บูชิโด มาจากคำว่า “บูชิ” ที่แปลว่านักรบ และ “โด” ที่แปลว่า วิถีทาง เป็นหลักปฏิบัติของนักรบในญี่ปุ่นสมัยศักดินา โดยมีไดเมียว (daimyo : 大名) เป็นเจ้าเมือง บูชิโด เป็นหลักปฏิบัติสำคัญมาตั้งแต่สมัยเฮอันจนถึงยุคของโตกุกาว่า (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9 – 12) เกิดจากหลักการสำคัญของลัทธิขงจื้อ ผนวกเข้ากับศาสนาพุทธที่ทำให้ซามูไรต้องเก็บอารมณ์ดุดัน และความเหี้ยมหาญไว้ภายใต้ใบหน้าเรียบเฉย ด้วยความสุขุมเยือกเย็น และความมีสติมั่น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รัก โกรธ หรือเจ็บปวด ทำให้ในสายตาของชนชาติอื่นเห็นซามูไรคือนักรบที่เข้มแข็ง ไม่รู้จักความกลัว และความเจ็บปวดใดๆ
จากพจนานุกรมญี่ปุ่น โชกาคุคัน โคะคุโกะ ไดจิเต็ง (Shogakukan Kokugo Daijiten) “บูชิโดคือหลักจิตวิทยาที่แพร่หลายในชนชั้นนักรบตั้งแต่สมัยมุโรมาจิ (ชูเซย์)” และในหนังสือ บูชิโด : จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (Bushido : The Soul of Japan) ของ ดร.นิโตเบ อินาโซะ ให้ความหมายว่า “บูชิโด คือหลักปฏิบัติสำคัญซึ่งซามูไรยึดถือ และสอนสั่งสืบต่อกันมา บ่อยครั้งที่ไม่มีการบันทึกเป็นเรื่องราว แต่มันปลูกฝังต่อกันมานานเป็นสิบเป็นร้อยปีในชนชั้นนักรบ” หลักของบูชิโดนั้นจะสอนให้ยึดมั่นต่อความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และจงรักภักดีต่อเจ้าผู้ครองเมือง มีความสมถะ อ่อนน้อม รักศักดิ์ศรี และไม่หวั่นเกรงต่อความตาย ซึ่งผู้ยึดถือลัทธิบูชิโดถือว่า ความตายเป็นสิ่งที่เบางบางกว่าขนนก และความตายจะนำมาซึ่งเกียรติแห่งนักรบ สามารถล้างความอัปยศของซามูไรผู้นั้น นำมาซึ่งพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ “ฮาราคีรี” หรือการคว้านท้อง มีเฉพาะซามูไรเท่านั้นที่สามารถประกอบพิธีนี้ได้ (ในสมัยก่อนเรียกว่า เซ็บปุกุ) อีกทั้งซามูไรยังยึดถือว่า ความมั่งคั่งและอำนาจเป็นศัตรูตัวฉกาจของนักรบ ดังคำบัญญัติในบทหนึ่งของบูชิโดที่ว่า “ไซตาคุวา เตกิ ดา” ทำให้ซามูไรได้รับความนับถือมากกว่าขุนนางในสมัยนั้น แต่ก็ไม่คิดแย่งชิงอำนาจมาเป็นของตน เรียกได้ว่ายึดมั่นในหลักความพอเพียงอย่างแท้จริง
คุณสมบัติทั้ง 7 ของลัทธิบูชิโด
1. ความยุติธรรม
2. ความกล้าหาญ
3. ความเมตตากรุณา
4. ความนับถือซึ่งกันและกัน
5. ความซื่อตรง
6. ความมีเกียรติ
7. ความจงรักภักดี
นอกเหนือจาก 7 ข้อนี้แล้ว บางครั้งยังมีเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่
1. ความศรัทธาอย่างแรงกล้าในครอบครัว และเผ่าพันธุ์
2. ความมีสติปัญญาเฉียบแหลม
3. ดูแลสุขภาพของตนเอง
แม้ ว่ายุคของซามูไรจะเสื่อมถอยลงตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2420 แต่ความเป็นบูชิโดในสายเลือดของชาวญี่ปุ่นไม่ได้เสื่อมถอยตามไปด้วย ปฏิบัติการกามิกาเซ่ที่ลือลั่นคือหลักฐานความเป็นนักรบของชาวอาทิตย์อุทัย ที่ยอมสละชีพเพื่อแผ่นดิน และองค์จักรพรรดิ และถึงแม้ระเบิดปรมาณู 2 ลูกจะถูกทิ้งลงบนเกาะญี่ปุ่น แต่เหล่าทหารพร้อมกับประชาชนอีก 80 ล้านชีวิตต่างปฏิญาณตนยอมสู้ศึกจนตัวตายเป็นชาติพลี ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของตน และหากสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นในเวลานั้นไม่ลงนามยอมแพ้ต่อฝ่ายพันธมิตร เราอาจจะมิได้เห็นญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอย่างทุกวันนี้
หลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลให้ญี่ปุ่นหมดสภาพจากการเป็นจักรภพ สูญเสียดินแดนที่เคยครอบครองจากการรบพุ่งอย่างห้าวหาญ เหลือเพียงเกาะญี่ปุ่น 4 เกาะที่เป็นประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ และต้องปิดประเทศไประยะหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ฟื้นคืนจากเถ้าธุลีแห่งสงคราม เพียงแต่การกลับมามีชีวิตของญี่ปุ่นในครั้งนี้มิได้เน้นเรื่องการทหาร และแสนยานุภาพอันเกรียงไกร แต่ลัทธิ และสายเลือดบูชิโด นั้นเปลี่ยนไปเพื่อการพัฒนาศักยภาพต่างๆ เช่น การค้นคว้า และสร้างสรรค์ผลผลิตใหม่ๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ทำเลียนแบบสินค้าจากต่างประเทศในราคาถูกออกมาขายดังเช่นสมัยก่อน มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคนิคใหม่ๆ จนทำให้สินค้าของญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าทัดเทียมกับสินค้าทางฝั่งยุโรป หรือบางชิ้นมีคุณภาพเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด และมีราคาที่ถูกกว่าฝั่งตะวันตกที่คนฐานะไม่ดีก็สามารถซื้อสินค้าที่ผลิตจาก ญี่ปุ่นได้ แสดงให้เห็นว่าความเชื่อในเรื่องความศรัทธาอันแรงกล้าในเผ่าพันธุ์ที่มีอยู่ รวมกับความคิดสร้างสรรค์จากสติปัญญา สามารถก่อร่างสร้างชาติที่ตกต่ำถึงขีดสุดให้กลายเป็นผู้นำได้ในเวลาอันสั้น