วงการบินอวกาศระส่ำ ยานระเบิด 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์

 

 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Josh Edelson / AFP

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก americaspace.com

            วงการการบินอวกาศระส่ำ หลังเกิดเหตุยานอวกาศระเบิด 2 ครั้ง ในช่วง 1 สัปดาห์ ก่อคำถาม อนาคตการบินอวกาศโลกจะเป็นอย่างไรต่อ

            นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความช็อกให้กับผู้คนทั่วโลกเลยทีเดียว กรณียานส่งเสบียงนาซาของบริษัท Orbital Science ระเบิดหลังถูกปล่อยจากฐานเพียง 6 วินาที และหลังจากนั้นเพียง 3 วัน ยานสเปซชิปทูของบริษัท เวอร์จิน แกแลคติก ก็ระเบิดกลางอากาศระหว่างทดสอบเที่ยวบินพาคนขึ้นไปชมอวกาศ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นความบังเอิญที่ 2 เหตุการณ์นี้มาเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาจริง ๆ ที่อุบัติเหตุเกี่ยวกับยานอวกาศจะเกิดขึ้นถี่เช่นนี้ และนั่นได้ทำให้เกิดคำถามต่ออนาคตของอุตสาหกรรมอวกาศเอกชนว่า อนาคตของการบินอวกาศจะมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจทัวร์อวกาศของ เวอร์จิน แกแลคติก นั้น ยังเป็นความฝันที่กลายเป็นจริงได้อยู่ไหม

            เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 เว็บไซต์เดอะเวิร์จ เปิดเผยบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญต่อกรณียานอวกาศระเบิด 2 เหตุการณ์ ภายใน 1 สัปดาห์ ชี้ยานทั้ง 2 ลำเป็นยานต่างธุรกิจ ต่างวัตถุประสงค์ ต่างชนิด ดังนั้นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอวกาศก็ต่างกันไปด้วย

            ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยานแอนทาเรส ยานส่งเสบียงนาซาของบริษัท Orbital Science นั้น เป็นยานแบบไร้คนขับ และเคยขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว แต่ไม่มีปัญหาใด ถึงอย่างนั้น แอนทาเรสก็เคยมีปัญหาด้านเครื่องยนต์มาก่อนหลายครั้ง จึงมีการซ่อมแซมไปหลายครั้งด้วย และจากการสอบสวนเบื้องต้น ทีมสืบสวนได้พุ่งเป้าไปที่ระบบการปล่อยยานขั้นแรก โดยเริ่มตรวจสอบจากจุดที่เคยมีปัญหาและได้รับการซ่อมแซมไปก่อน ซึ่งถ้าหากทาง Orbital Science ไม่สามารถหาสาเหตุของการระเบิดได้ในเร็ววันนี้ ก็อาจจะต้องใช้เวลาซ่อมแซมและเตรียมตัวสำหรับภารกิจการส่งเสบียงให้กับทางนาซาอีกนานหลายปี และนั่นอาจจะทำให้ทางนาซา ยกเลิกสัญญากับ Orbital Science ในการรับหน้าที่ส่งเสบียงของนาซาขึ้นไปบนสถานีอวกาศ

            อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ยานอวกาศระเบิดที่เกิดขึ้นดังกล่าว ดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อทาง Orbital Science เท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอวกาศเอกชนในวงกว้าง เพราะนาซาเองไม่ได้ล้มเลิกแผนที่จะส่งเสบียงไปสถานีอวกาศหลังจากนั้น มันยังเป็นเรื่องจำเป็น และหากต้องรอการสืบสวนนาน หรือ Orbital Science ยังไม่สามารถทำภารกิจนี้ให้ลุล่วงได้ นาซาก็เพียงแค่เปลี่ยนไปใช้บริการบริษัทขนส่งทางอวกาศเอกชนแห่งอื่นเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็น SpaceX ที่นาซาก็มีการทำสัญญาไว้อีกแห่ง

            นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ดูจะเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด Orbital Science ยังคงดำเนินกิจการขนส่งทางอวกาศต่อไปได้ตามปกติ เพราะยานของทางบริษัทเป็นยานขนส่งสินค้า ไม่ใช่มนุษย์ และที่ผ่านมาก็สามารถส่งยานออกไปอวกาศสำเร็จกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

            แต่สำหรับกรณีการระเบิดของยานสเปซชิปทู (SpaceShipTwo) ของบริษัทเวอร์จิน แกแลคติก นั้น ส่งผลกระทบที่แตกต่างออกไป เพราะเวอร์จิน แกแลคติก มีเป้าหมายจะดำเนินธุรกิจพา "มนุษย์" ออกไปท่องเที่ยวแตะขอบอวกาศ โดยพยายามพัฒนามากว่า 10 ปีแล้ว แต่กลับต้องเจอปัญหาใหญ่ เมื่อพอทดสอบการบินไปอวกาศเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ยานเกิดระเบิดและตกสู่พื้นโลก แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทยังพัฒนายานที่ไม่ได้มาตรฐานและยังมีข้อผิดพลาด เป้าหมายของ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของเวอร์จิน แกแลคติก ที่จะเปิดทัวร์อวกาศให้ทันในปี 2015 จึงยากที่จะกลายเป็นความจริง 

            สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนที่อยากจะไปเยือนอวกาศอย่างมาก เพราะแน่นอนว่าพวกเขาต้องการแน่ใจว่าจะได้ไปชมโลกจากมุมมองอวกาศและกลับมาอย่างปลอดภัย ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างเที่ยวบินทดสอบ ความต้องการของผู้คนก็อาจจะหดหายไปอย่างรวดเร็ว 

            ยิ่งพอย้อนกลับไปตั้งแต่การทดสอบยานสเปซชิปวัน (SpaceShipOne) เมื่อหลายปีก่อน พบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถตรวจพบก่อนได้เลย เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก โดยในช่วงทดสอบยานสเปซชิปวัน ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เวอร์จิน แกแลคติก ประสบความสำเร็จในการส่งยานไปอวกาศและกลับลงมา แต่เมื่อเดินทางกลับมาแล้วพบว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ในระบบเชื้อเพลิง ก็ได้มีการปรับระบบเชื้อเพลิงให้ดีขึ้น แต่แล้วก็กลับเกิดหายนะขึ้นดังกล่าว และเป็นหายนะที่ไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร  

            อาจกล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวอวกาศนั้น ยังไม่เป็นการเดินทางที่ปลอดภัยตามมาตรการอุตสาหกรรมการบินอวกาศในวันนี้ ดังนั้นการบ้านชิ้นโตของเวอร์จิน แกแลคติก ตอนนี้ก็คือหากจะเปิดธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ ก็ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อการันตีว่าผู้โดยสารจะไม่ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับการออกไปชมโลกจากมุมมองอวกาศสักครั้งในชีวิต

            อย่างไรก็ดี เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ก็ยังคงยืนยันว่า เวอร์จิน แกแลคติก จะไม่หยุดยั้งความพยายามที่จะพาคนไปท่องเที่ยวอวกาศ แม้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะหมายถึงการก้าวถอยหลังก้าวใหญ่ของเวอร์จิน แกแลคติก

            ขณะที่ทางด้านโรเจอร์ ลอเนียส ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์การบินอากาศและอวกาศสมิธโซเนียน ได้แสดงความเห็นว่า "การท่องเที่ยวอวกาศนั้นเป็นเหมือนการผจญภัยที่ท้าทายอย่างหนึ่ง มันดึงดูดผู้คนประเภทเดียวกับพวกที่อยากจะลองพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ และก็มีคนเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติภารกิจนี้ทุกปี"
Credit: http://hilight.kapook.com/view/110750
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...