ครั้งนี้ขอนำเสนอสาระตามวัฒนธรรมของญี่ปุ่นกันบ้างดีกว่า ที่จะขอมาพูดถึงงานเต้นรำอย่าง Bon Odori (盆踊) กัน ว่ามีความสำคัญยังไงกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเขาบ้างนะ ซึ่งหากจะพูดถึงงานเต้นรำ Bon Odori (盆踊) แล้ว ก็ไม่พ้นต้องพูดถึงเทศกาล Obon (お盆祭り) ที่เป็นประเพณีของชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ระหว่างวันที่ 13 – 15 สิงหาคม ยกเว้นในภูมิภาคคันโต ที่จะจัดกันในระหว่างวันที่ 13 – 16 กรกฏาคม แทน
โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าช่วงเวลาดัวกล่าวดวงวิญญาณของบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องได้อย่างอิสระ จึงมีการจัดเตรียมอาหารและดอกไม้ขึ้นตั้งบนหิ้งหรือตู้ของบรรพบุรุษ ที่เรียกกันว่า “บุสึดัง” เพื่อต้อนรับดวงวิญญาณบรรพบุรุษของตน ให้ได้กินอย่างอิ่มหนำสำราญ ซึ่งดวงวิญญาณจะสามารถอยู่ในบ้านได้เกือบหนึ่งเดือน และในวันสุดท้ายจะมีการจุดไฟเพื่อส่งดวงวิญญาณบรรพบุรุษกลับ
สำหรับที่มาของเทศกาล Obon กล่าวกันว่าในสมัยพุทธกาล พระโมคุเรน หรือที่เราอาจจะรู้จักกันในชื่อ พระมหาโมคคัลลานะ พระภิกษุอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นผู้กำพร้ามารดา และตอนหลังได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ และฝึกตนสามารถเห็นได้ทั้งนรกและสวรรค์ และได้เห็นมารดาของตนทุกข์ทรมาน จึงได้เล่าเรื่องราวของมารดาให้แก่พระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่าอย่าคิดจะช่วยแต่มารดาของตนเองผู้เดียว ซึ่งเรื่องราวนั้นก็ได้กลายมาเป็นเทศกาล Obon นั่นเอง
ส่วนงานเต้นรำ Bon Odori นั้นก็คืองานที่จัดขึ้นในช่วงเดียวกัน เสมือนเป็นการเลี้ยงฉลองต้อนรับดวงวิญญาณบรรพบุรุษให้เกิดความครื้นเครงในการกลับมาที่บ้านของตน ลักษณะจะเป็นงานคล้ายกับงานวัดบ้านเรา มีซุ้มขายของ การละเล่นต่างๆ มีการตีกลองและเต้นระ โดยจะมีการสร้างเป็นห้างอยู่กลางงาน ผู้คนที่ไปงานจะพร้อมใจกันสวมชุด Yukata มาในงาน ซึ่งนอกจากการร่วมเต้นรำในงานแล้ว ก็ยังจะมีการชมดอกไม้ไฟ ที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานเทศกาลแบบนี้เลยก็ว่าได้ ทั้งนี้งานจะจัดกันประมาณ 3 – 4 วัน สลับกันไปตามเมืองต่างๆ ในช่วงเกือบหนึ่งเดือน ของเทศกาล Obon นี่ล่ะ