ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เรื่องราวที่คนไทยไม่ค่อยรุ้

นี่คงเป็นอีกหนึ่งเนื้อหาที่พูดถึง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งพูดกันตามตรง เราไม่เคยได้รู้เรื่องราวคุณความดีอะไรกันนักหรอก เราได้ยินแต่เรื่องของ “มูลค่าทรัพย์สินที่ในหลวงถือครอง” ติดอันดับพระมหากษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก เรื่องราวการทวงคืนที่ดินในทรัพย์สินดังกล่าว หรือแม้กระทั่งการก้าวล่วงทวงถามถึงภาษีที่เกิดจากรายได้ของพระองค์ท่าน

ผมได้ยินมานานจริงๆ และไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงมากนัก รู้อย่างเดียวคือ ในหลวงท่านทรงลำบากตรากตรำเพื่อประชาชนมามากนัก ดังนั้น ผมจึงลืมข้อสงสัยนั้น (แต่ก็มีคนนำเสนอข้อมูลเชิงลบ ซึ่งก็เริ่มต้นด้วยข้อสงสัยแบบเดียวกันผม)

(ตราสำนักงาน [1])

วันนี้ เรามาค้นข้อเท็จจริงกันเถอะ เป็นข้อมูลที่ได้จากสำนักงานโดยตรงเลยครับ (ซึ่งจะขอตัดตอนบางคำให้กระชับ อ่านง่าย)

1. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ vs ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ไม่เหมือนกัน

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ ทรัพย์สิน (เงิน ของมีค่า ที่ดิน การลงทุน ฯ) ประจำผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ (ไม่ใช่การตกทอดในครอบครัว) โดยตกทอดมาจาก “ราชวงศ์จักรี”  ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ต่อมา เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง (สมัยรัชกาลที่ 7) จึงยึดมาเป็นของกลางของแผ่นดิน แต่ให้เกียรติ พระเจ้าอยู่หัว แต่งตั้ง เจ้าหน้าที่ มาบริหารทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์โดยรวม (มิใช่นำมาใช้ตามพระราชอัธยาศัย) โดยมี รมต.กระทรวงการคลังเป็นประธาน

ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือ ทรัพย์ในบัญชีพระองค์เอง ซึ่งพระองค์นำไปใช้จ่ายส่วนพระองค์

ดังนั้น สื่อต่างประเทศที่นับทรัพย์สินของพระองค์จนติดอันดับโลก คงจะบิดเบือนตรงที่นับรวมเอาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าไปด้วย [3]

ส่วนที่เกี่ยวข้องกันสองส่วนนี้คือ เงินบางส่วนจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะนำถวายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ [2] (อ่านเพิ่มเติม ที่ลิงก์ของ อ้างอิง [2] นะครับ)

(ภาพ วังลดาวัลย์ ที่ตั้งของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [1])

2. ในหลวงทรงเสียภาษีเช่นกัน

พระองค์ทรงเสียภาษีในส่วนของ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามปกติ

ส่วนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้รับการยกเว้นภาษี (เช่นเดียวกับการบริหารทรัพย์สินของแผ่นดิน) แต่เสียภาษีจากรายได้การลงทุนอื่นๆ

ได้เคยมีการส่งรูป หน้าซอง ภงด.94 ระบุพระนามของในหลวง แต่ต่อมามีผู้โต้แย้งว่า น่าจะเป็นของปลอม เพราะรหัสไปรษณีย์ผิด
3. สำนักงานมีเรื่องปิดบังซ่อนเร้นหรือไม่

มักจะมีการกล่าวถึงบ่อยๆว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะสามารถเปิดเผย งบและข้อมูลการเงิน ให้เหมือนกับ สำนักงานที่คล้ายกันของราชวงศ์อังกฤษ ที่ชื่อว่า Crown Estate ได้มั้ย? (โดยที่ Crown Estate มีรายงานเปิดเผยต่อสาธารณชน และบ่งบอกวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า ใช้กองทุนในการบูรณะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และลงทุนในบริษัทพลังงาน)

(ภาพจาก http://www.crownestate.co.uk บันทึกภาพจากเว็บไซท์ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2557)

 

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ของไทย ก็มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเช่นกัน ด้วยระบุวัตถุประสงค์ที่กว้างกว่า เป็นการบำรุงสาธารณสมบัติ และจัดทำรายงาน ที่สื่อต่างๆสามารถเปิดอ่านได้ (ดาวน์โหลดจากเว็บไซท์ http://www.crownproperty.or.th ได้เลย)

4. ทรงใช้วิถีชีวิตอย่างคนรวยหรือไม่

ได้มีผู้รู้ นักวิชาการหลายท่าน ยืนยันว่า รถพระที่นั่งราคาแพงนั้น (ที่หลายคนยกขึ้นมาโจมตี) ทรงได้มา เพราะมีคนนำมาถวาย

ส่วนวิถีชีวิตในรั้วพระราชวังจิตรลดารโหฐาน เป็นอย่างไร ก็ให้นึกว่า หากพระองค์เป็นเศรษฐีที่ฟุ้งเฟ้อคิดจะมีที่นาปลูกข้าว เลี้ยงวัว โรงทำปุ๋ย โดยหวังว่าจะสร้างผลลัพธ์ให้เกษตรกร ในบ้าน (วัง) ของตนเองทำไม ถามแค่นี้ คุณน่าจะได้คำตอบเองนะ

(ภาพบ่อปลานิล โดย สายหมอกและก้อนเมฆ ชื่อเรื่อง ”
กิจกรรมเดินย้อนรอยพิพิธศิลปวัฒนธรรม อภิเนาว์สถานวังเจ้า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา”, http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=morkmek&month=05-04-2013&group=14&gblog=13)

5. บูรณะวัด ไม่ใช่งานของ กรมศาสนา หรือ กรมศิลปากร หรือ?

โครงการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หลายส่วน เกี่ยวข้องกับการบูรณะวัดวาอาราม ที่สำคัญหลายแห่งในประเทศไทย (ในรูปด้านล่างคือ ส่วนหนึ่งของ 35 โครงการปฏิสังขรณ์) ทีมงานสงสัยจึงถามว่า งานที่ว่า ไม่ใช่งานของกรมศาสนา หรือกรมศิลปากรหรือ? ก็ได้คำตอบว่า เป็นความร่วมมือกันกับสองหน่วยดังกล่าว แต่ที่สำคัญมากๆ คือ ทุนทรัพย์ในการบูรณะซ่อมแซม ซึ่ง สนง. ได้รับผลดอกจากการลงทุน ก็นำมาใช้เพื่อประโยชน์ตามที่ระบุไว้ตั้งแต่แรก การบำรุงศาสนา และสถานที่สำคัญ ก็รวมอยู่แล้ว [2]

แต่การปฏิสังขรณ์อาจจะไม่ใช่ทางออกสุดท้าย เพราะคนเข้าวัดน้อยลง ทาง สนง. จึงคิดแบบคนรุ่นใหม่ ที่จะแฝงเทคโนโลยีที่น่าสนใจเข้าไปในบางวัด (เท่าที่จะทำได้ แต่เหมาะสม) เพื่ออำนวยการเรียนรู้ของคนยุคอินเตอร์เน็ทด้วย

ที่เราได้มาเยี่ยมชมล่าสุด คือ การซ่อมแซมภายใน โลหะปราสาท (วัดราชนัดดา) ซึ่งภายในทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีเทคโนโลยีผสมผสาน (ทั้งเรื่องของ display, AR, และการใช้ meditation music) การนำเสนอเกี่ยวกับ ศาสนาและประวัติการก่อสร้าง รวมทั้งกำลังหุ้มทองคำแท้ที่ยอดโลหะปราสาททั้ง 37 ยอด

6. สวนสาธารณะ ไม่ใช่งานของ กทม. หรือ?

นี่ก็เป็นความเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อ สนง.ในการมีการปรับปรุงพื้นที่บางจุดให้เป็นสวนสาธารณะสวยงามเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ด้วย แต่ที่จัดการได้เลย ก็เพราะใช้พื้นที่ที่อยู่ในความครอบครองของ สนง. อยู่แล้วมาปรับปรุง (ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หาก สนง. เล็งเห็นแต่ผลกำไรเสียทั้งหมด คงไม่นำพื้นที่ ที่เดิมให้เช่าอยู่อาศัย มาทำเป็นสวนสาธารณะหรอก)

(สวนนาคราภิรมย์ ใกล้กับวัดพระเชตุพนฯ และวัดพระแก้ว ที่สร้างขึ้นใหม่)

อีกหนึ่งความภูมิใจคือ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑ์ (กึ่งนิทรรศการ) รูปแบบใหม่ผสมผสานแสงเสียง เทคโนโลยี ที่ทำให้คุณรักรัตนโกสินทร์ และรักสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์นี้แบกรับภาระความรับผิดชอบ ความอยู่รอด เอกราช และการพัฒนาความเจริญของประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติมาตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา ไม่แปลกที่ทุกพระองค์ถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “พ่อของแผ่นดิน”

แนะนำให้ ไปชมกันครับ ท่านละ 100 บาท (ผมชอบ การใช้เทคโนโลยี ที่ทำได้ดีไม่แพ้ ฮอลลีวู้ด หรือ พิพิธภัณฑ์ของสิงคโปร์เลยล่ะ)

7. อ้าว แล้ว พื้นที่ และทีดิน ที่ปล่อยให้เช่า คิดราคาเท่าไหร่?

ถามไป เจ้าหน้าที่สำนักงานก็ ขำ และบอกว่า หลายพื้นที่ให้เช่าบ้านเราเก็บค่าเช่ากัน หลักร้อย ต่อ (เว้นวรรค) ปี นะครับ เพราะว่าไม่แสวงกำไรกับประชาชนไงล่ะ ส่วนที่ให้เช่าสำนักงาน เช่น สำนักงานสหประชาชาติ (ราชดำเนิน) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ราชดำริ) ก็เก็บค่าเช่าถูกมากๆ เช่นกัน

(สำนักงาน สหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ภาพจาก http://www.un.or.th)

ค่าเช่าไปไหน? ก็นำมาปรับปรุงชุมชน หรือ สาธารณสมบัติอื่นๆต่อไป ซึ่งชุมชนในการดูแลบางแห่ง ได้รับการฟื้นฟูสร้างใหม่ หรือจัดระบบใหม่ให้สอาดสะอ้าน ซึ่งผู้เช่ารายย่อยมากมายนั้น เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและตลาด

น่าแปลกใจ ตรงที่ มีผู้เช่าอยู่อาศัยหลายคน ติดค้างชำระค่าเช่าหลายงวด โดยคิดว่า ในหลวงใจดี ยอมให้เบี้ยวค่าเช่าได้ (เพราะเขาก็ไม่รู้จริงๆว่า สนง. กับทรัพย์สินส่วนพระองค์คนละเรื่องกัน ในหลวงท่านไม่ได้เกี่ยวด้วยเล้ย) และบางคนก็คิดว่า ที่ดินที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เขาควรมีสิทธิ์ (อ้าว เข้าใจคำว่า “เช่า” หรือเปล่าเนี่ย)

8. สนง. เอาเงินมาจากไหน?

สนง.ได้เปิดบริษัทเพื่อบริหารจัดการ (โดยเสียภาษีนิติบุคคลทั่วไป) และมีการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือถือหุ้นบริษัทใหญ่ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งมีรายได้ร้อยละ 90% จากส่วนนี้ และอีก 8% จากการเก็บค่าเช่าในทรัพย์สินที่ดิน [2]

ทั้งนี้ ก็จะเห็นว่า สนง. มีการดำเนินงานด้านรายได้ส่วนหนึ่งเป็น “เอกชน” แต่มีวัตถุประสงค์การทำงานแบบ “รัฐ” จึงเป็นการดำเนินที่คล่องตัวกว่า ส่วนคุณความดีที่ได้ทำนั้น มักจะถูกมองข้าม เพราะคนสับสนว่าเป็นงานของรัฐบาลหรือของจังหวัด หรือเทศบาล ไปซะอย่างงั้น เพราะผลลัพธ์มีความคาบเกี่ยวกันอยู่ อย่างน้อย คนไทยก็จะได้ภูมิใจและสบายใจ ที่ทรัพย์สินฯที่หลายคนพูดถึง คือ กองทุนที่นำไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม และยังมีอีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึง เช่น วัฒนธรรม การศึกษา การส่งเสริมศาสนา รวมถึงโครงการในพระราชดำริ

ผู้ติดตามเสด็จท่านหนึ่งเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงให้รับซื้อสินค้าหัตถกรรมจากชาวเขาในราคาสูงกว่าปกติ โดยทรงรับสั่งว่า หากไม่ซื้อที่ราคาสูง พวกเขาจะเลือกกลับไปปลูกฝิ่น ดังนั้นจึงต้องสร้างรายได้ให้เขาในมูลค่าที่เขาจะไม่กลับไปปลูกฝิ่นอีก และพระองค์จะทรงเสื้อที่ทำจากผ้าของโครงการ และทรงถือกระเป๋าจากโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์เองออกงานต่างๆ เพื่อให้ชาวโลกได้ชื่นชมสินค้าฝีมือคนไทย

ไม่มีอะไรที่จะสรุปได้ดีกว่าคำสั้นๆ

ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

Credit: เอ็มไทยนิวส์
#ทรัพย์สิน
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
23 ธ.ค. 57 เวลา 09:39 3,303 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...