แชร์ว่อน คนไทยถูกหลอกให้ใช้สะพานลอย-เปลืองงบประมาณ ?
เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ชาวเน็ตแชร์ คนไทยถูกหลอกให้ใช้สะพานลอยมาตั้งนาน สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ทั้งที่ประเทศพัฒนาแล้วรถจะจอดให้คนข้ามโดยไม่ต้องมีสัญญาณไฟแดงด้วยซ้ำ
นับเป็นเหตุสลดในช่วงท้ายปี สำหรับกรณีอุบัติเหตุครีเอทีฟสาว ถูกรถบรรทุกชนเสียชีวิตหน้าตึกแกรมมี่ หลังจากที่ครีเอทีฟสาวคนดังกล่าวข้ามถนนโดยใช้ทางม้าลาย แต่กลับถูกคนขับรถบรรทุกที่ขาดวินัยในการขับขี่ ขับรถฝ่าไฟแดงมาชนจนเสียชีวิต จนเรื่องราวดังกล่าวได้กลายมาเป็นที่พูดถึงไปทั่วสังคม
ขณะที่ในสื่อออนไลน์ ชาวเน็ตก็ได้มีการนำประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการข้ามถนนในประเทศไทยที่การใช้สะพานลอยมีความปลอดภัยมากกว่า ทั้งที่ต่างประเทศไม่มีความจำเป็นต้องใช้สะพานลอย กลับมาแชร์ต่อกันอีกครั้ง โดย คุณ HommaMeiko สมาชิกเว็บไซค์พันทิปดอทคอม ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาบอกเล่าอีกครั้งในหัวข้อ "คนไทยโดนหลอกให้ใช้สะพานลอย ทั้งๆที่เมืองนอกไม่จำเป็น??" เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 โดยระบุข้อความดังนี้
"บทความที่น่าสนใจเมื่อสักไม่กี่เดือนก่อน น่าสนใจ จึงเอามาเล่าสู่กันฟัง เผื่อมีใครที่ยังไม่ได้อ่าน
ดูข่าว "คนไทยเมาแล้วขับ ชนเด็กนักเรียนที่ญี่ปุ่นตาย" แล้ว ผมคิดอะไรขึ้นมาได้อย่าง
ว่าในบรรดาประเทศที่ผมเคยไปมา พบเห็น "สะพานลอย" น้อยมาก
เคยนึกสงสัยไหมครับว่า ทำไมไทยเรา [หรืออย่างน้อยก็กรุงเทพฯ] ต้องมีสะพานลอยเยอะขนาดนี้ ? และเราคนไทยก็ถูกสอนมาตั้งแต่สมัยเด็กว่า "ต้องข้ามสะพานลอย" เพื่อความปลอดภัย แต่พอลองคิดย้อนกลับไป ทำไมเราจึงต้องไล่หญิงมีครรภ์หรือคนชราให้ปีนบันไดชัน ๆ ผ่านสายไฟฟ้าที่ห้อยพาดระโยงระยางผ่านตัวสะพานในยามค่ำ ๆ มืด ๆ เสี่ยงต่อการปล้นฆ่าข่มขืน แทนที่จะเดินข้ามทางม้าลายง่าย ๆ ?
Backpack ไปญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนก่อน ผมลองเดินเท้าจาก Asakusa ไปทานอาหารไทยร้านดังชื่อ "Jasmine Thai" ใกล้กับสถานีรถไฟ Nihonbashi เป็นระยะทาง 4.7 Km และใช้เวลาไป 56 นาที ไม่มีการข้ามสะพานลอยแม้แต่ครั้งเดียว หรือถ้าเขียนให้ถูกต้องก็คือ ไม่มีสะพานลอยให้เห็นด้วยซ้ำ เพราะถ้าที่นี่คือญี่ปุ่นหรือเยอรมนี รถทุกคันต้องหยุดตรงทางม้าลาย เด็ก/คนชราและสตรีมีครรภ์ก็ไม่ต้องฝืนร่างกายปีนสะพานลอยใด ๆ แค่เดินไปบนถนนอย่างสบายใจ ไม่มีการกดแตรใส่ ไม่มีการเร่งเครื่องไล่และไม่มีการเปิดกระจกลงมาตะโกนด่า
เมื่อทางม้าลายข้ามได้ หน่วยงานราชการก็ประหยัดงบประมาณในการสร้างท่อนปูนพาดผ่านถนนสี่เลนแปดเลนไปอีกห้าล้านบาท พร้อมตัดงบรักษาความปลอดภัยและหลอดไฟส่องสว่างลงอีก คดีฆาตกรรม จี้ปล้นข่มขืนบนสะพานลอยมืด ๆ ก็ไม่มี
ผมพยายามนึกว่า อะไรที่ทำให้เราต้องสร้างสะพานลอยทุก ๆ 500 เมตรบนถนนสุขุมวิท ? แต่ก็คิดหาเหตุผลไม่ออก หรือเพราะว่าผมเองก็ถูกหลอกมานานหลายสิบปีว่าเราต้องข้ามสะพานลอย ! เพื่อให้ปลอดภัยจากรถ ซึ่งไทยเราถือว่ามี "อภิสิทธิ์" เหนือกว่าคนเดินถนนและทางม้าลาย เนื่องจากคนมีรถสมัยก่อนต้องรวย ดังนั้นคนจนต้องโดนไล่ให้หลบไปไกล ๆ แทน ?
หรือเพราะการสร้างสะพานลอยซ้ำไปมา เดี๋ยวซ่อมเดี๋ยวทรุด มันมีงบประมาณเหลือเฟือวนอยู่ในนั้น แม้มันจะเพิ่มความลำบากให้คนแก่ ๆ ยักแย่ยักยัน พยายามปีนบันไดชัน ๆ ด้วยไม้เท้าแย่งกับคนเยอะ ๆ ?
เราจ่ายภาษีทุกปีไปทำไมกันนะ
SOURCE
http://www.cookiecoffee.com/backpack/67839/crossover-in-thailand-vs-no-stop-zebra-crossing"
ในขณะที่ชาวเน็ตต่างก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป โดยบ้างก็เห็นด้วยในบทความข้างต้น พร้อมชี้ให้เห็นว่าคนไทยนั้นยังขาดวินัยจราจร รถชอบเร่งเครื่องยนต์ตอนที่คนจะข้ามถนน แถมบางครั้งยังถูกเฉี่ยวชนและด่าซ้ำ หากสามารถปลูกฝังเรื่องวินัยจราจรให้แก่สังคมไทยได้ ปัญหาเรื่องอันตรายจากการใช้ทางม้าลายก็จะหมดไป และอาจทำให้สามารถประหยับงบประมาณในการสร้างสะพานลอยได้ด้วย
อย่างไรก็ตามมีอีกหลายรายที่ออกมาชี้ว่า เจ้าของบทความดังกล่าวมองโลกง่ายเกินไป เพราะเราคงไม่สามารถนำประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ได้ เพราะวินัยของคนนั้นต่างกัน ปัจจุบันคนไทยอุ่นใจกับการใช้สะพานลอยมากกว่าทางม้าลาย ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย รวมทั้งการสร้างสะพานลอยยังไม่ได้หมายถึงการให้อภิสิทธิ์แก่รถเสมอไป เพราะการที่รถต้องหยุดจอดเพื่อให้คนข้ามถนนนั้น นับเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหารถติด การใช้สะพานลอยจึงเข้ามาช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ ประหยัดทั้งเวลาของผู้ใช้รถและผู้ที่ต้องการข้ามถนน
ขณะที่อีกหลายคนมองว่า จริง ๆ แล้วคนไทยไม่ได้ถูกหลอกให้ข้ามสะพานลอย เพียงแต่สะพานลอยมีความปลอดภัยกว่า และใครอยากเอาชีวิตไปเสี่ยงกับการข้ามทางม้าลายก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวเน็ตต่างเห็นพ้องกันก็คือปัญหาทั้งมวลล้วนเกิดจากความไร้วินัย และการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่อ่อนเกินไปของไทย ทำให้คนไม่กล้าจะเอาชีวิตไปเสี่ยงบนท้องถนน และทางข้ามม้าลายก็ไม่ได้มีอำนาจให้รถหยุดรอคนที่กำลังจะข้ามถนนได้ ด้วยเหตุนี้สะพานลอยจึงต้องเกิดขึ้น และยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อไปสำหรับสังคมไทย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
คุณ HommaMeiko สมาชิกเว็บไซค์พันทิปดอทคอม