สมาร์ตวอตช์สัญชาติจีน คิดค้นแบตฯใช้งานนาน 7 วัน
คอลัมน์หลาก&หลาย
จันท์เกษม รุณภัย
กระแสฮิตอุปกรณ์อัจฉริยะที่เป็นที่จับตามองในแวดวงไอทีตอนนี้หลีกหนีไม่พ้นบรรดานาฬิกาอัจฉริยะ หรือสมาร์ต วอตช์ ทั้งหลายที่บรรดาค่ายมือถือใหญ่น้อยเข็นกันออกมายั่วยวนให้ผู้บริโภคควักกระเป๋าเงิน
ปัญหาหลักของสมาร์ตวอชต์ ที่ผู้บริโภคกังวลและถูกนักวิจารณ์โจมตีมากที่สุด คือ แบตเตอรี่ เพราะนอกจากสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก ไปจนถึงสารพัดแก๊ดเจ็ตพกพาที่คนสมัยนี้ต้องกลับบ้านไปชาร์จทุกวัน หรือบางยี่ห้อครึ่งวันก็ต้องชาร์จแล้ว ยังลามมาถึงนาฬิกาข้อมืออัจฉริยะซึ่งคนทั่วไปใช้งานแทบจะตลอดเวลา จนเป็นอวัยวะหนึ่งสำหรับบางคนไปแล้ว ถ้าต้องมานั่งชาร์จทุกวันอีกคงไม่ไหว
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นที่นิ่งนอนใจของค่ายผู้พัฒนาสมาร์ตวอตช์ ล่าสุด ชานต้า (Shanda) ผู้พัฒนาสมาร์ต วอตช์ จากประเทศจีน เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นสมาร์ต วอตช์ 2 รุ่น ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ (โอเอส) แอนดรอยด์ของกูเกิ้ล
ประกาศจุดขายว่า ทำงานได้นานถึง 1 สัปดาห์ติดต่อกันโดยไม่ต้องเติมประจุไฟใหม่ !
สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า สมาร์ต วอตช์ ดังกล่าวชื่อว่า Geak Watch 2 ประสบความสำเร็จในการยืดระยะเวลาการใช้งานได้นานถึง 7 วัน
กุญแจสำคัญของความสำเร็จนี้มาจากการใช้เทคโนโลยีจอแบบไฮบริด คือการสลับจอภาพระหว่างจอภาพแอลซีดีที่ความละเอียดสูงแบบไฮ-เดฟินิชั่น กับจอภาพความละเอียดต่ำเพื่อประหยัดพลังงาน
Geak Watch 2 มีหน้าจอแสดงผลวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.2 เซนติเมตร (1.3 นิ้ว) มีความหนาแน่นพิกเซล 254 พิกเซลต่อตารางนิ้ว (พีพีไอ) ใกล้เคียงกับสเป๊กของสมาร์ต วอตช์ รุ่น G Watch ของแอลจีจากเกาหลีใต้ แต่ G Watch ไม่มีจอแสดงผลความละเอียดต่ำสำหรับประหยัดพลังงาน
ขณะที่ Geak watch 2 Pro แตกต่างจากรุ่นแรกตรงวัสดุที่ใช้ทำขอบและตัวเรือน จากโลหะมาเป็นพลาสติก ส่วนโอเอสนั้นใช้ Geak Watch OS ซึ่งเป็นโอเอสที่ปรุงแต่งใหม่จากแอนดรอยด์ของกูเกิ้ล จุดประสงค์หลักเพื่อใช้เข้าถึง App Store ของทางชานต้า และใช้บริการอื่นนอกจาก Google Now เนื่องจากบริการทั้งหมดของกูเกิ้ลในประเทศจีนถูกรัฐบาลจีนควบคุม
นายเบนวู้ด จาก ซีซีเอส อินไซต์ บริษัทวิเคราะห์การตลาด ระบุว่า เทคนิคการสลับจอภาพใน Geak Watch 2 ถือเป็นการคิดค้นที่ชาญฉลาดมาก โดยความท้าทายหลักของการพัฒนาสมาร์ต วอตช์ เนื่องมาจากผู้บริโภคต้องหยุดใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ทุกๆ ช่วงเวลาหนึ่งเพื่อนำไปเติมประจุไฟฟ้า ดังนั้นเทคนิคใดก็ตามที่สามารถเพิ่มระยะเวลาการใช้งานของอุปกรณ์ดังกล่าวได้ ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างแน่นอน และเป็นเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคบางส่วนนิยมใช้นาฬิกาอัจฉริยะอย่าง เพ็บเบิ้ล
บริษัทชานต้าเป็นผู้นำด้านการพัฒนาสมาร์ต วอตช์ ของจีน โดยเริ่มวางจำหน่าย Geak Watch รุ่นแรกในปี 2556 ซึ่งมีระยะเวลาการใช้งานเพียง 10-15 ชั่วโมง
มาถึงรุ่นใหม่นี้ ชานต้าทำแผนการตลาดด้วยการตอบแทนผู้บริโภคที่ซื้อ Geak Watch รุ่นแรกไปแล้ว ให้นำกลับมาแลกซื้อ Geak Watch 2 ได้ในราคาถูกลงกว่าปกติ
ชานต้าระบุว่า Geak Watch 2 ใช้งานทั่วไปและทำงานติดต่อกันได้นานกว่า 6 วัน ด้วยการชาร์จประจุไฟฟ้าเพียง 1 ครั้ง โดยระยะเวลาการใช้งานอาจสูงสุดถึง 15 วัน หากผู้ใช้เปลี่ยนเป็นโหมด Standby สนนราคาเรือนละ 1,999 หยวน หรือราว 10,000 บาท
โดยผู้ใช้เปลี่ยนโหมดไปมาได้เองด้วยการกดปุ่มพาวเวอร์ ขณะที่อีกรุ่นหนึ่ง Geak Watch 2 Pro มีระยะเวลาการใช้งานปกติยาวนานถึง 7 วัน และยาวนานสูงสุดถึง 18 วัน ในโหมด Standby สนนราคาที่ 2,499 หยวน หรือราว 13,000 บาทต่อเรือน
อย่างไรก็ตาม นายวู้ดระบุว่า ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าคุณภาพของภาพที่ได้จากจอแสดงผลแบบลูกผสมของ Geak Watch 2 ทั้งสองรุ่น จะมีคุณภาพเทียบเท่าจอภาพของแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ ในตลาดหรือไม่ แต่ถ้าคำตอบคือใช่ คาดว่าจะมีผู้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในยี่ห้ออื่นๆ อย่างรวดเร็ว
การได้เห็นนวัตกรรมมากมายคิดค้นออกมาจากจีนถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมแต่ประเทศจีนนั้นไม่ใช่ศูนย์กลางของการผลิตนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นศูนย์กลางของการขายสินค้าแบบทุ่มตลาดด้วย ซึ่งถือเป็นความท้าทายของแบรนด์เก่าๆ ที่อยู่ในตลาดแต่เดิม นายวู้ดกล่าวทิ้งท้าย