สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
สธ. เปิดสถิติรอบใน 10 ปี คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 119,615 คน เฉลี่ยปีละ 11,962 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี แนะเลิกดื่มแล้วขับ คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อก และล็อกสายรัดคาง
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องใน "วันโลกรำลึกถึงสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน" (World Day of Remembrance For Road Traffic Victims) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 องค์การอนามัยโลก หรือ UN รายงานว่า ในแต่ละปีมีประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 1.3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 ของประชากรอายุ 15-29 ปี หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข คาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1.9 ล้านคน
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย พบว่าในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2547-2556 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน รวม 119,615 คน เฉลี่ยปีละ 11,962 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี หากจำแนกตามประเภทยานพาหนะ พบว่ารถจักรยานยนต์มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด
ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งพัฒนาระบบบริการ เพื่อลดการเสียชีวิตและป้องกันความพิการจากอุบัติเหตุจราจร โดยพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลทุกแห่งให้เชื่อมโยงกัน 3 ระบบใหญ่ คือ ระบบบริการก่อนถึงโรงพยาบาล หรืออีเอ็มเอส (EMS)/การพัฒนาระบบบริการในโรงพยาบาล และการพัฒนาระบบการส่งต่อ ตั้งเป้าลดอัตราเสียชีวิตในปี 2558 ลงให้เหลือไม่เกิน 18 ต่อประชากรแสนคน ที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 22.9 ต่อประชากรแสนคน
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอให้ประชาชนไม่ขับขี่รถทุกชนิดหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในผู้ใช้รถยนต์ ขอให้คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเบาะหน้า ส่วนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องใส่หมวกนิรภัยและล็อกสายรัดคางทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากแรงกระแทกที่ศีรษะ โดยจากผลสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ในปี 2557 พบว่าอัตราการใช้หมวกนิรภัยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก