แหวกด้านมืด แฉอาชญากรรมชั่วบนโลกออนไลน์

 

เบื้องหลังสิ่งที่คุณเห็นบนโลกออน์ไลน์มันยังมีโลกอีกโลกหนึ่งซ่อนอยู่ โลกบิดเบี้ยวมี่ซ่องสุมไปด้วยความวิปริต อมนุษย์ คนค้ายา สายลับ พ่อค้ากาม และอันธพาลมาเฟีย!!!

 

 

เราทำการสืบค้น "ดีพ" ดินแดนอินเตอร์เน็ตที่ยากต่อการเข้าถึง ผ่านฉากหน้าที่อาจเห็นเป็นเพียงเว็บไซต์ปกติ หากแต่เบื้องหลังเนื้อหาเหล่านั้นอาจซุกซ่อนเต็มไปด้วย "ดีพ" แหล่งบริการซ่องสุมที่มีไว้เพื่อสนองตัณหาและความต้องการของกลุ่มคนนอกกฏหมาย

 

เว็บใต้ดินคือทุกสิ่งทุกอย่างที่โปรแกรมโยงใยเข้าไม่ถึงหรือถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์นั้นโดยประมาณ ประมาณการณ์กันว่ามันเป็นอาณาจักรเครือข่ายที่ใหญ่โตกว่าเว็บไซต์บนดินเกือบ 500 เท่า ล่องหนไร้ร่องรอย ไร้ที่มาที่ไป และนั่นก็ส่งให้มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุว่าอะไรจริงหรือเท็จ

 

 

...บริการสั่งเก็บออน์ไลน์...

 

นักฆ่าออนไลน์อาจฟังดูไม่ค่อยดึงดูดความสนใจจากสื่อเท่าไหร่ แต่มันมีอยู่จริง ชื่อของ มาริสซ่า มาร์ค (เพนซิลวาเนีย) กลายเป็นข่าวใหญ่จากกรณีใช้บริการซุ้มมือปืนออนไลน์กำจัดมารหัวใจ ทำให้เธอถูกตัดสินจำคุก 72 เดือน ภายหลังรับสารภาพว่าได้ว่าจ้างเจ้ามือโป๊กเกอร์ชื่อ อิสซาม อาห์เหม็ด อีด์ ผ่านเว็บไซต์ hitmanforhire.net

 

มาร์ค ได้ว่าจ้าง อีด์ ให้ไปเก็บเพื่อนสาวแฟนเก่าเธอ ด้วยเงิน $37,000 อีด์ ซึ่งใช้ชื่อบังหน้าว่า “โทนี่ ลูเซียโน่” เลยบึ่งรถไปแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่เพื่อไปฆ่า แต่เพื่อไปเตือนสาวเจ้าให้รู้ ตามข่าวระบุว่า รอยสเท็น ทำให้ อีด์ นึกถึงลูกสาวตัวเองมากจนทำร้ายเธอไม่ลง แต่กลับยื่นข้อเสนอให้ รอยสเท็น ว่าเขาจะเปลี่ยนไปเก็บ มาร์ค แทนถ้าเธอยอมจ่ายเงินค่าจ้างเท่ากับที่อีกฝ่ายเสนอให้… ซึ่งแน่นอนว่าเธอปฏิเสธ

 

เรื่องราวฆาตกรรมสุดน้ำเน่าเรื่องนี้อาจจบลงด้วยบทลงโทษจุ๋มจิ๋ม แต่อย่างน้อยมันก็บอกให้เราได้รู้ถึงการมีอยู่ นับวันจะเพิ่มขึ้นและง่ายต่อการเข้าถึงของเว็บชั่วอุบาทว์พวกนี้

เราพยายามสืบค้นแหล่งซุ้มมือปืนออนไลน์จนเจอ หนึ่งในนั้นโฆษณาว่าเขาสามารถเก็บกวาดเรียบร้อย ไม่มีสาวถึงตัว พร้อมคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษติดเอฟว่ารับจ้างฆ่าทั่วราชอาณาจักร แม้แต่ตำรวจ นักข่าว หรือหมาก็ไม่เว้น แต่เป้าหมายต้องอายุไม่ต่ำกว่า 16 (คุณธรรมซะไม่มี!) ปล. ต่างประเทศก็ไป แต่ต้องบวกค่าแรงเพิ่มตามนี้:

 

- คนธรรมดา 20,000 ยูโร

- คนเลวหรือคนดัง 50,000 ยูโร คนใหญ่คนโตหรือคนมีสี 100,000 ยูโร

- ปาปารัชซี่ 50,000 ยูโร นักข่าว 100,000 ยูโร

- นักธุรกิจ 50,000 - 200,000 ยูโร

ผัว/เมียมีกะตังค์ ราคาคิดตามความอู้ฟู่ของเป้าหมาย

 

 

 

...รับจ้างเก็บกวาด...

 

ระหว่างที่ค้นเว็บใต้ดิน ได้ไปเจอตัวละครรายหนึ่งซึ่งใช้นามแฝงว่า TPR เข้าโดยบังเอิญ หมอนี่อ้างว่าสามารถจัดการทำเรื่องผิดให้เป็นถูกได้: ฆ่าคนเพื่อแลกกับเงิน เราพบเขาบนเว็บแบล็ค มาร์เก็ต รีโหลด (อีกหนึ่งเว็บใต้ดินยอดนิยม) ก่อนจะส่งเมลไปหา

 

TPR ซึ่งมีแหล่งกบดานอยู่แถบอเมริกาเหนือ อธิบายตัวว่าเป็นพวกที่ “คอยเก็บกวาด” คนละอย่างกับ “ฆาตกร” เพราะผมคือคนที่มีคนนับหน้าถือตามากมายในสังคม ผมไม่ใช่คนบ้าโรคจิตหรือพวกต่อต้านสังคม ผมแต่งงานมีครอบครัวที่มีความสุขเหมือนคนทั่วไป ต่างกันแค่งานของผมคือรับจ้างเก็บกวาดคน

ซ้ำร้ายภรรยาของเขายังรู้เห็นเป็นใจไปกับเขาด้วย: “ผมไว้ใจคนๆ เดียว และคนๆ นั้นก็คือเมียผม เวลาไปเมืองนอกเราจะทำงานด้วยกัน ผมไม่มีนอกไม่มีใน ฆ่าคือฆ่า ถ้าคุณลองมองไปที่จำนวนประชากรบนโลกของเราทุกวันนี้ เจ็ดพันล้านคน คุณจะเห็นว่ามนุษย์แทบจะขี่คอกันอยู่อยู่แล้ว ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัด”

 

เขาบอกว่าดีลส่วนใหญ่จะมาจากทางอินเทอร์เน็ต แต่เอาจริงแค่ไม่กี่ราย “เป็นคุณจะเชื่อใจยอมจ่ายเงินให้พ่อค้าที่ไม่รู้หัวนอนปลายตีนมั้ยล่ะ? คนดีๆ ส่วนใหญ่ไม่ “ผมไม่อยากให้ผู้คนรู้เรื่องของเรามากนัก ให้มันรู้กันเฉพาะกลุ่มแคบๆ แบบนี้แหละดีแล้ว” และที่สำคัญคือคุณต้องรู้จักคนที่พอจะแนะนำได้: “อาชญากรจริงๆ ผมก็รู้จักทักกันอยู่ เรื่องแบบนี้มันต้องอาศัยคอนเน็คชั่น”

 

ลูกค้าเยอะมั้ย? “ปีๆ นึงน่ะเหรอ? ราวๆ 75 หรือกว่านั้น (ติดต่อผ่านออนไลน์กับส่วนตัว) ครึ่งนึงคุยไปคุยมาก็หายจ้อย” เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นใคร? “พวกคู่รักนอกใจ พวกลูกหนี้นอกระบบ และเชื่อมั้ย, ผมเคยถูกตำรวจจ้างให้ไปเก็บขี้ยาขาโหด” เก็บไปแล้วกี่ศพเคยนับไหม? “เป็นร้อยขึ้น ราวๆ นั้น ถึงวันนี้ก็ขึ้นปีที่สี่แล้วที่ผมอยู่ในวงการนี้ ขี่หลังเสือแล้วก็ต้องขี่ไปตลอด”

 

เขาส่งอีเมล์ฉบับสุดท้ายมาหาเรา: “ถ้าคุณอยากเก็บใคร...บอก บางทีเราอาจช่วยคุณได้”

 

 

 

...เน็ตมืด...

 

เครือข่ายส่วนบุคคลที่เปิดให้มีการแชร์ไฟล์แบบเพียร์-ทู- เพียร์ ดำเนินงานภายใต้โปรโตคอลไม่ซ้ำผ่านการเข้ารหัสหลายซับหลายซ้อน เครือข่ายสำหรับผู้ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตแบบล่องหนแกะรอยไม่ได้ กลุ่มคนประเภทที่ต้องการหลบเลี่ยงการสอดส่องจากทางการ พวกองค์กรอาชญากรรมใหญ่ๆ

 

เครือข่ายอย่าง ธิ ออเนี่ยน เราเตอร์ส รึ ทอร์ ซึ่งอาศัยการปรับแต่งเน็ตเบราเซอร์ในการเข้าถึง เช่น เบราเซอร์ ทอร์ ซึ่งจะใช้วิธีปิดบังสถานะเลขที่ไอพี โยกเส้นทางการเชื่อมต่อผ่านเซอร์เวอร์อิสระที่มีอยู่ทั่วโลก กลบรอยเท้าดิจิตอล กระทั่งหมดสิทธิ์ที่ใครจะมาตามแกะรอยหรือสาวถึงตัวหรือต้นตอ

 

เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นช่องทางสำหรับกลุ่มคนที่ถูกทางการหมายหัว หรืออาศัยอยู่ในประเทศที่ถูกปิดกั้นจำกัดเสรีภาพและพื้นที่แสดงออก ทอร์ คือเครื่องมือหลักที่กลุ่มผู้ประท้วงในแอฟริกาเหนือใช้ รวมถึงตะวันออกลางในช่วงอาหรับสปริงก์ เรื่อยไปจนถึงพวกพ่อค้าอาวุธ ค้ายา ค้ากาม การสืบค้นเว็บใต้ดินและเว็บมืดเหล่านี้เป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลา และไม่แน่นอน (วันนี้เข้าได้แต่วันพรุ่งไม่รู้) ซ้ำโปรแกรมสืบค้นยังทำออกมาอย่างลวกๆ  และหนึ่งในแหล่งเว็บใหญ่ในนั้นก็คือ ฮิดเดน วิคกี

 

ฮิดเดน วิคกี โดยหลักการแล้วก็คือหน้าฟร้อนท์เพจ ทอร์ นั่นเอง อาศัยผู้ใช้เป็นตัวกลางในการเผยแพร่ ส่งต่อ กระจายจ่ายแจกมันผ่านลิงค์ไปยังหน้าเว็บที่น่าสนใจต่างๆ ในแวดวงเว็บใต้ดิน ทุกการเบราส์จะต้องผ่านระบบเชิงซ้อนที่เรียกว่า “ออเนียนเราเตอร์” บน ฮิดเดน วิคกี คุณจะสามารถค้นหาหน้าโฆษณาบริการนอกกฎหมายต่างๆ ทั้งมือปืน นักเจาะระบบ เครือข่ายก่อการร้าย ข่มขู่วางระเบิดแทนคุณ ตลอดจนบริการเซ็กซ์ทุกรูปแบบเท่าที่คุณจะนึกภาพออก

 

นอกจากนั้นยังมีเว็บไซต์ ซิลค์ โรด หรือ อีเบย์ใต้ดิน สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายยาจากผู้ค้ารายย่อย มันมีเงินหมุนเวียนต่อปีไม่ต่ำกว่า $22 ล้าน และพบว่ามันมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพียงแค่ปีที่แล้วปีเดียวเว็บไซต์นี้ฟันกำไรไปถึง $1.7 พันล้าน

 

คุณหาซื้อทุกอย่างได้ผ่าน ซิลค์ โรด ตั้งแต่ใบสั่งยาแพทย์ เฮโรอีนเมดอินอัฟกาน จนถึงพาสปอร์ตปลอม ง่ายๆ เพียงนิ้วคลิก แถมยังมีกระบวนการสั่งซื้อ-จัดส่งแบบเดียวกับอีเบย์ทุกอย่าง ด้วยจำนวนผู้ขายกว่า 500 ราย กับอาศัยฟีดแบ็คจากผู้ซื้อในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีการซื้อขายสิ่งของผิดกฎหมายทุกอย่าง ไล่ตั้งแต่หมายเลขเครดิตการ์ด ปืน แบงค์ปลอม บริการสั่งเก็บ และเซ็กส์เด็ก

 

 

 

...เซ็กส์วิปริต...

 

ฌอน คิทเท่น พาเลซ คือหนึ่งในหลายเว็บไซต์ที่จัดหาสื่อกามสนองความต้องการของพวกตัณหากลับ ไล่ตั้งแต่รูปโป๊ฮาร์ดคอร์ วิดีโอซาดิสต์ประเภทเลือดจริง/ตายดิ้นเห็นๆ ประกอบตัวการ์ตูนดิสนีย์น่ารักๆ พร้อมคำอธิบายบนหน้าเว็บไซต์ว่า: “เว็บทอร์เรนต์สำหรับสื่อเนื้อหารุนแรง (เลือดจริง ชำเราสัตว์ สารคดีชวนตะลึง และหนังดิสนีย์)”

 

มันไม่มีเนื้อหาอะไรบนเว็บบอร์ดเหล่านี้ ที่คุณหาดูไม่ได้จากเว็บบนดินทั่วไปถ้าจะว่าและหากันจริงๆ ด้วยเพราะกฎหมายเอาผิดไม่ได้ เว็บช็อคอย่าง Rotten.com, Orish.tv และ Documentingreality.com ก็มีอยู่มาเป็นสิบๆ ปี ใครก็สามารถคลิกเข้าไปดูได้ขอแค่มีสัญญาณเน็ต ต่างกันแค่เว็บใต้ดินจะไม่สามารถแกะรอยได้

 

ซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนจึงเลือกที่จะเข้าไปดูเว็บไซต์อนาจารเหล่านี้ผ่านช่องทางใต้ดิน จาก ฮิดเดน วิคกี, เว็บดาร์คเน็ต, ทอร์ ถึงรูปโป๊เด็กฮาร์ดคอรื มันห่างกันไม่เกินสองคลิก เข้าไปดูเข้าไปแชร์ได้โดยไม่ต้องกลัวใครจะสาวถึง ลองถ้าวิชาแก่กล้าจริง เหมือนที่ โจเอล ฟัลคอเนอร์ บก. ฟีเจอร์จากเว็บไซต์อินเตอร์เทค เธอะเน็กซ์เว็บ ว่าไว้: “มันตอกย้ำให้เราพึงสำเหนียกว่า มนุษย์มีทั้งมุมสว่างแล้วก็ด้านมืด”

 

สื่อกามารมณ์ออนไลน์เป็นชุมชนที่ใหญ่ โดยอาศัยเว็บไซต์ ฮิดเด่น วิคกี เป็นเหมือนชุมทาง ดังเช่นวันที่ 20 ตุลาคม 2011 เมื่อยอดคนดูเพจในส่วนเว็บโป๊อนาจารเด็ก ฮาร์ด แคนดี้ พุ่งสูงถึง 2,055,701 วิว ขณะที่ยอดวิวหน้าเมนเพจของ ฮิดเดน วิคกี คือ 2,677,430 หรือคิดเป็นกว่า 75%

 

 

 

...สู้เพื่อลูกหลาน...

 

ทว่าจากนั้นก็เกิดกระแสตอบโต้กลับอย่างรุนแรง ตุลาคม 2011 กลุ่มแฮ็คเกอร์ที่เรียกตัวเองว่า แอโนนีมัส ได้ก่อปฏิบัติการโจมตีเว็บไซต์ใต้ดินโดยพุ่งเป้าไปที่เว็บโป๊ โลลิต้า ซิตี้ ปฏิบัติการภายใต้ชื่อ “โอเปอเรชั่น ดาร์คเน็ต” หรือ อ็อปดาร์คเน็ต ภารกิจคือเปิดโปงและประจานความเลวของผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ดูทั้งหลาย โดยเป็นการโจมตีในลักษณะก่อกวนเครือข่าย (DDoS) กล่าวคือ ด้วยการโอเวอร์โหลดปริมาณการใช้เซอร์เวอร์เป้าหมายอย่างหนักจนเว็บล่ม

 

ในแถลงการณ์ของทางกลุ่มได้สรุปผลการปฏิบัติการไว้ทั้งหมด หลังการถล่มลิงค์ไปยังเนื้อหาจากหน้าเพจของ ฮิดเดน วิคกี ภายในห้านาทีลิงค์ดังกล่าวก็ถูกแอดเข้ามาใหม่ ทางกลุ่มพบว่ากว่า 95% ของบรรดาเว็บโป๊ที่ถูกตรวจพบระหว่างการโจมตีล้วนมีแหล่งต้นทางแหล่งเดียว: เว็บไซต์แม่ข่าย ฟรีดอม โฮสติงก์ ซึ่งทางกลุ่มก็ได้ออกคำเตือนไปยัง ฟรีดอม โฮสติงก์ ให้ปลดเว็บออกจากเซอร์เวอร์ และเมื่อถูกปฏิเสธพวกเขาจึงได้ส่ง ดีดีโอเอส ถล่มแม่ข่ายจนล่มไปชั่วขณะ

 

กลุ่ม แอโนนีมัส ได้ออกคำเตือนถึงการโจมตีระลอกใหม่ หนนี้ภายใต้โค้ดรหัส “คริส แฮนเซ่น” – ตามชื่อผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ชาวอเมริกันเจ้าของรายการ เดทไลน์ เอ็นบีซี, และ ทู แคทช์ อะ พรีเดเตอร์ การโจมตีครั้งนั้นส่งผลให้เซอร์เวอร์ของ ฟรีดอม โฮสติงก์ ถึงกับจมอยู่ใต้กองเนื้อหารายการ ทู แคทช์ อะ พรีเดเตอร์ ที่ขึ้นข้อความว่าเนื้อหาไม่เหมาะสม

 

ผลจากการโจมตีครั้งนั้นทางกลุ่มสามารถกำจัดเว็บไซต์อนาจารไปได้กว่า 40 แห่ง แอโนนีมัส ระบุในแถลงการณ์ว่า “หนึ่งในนั้นคือ โลลิต้า ซิตี้ หนึ่งในเว็บอนาจารแหล่งใหญ่ ประกอบด้วยเนื้อหาภาพโป๊เปลือยกระทำอนาจารเด็กกว่า 100GB” สามวันให้หลัง แอโนนีมัส ก็ปล่อยชื่อผู้ใช้เว็บดังกล่าวจำนวน 1,589 รายนาม จนเป็นเหตุให้ เอฟบีไอ กับทางตำรวจสากลต้องเข้ามาสืบสวน

 

บทส่งท้ายการโจมตีคือ การใช้โปรแกรมปรับแต่ง ทอร์บัตตัน (โปรแกรมเสริมปิดบังสถานะ) สำหรับ Firefox ชื่อ “เธอะ ฮันนี่ พอว์ท” ซึ่งจะทำการบันทึกข้อมูลผู้ใช้ทันทีที่คนเหล่านั้นกดคลิกเข้าเว็บ ฮาร์ด แคนดี้, วิคกี หรือโลลิต้า ซิตี้ ภายใต้ชื่อปฏิบัติการณ์ “โอเปอเรชั่น พอว์ พริทติ้งก์” ซึ่งกินระยะเวลา 24 ชม. ตกข้อมูลและเลขที่ไอพียูเซอร์ไปได้ 190 ราย

 

ปฏิบัติการ โอเปอเรชั่น ดาร์คเน็ต ไม่ได้พุ่งเป้าการโจมตีไปที่กิจกรรมนอกกฎหมายทั้งหมดภายในเว็บใต้ดิน แต่เป็นเฉพาะเว็บโป๊อนาจาร กระทั่งพฤษภาคม 2012 กลุ่มแอโนนีมัสก็ได้เปิดฉากการโจมตีระลอกใหม่ภายใต้ชื่อ อ็อปดาร์เน็ตวีทู เป้าหมายคือเว็บไซต์กินเด็กชื่อ ไคนด์ซาซาชาน ในแถลงการณ์ทางกลุ่มได้ระบุถึงการโจมตีครั้งนี้ว่า “เราขอเตือนไปยังพวกตัณหากลับทั้งหลาย เราจะตามล่าพวกคุณ” ผลของการโจมตีส่งให้มีข้อมูลผู้ใช้รั่วไหลไปถึง แพสท์บิน เว็บแอพพลิเคชั่นที่ใช้เพื่อจัดเก็บรหัสต้นทาง

 

 

 

...อิสรภาพและกลลวง...

 

พวกตัณหากลับ คลั่งกาม สะสมหนังโป๊ ไม่เพียงจะเป็นคนเลวที่ใช้เว็บใต้ดินหาประโยชน์ รัสเซียน บิสเนส เน็ตเวิร์ค (อาร์บีเอ็น) คือองค์กรอาชญากรรมไซเบอร์ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ใน เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ก่อตั้งโดยหนุ่มวัย 24 ที่ใช้นามแฝงว่า ฟลายแมน อาร์บีเอ็น อาจมีอายุขัยเพียงช่วงสั้นๆ แต่ก่อวีรกรรมไว้หนักหนา ตลอดสองปีนับจาก 2006-2007 อาร์บีเอ็น ได้เข้าไปมีส่วนในคดีฉกข้อมูลบัตรเครดิตทั่วโลกกว่า 50% และอาชญากรรมในโลกไซเบอร์อีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ทั้งยังมีสัมพันธ์แนบชิดกับเครือข่ายแก๊งมาเฟียในรัสเซีย ด้วยการเป็นตัวกลางจัดตั้ง เว็บโฮสติงก์ ไว้รองรับกิจกรรมนอกกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสแปม การโจรกรรม และสื่อลามกอนาจาร ถึงปลายปี 2007 พวกเขาก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีใครรู้ว่าทั้งหมดไปไหน

 

ทอร์ เน้นให้บริการกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการจำกัดอิสรภาพทางอินเทอร์เน็ต ด้วยการหาช่องทางที่ปลอดจากการติดตามแกะรอย เปิดเสรีทางการเผยแพร่และแสดงออก เพื่อหลีกเลี่ยงกลไกสอดส่องจากรัฐบาล และยังถูกใช้โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวใน ซีเรีย เพื่อแชร์ข้อมูล ภาพวิดีโอ และรูปถ่ายออกไปยังนอกประเทศ เพื่อเปิดเผยความเลวร้ายและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงให้ทั่วโลกรับรู้

 

รัฐบาลทั่วโลกพยายามหาทางสกัดและหยุดยั้งประสิทธิภาพของโปรโตคอลปิดบังสถานะ ทอร์ เช่นล่าสุด เมื่อ เอธิโอเปีย ซึ่งว่ากันว่ามีระดับการเซ็นเซอร์และปิดกั้นสื่อพอๆ กับอิหร่านและคาซัคสถาน เลือกใช้วิธีบล็อคซอฟต์แวร์ทอร์ รึอย่างใน จีน ที่มีการแทรกแซงและครอบงำสื่อ (จนครั้งหนึ่งเคยนำไปสู่การลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกลุ่มเคลื่อนไหวฟรีธิเบต) ตลอดจนออกมาตรการปิดกั้นและเซ็นเซอร์ออนไลน์ต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึง ทอร์

 

 

 

...อนาคตจะไปทางไหน?...

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างของเว็บใต้ดิน มันคือสถานที่ที่หยิบยื่นอิสรภาพทางการแสดงออก ทว่าการปกปิดสถานะตัวตนของมัน ก็กลายเป็นคมหอกคมดาบที่ย้อนกลับทิ่มแทงบ่อนทำลายชุมชนแห่งนี้

 

แต่ด้วยกระแสการจำกัดเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นจากรัฐบาลทั่วโลก การหลบลี้ลงเว็บใต้ดินจึงกลายเป็นทางออกจำเป็น ต่อกรณีนี้ โจเอล ฟัลคอเนอร์ ได้ตั้งข้อสรุป ถึงเสรีภาพทางการสื่อสารอย่างเป็นอิสระบนอินเทอร์เน็ต ไว้ว่า:

 

“ใช่, โลกด้านมืดบนอินเทอร์เน็ตได้เผยให้เห็นถึงความต่ำช้าสามานย์ในใจมนุษย์ มันไม่ใช่เรื่องดี แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องที่ผู้คนใช้มันเพียงเพื่อหวังผลิต เสพ และกระทำเรื่องแบบนี้ แต่เราจะไปเหมารวมหาว่าอินเทอร์เน็ตมันชั่วหมดก็ไม่ได้ เหมือนกับอีกหลายๆ เรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ปฏิเสธว่าอินเทอร์เน็ตมีข้อเสีย แต่ประโยชน์ที่เราได้จากมันก็มีมหาศาล เผลอๆ จะมากกว่าซะด้วยซ้ำ”

 

มนุษย์จะเป็นตัวกำหนดและตัดสินเองว่า อินเทอร์เน็ต จะเป็นกงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือตัวประจานด้านมืดในตัวเรา

 

 

 

...เงินสกุลมืด...

 

เพื่อประกันความไร้ตัวตน ทุกธุรกรรมภายในเว็บใต้ดินจะกระทำกันภายใต้สกุลเงิน บิทคอยน์ ซึ่งถูกออกแบบและสร้างขึ้นในปี 2008 โดยชายที่ใช้ชื่อว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ตัวตันที่แท้จริงของเขาหรือกลุ่มคนผู้อยู่เบื้องหลัง

 

มันถูกออกแบบมาเพื่อตัดปัญหาเรื่องอำนาจการถือครอง เป็นต้นว่า ธนาคารหรือรัฐบาล บิทคอยน์ อาศัยการล็อกธุรกรรมฐานเพียร์เพื่อบันทึกและทวนสอบธุรกรรมนั้นๆ กระทั่งกลายเป็นสกุลเงินทางเลือกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ $30 ต่อหนึ่งบิทคอยน์ แต่ปัญหาคือมันค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาวะเงินเฟ้อ ผันผวน และขาดเสถียรภาพ

 

บิทคอยน์ ถูกจัดเก็บภายใต้ความปลอดภัยขั้นสูง มีพาสเวิร์ดป้องกัน ถือเป็น “กระเป๋าตังค์” ดิจิตัล ที่คุณสามารถใช้ดำเนินธุรกรรมได้โดยปราศจากแหล่งที่มาที่ไป แต่หากทำกระเป๋าสตางค์ใบนี้หาย หรือลืมพาสเวิร์ด นั่นจะเท่ากับหายนะ เพราะมันจะหายลับไม่กลับมา หมดสิทธิ์กู้พาสเวิร์ด แล้วก็ไม่รู้จะไปแจ้งหรือร้องเรียนเอากับใคร

 

**************************

Credit: http://www.fhm.in.th/SECTION-FEATURES/ARTICLE/READ-Dark-Web-features-FHM132/
28 ต.ค. 57 เวลา 21:49 2,422 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...