้ำ หมายถึง คลองแสนแสบ สีฟ้า หมายถึงน้ำ
3. สถานีสามย่าน
สัญลักษณ์คือ รูปทรงหลังคาอาคารหอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สีชมพู
4. สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สัญลักษณ์อาคารของศูนย์การประชุมฯ สีเหลือง หมายถึง สถานีที่อยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับราชวงศ์
5. สถานีสุขุมวิท
เป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีจุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้า จึงใช้ สีน้ำเงิน สัญลักษณ์เป็น กาแล สื่อความหมายถึง “เรือนคำเที่ยง” พิพิธภัณฑ์ในสยามสมาคม ถนนสุขุมวิท (อโศก) ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบกาแลที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ
6. สถานีคลองเตย
สัญลักษณ์ หลังคาเรือนไทย แทนค่า “ตำหนักปลายเนิน” บนถนนพระราม 4 สีส้ม บ่งบอกถึงสถานีที่อยู่ในพื้นที่ย่านการค้าหนาแน่น
7. สถานีลุมพินี
เป็นสถานีที่เชื่อมต่อออกไปยังสวนลุมพินี สัญลักษณ์รูปดอกบัว สีเขียว หมายถึง สวนสาธารณะ
8. สถานีหัวลำโพง
สัญลักษณ์คือ รูปทรงของอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง สีแดง บอกถึงความเป็นย่านธุรกิจ/ตลาด
9. สถานีสีลม
จุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดิน และ รถไฟฟ้าลอยฟ้า สัญลักษณ์เป็น รูปพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่อยู่ทางด้านหน้าของสวนลุมพินี สีน้ำเงิน
ต่อกันด้วย ส่วนเหนือ 9 สถานี ที่ไม่มีรูปสัญลักษณ์ จึงใช้เป็นสีแทน
1. สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
สีน้ำเงิน เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) หรือตลาด
2. สถานีบางซื่อ
สีน้ำเงิน เป็นจุดเชื่อมต่อกับโครงการสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และ บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ
3. สถานีสวนจตุจักร
สีน้ำเงิน หมายถึงจุดเชื่อมต่อ โดยต่อกับระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้า
4. สถานีสุทธิสาร
สีแดง ความหมายเดียวกับสถานีหัวลำโพงและสถานีพระราม 9
5. สถานีกำแพงเพชร
สีแดง
6. สถานีรัชดาภิเษก
สีชมพู
7. สถานีพหลโยธิน
สีเหลือง ความหมายเดียวกับสถานีศูนย์การประชุมฯ เนื่องจากสถานีอยู่ใน “สวนสมเด็จย่า 84″
8. สถานีลาดพร้าว
สีฟ้า
9. สถานีห้วยขวาง
สีส้ม หมายถึงพื้นที่ที่อยู่ในย่านการค้าหนาแน่น
โดยสีที่บอกสัญลักษณ์ของแต่ละสถานีเหล่านี้ จะปรากฏอยู่ตามเสา ผนัง และขอบด้านบนของแนวประตูกั้นชานชาลา ส่วนสถานี 9 สถานีด้านใต้ที่มีสัญลักษณ์ ใช้วิธีประดับกระเบื้องเป็นสีตามสถานีนั้นๆ โดย สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใช้ สีทอง แทน สีเหลืองค่ะ
ข้อมูลและภาพ : Totomaru (Skyscrapercity.com), realist, pantip