แกรนด์ แคนยอน ฟ้าผ่าปีละหลายหมื่นครั้ง! อยุ่ที่แจ้ง เอาตัวให้รอด

ข่าวสะเทือนใจในช่วงสองวันที่ผ่านมา เห็นจะไม่พ้นประเด็นคนไทยถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตที่แกรนด์ แคนยอน รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ข่าวนี้บีบหัวใจผู้อ่านตรงที่ผู้เสียชีวิต 2 รายนั้น เพิ่งฉลองวิวาห์ไปเมื่อ 12 ก.ค.2556 ที่ผ่านมา แถมฝ่ายชายยังเป็นบุคลากรทางด้านการศึกษา "ดร.อารัมภ์ กาวีวงศ์" อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่ภรรยาสาวเป็นหมอ "ทันตแพทย์หญิง รัชยา ตันตรานนท์" โดยทั้งคู่อยู่ในวัย 30 ปีเท่ากัน 

เมื่อข่าวนี้ถูกรายงาน หลายคนที่เคยมีประสบการณ์เดินทางไปท่องเที่ยวยังแกรนด์ แคนยอน จุดเกิดเหตุแบ่งปันข้อมูลว่า สถานที่ดังกล่าวมักเกิดปรากฎการณ์ฟ้าฝ่าอยู่เป็นประจำ 

สำหรับข้อมูลจากอุทยานแห่งชาติ แกรนด์ แคนยอน สหรัฐ เปิดเผยไว้ว่า ช่วง ค.ศ.1997-2000 เกิดฟ้าผ่าที่แกรนด์ แคนยอน นับได้ 104,294 ครั้ง หรือเฉลี่ย 26,073 ครั้งต่อปี ด้วยความถี่มากมายเช่นนี้ จึงมีการออกประกาศเตือนระวังอันตรายจากฟ้าผ่า โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

อย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ทำให้เกิดความสงสัยว่า ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุใดที่แกรนด์ แคนยอน จึงเกิดฟ้าผ่าอยู่บ่อยๆ การสืบค้นข้อมูลเรื่องฟ้าผ่า พบว่า อ.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวไว้ในงานเสวนา "ฟ้าผ่า ภัยธรรมชาติที่มาพร้อมฤดูมรสุม" ซึ่งเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์เผยข้อมูลนี้ไว้ 

ใจความสำคัญของการเกิดฟ้าผ่า อ.สธน เผยไว้ว่า "เกิดจากเมฆคิวมูโลนิบัสหรือเมฆฟ้าคะนอง เมื่อหยดน้ำในเมฆมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถต้านแรงดึงดูดของโลกไว้ได้ จะเริ่มตกลงสู่พื้นดิน เป็นกระแสอากาศไหลลง (Downdraft) การเกิดทั้งกระแสลมพัดขึ้นและลงนี้จะทำให้เกิดการแยกประจุบวกและลบภายในก้อนเมฆขึ้น โดยด้านบนของเมฆจะเป็นประจุบวกและด้านล่างซึ่งเป็นฐานเมฆจะเป็นประจุลบ แต่เนื่องจากฐานเมฆอยู่ใกล้กับพื้นดินมาก จึงเกิดการเหนี่ยวนำให้สิ่งของต่างๆ ทั้งต้นไม้บ้านเรือน ตึก คน บริเวณใต้ฐานเมฆเป็นประจุบวก ประจุลบที่ฐานเมฆจะเคลื่อนที่ลงมายังพื้นดินที่เป็นประจุบวก เกิดเป็นฟ้าผ่าขึ้นในที่สุด" 

ด้วยสภาพของแกรนด์ แคนยอน เป็นสถานที่กลางแจ้ง มีโขดหิน ลานหิน ผาหิน ถือว่าเข้าข่ายเป็นที่โล่งแจ้งจึงมักเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าเป็นประจำ 

จะว่าไปปรากฏการณ์ฟ้าผ่าไม่ไกลตัวบ้านเรา เพราะกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าถึง 46 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้าผ่ามีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 30 โดยมีสาเหตุจากหัวใจหยุดเต้นด้วยกระแสไฟฟ้าแรงสูง ช็อกทันที 

เมื่อเป็นเช่นนี้ กรมควบคุมโรคจึงออกคำแนะนำเพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า เริ่มจากหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ในขณะฝนตกฟ้าคะนอง หรือสวมใส่อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทั้งทองคำ เงินทองแดง นากและสร้อยโลหะ หากจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรนั่งหมอบ ย่อตัวให้ต่ำและชิดกับพื้นให้มากที่สุด แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้าผ่าลงที่สูง 

ต่อมาห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์สาธารณะ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อไฟฟ้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้ 

ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือยู่ใกล้ประตู หน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสื่อไฟฟ้าต่างๆ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ 

กรณีอยู่ในรถ ควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง การหลบอยู่ในรถจึงปลอดภัยที่สุด เพราะโครงสร้างรถยนต์เป็นโลหะนำไฟฟ้าที่ไม่ดีนัก จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้. 

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์ 

 

ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2556

Credit: ครูบ้านนอกดอดคอม
#วิทยาศาสตร์
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
27 ต.ค. 57 เวลา 10:13 1,426
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...