ย้อนรอย ต้นกำเนิดของส้วมเมื่อหลายพันปีก่อน

 

 

 

 

 

วันนี้ทีนเอ็มไทยชวนเพื่อนๆ ให้มาย้อนรอย ต้นกำเนิดของส้วมเมื่อหลายพันปีก่อน กันค่ะ ฟังชื่อแล้วอย่าเพิ่งร้องอี้ นะคะ เพราะคอนเฟิร์มว่าเรื่องราวที่มาที่ไปของส้วมนี้ น่าสนใจมากเป็นเหมือนประวัติศาสตร์แปลกๆ หน้าหนึ่งได้เลยทีเดียว อิอิ เกริ่นมาขนาดนี้แล้ว ชักน่าสนใจขึ้นมาแล้วใช่ไหมคะ ถ้างั้นอย่ารอช้าไปติดตามกันเลย…

ส้วม

ย้อนรอย ต้นกำเนิดของส้วมเมื่อหลายพันปีก่อน

เรื่อง “ส้วม” สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ผศ.อุดร จารุรัตน์ บรรณาธิการต่วยตูนพิเศษ อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวบรวมและเรียบเรียงไว้เป็นความรู้ว่า

ชาติที่มีอารยธรรมในด้านการขับถ่ายครั้งอดีตไม่มีใครเกินโรมัน จากซากเมืองเมอริดาในสเปน ที่ชนโรมันสร้างไว้ ยังมีหลักฐานเด่นชัดอยู่ด้านหลังของโรงละครแห่งหนึ่ง เป็นสุขากลางแจ้งที่มี ๒๕ ที่นั่งตั้งอยู่เหนือท่อระบายน้ำใหญ่ของเมือง พออึหล่นปุ๊ลงไป น้ำเบื้องล่างก็จะพัดพาเอามันไป

ที่นั่งเดิมนั้นเป็นหินตั้งอยู่ในกรอบโลหะ แต่ทางการได้บูรณะโดยหล่อด้วยคอนกรีต เบื้องหน้าของแถวที่นั่งมีรางน้ำทำด้วยหินอ่อน ชาวโรมันจะใช้ไม้ติดฟองน้ำยื่นลงไปจุ่มน้ำในรางแล้วยกมาใช้ชำระก้น

โรมันรู้จักการนำน้ำจากบนเขาสูงโดยใช้รางลำเลียงลงมา เรียกว่าระบบอาควีดักต์ (Aqueduct) ระบบท่อน้ำจ่ายน้ำในเมอริดามีความยาวทั้งสิ้น ๕ กิโลเมตร

หลังจากล่มสลายของอาณาจักรโรมัน ชนชาวยุโรปก็ทอดทิ้งคุณค่าที่โรมันสร้างสรรค์ไว้อย่างสิ้นเชิง ทั้งที่งานสุขาภิบาลเหล่านี้โรมันสร้างไว้ให้เห็นเกือบทุกหนแห่ง แม้แต่ที่บริเวณกำแพงเมืองฮาเดรียนในบริเทนก็มีสุขาเหลือซากอยู่ และชนบริเทนหรืออังกฤษก็มิได้ใส่ใจบำรุงรักษา ปล่อยให้แตกหักไร้ประโยชน์ ยุโรปทั้งหมดหันกลับไปหาวิธีถ่ายทุกข์แบบเดียวกับที่ใช้ในยุคมืด คือนับเป็นเวลานานยาวถึงพันปีหลังยุคโรมันที่พวกเขาออกไปปลดทุกข์ในพื้นนาพื้นสวน เหมือนที่คนไทย “ไปทุ่ง” นั่นเอง

จวบจนเข้าสู่ยุโรปสมัยกลาง จึงเริ่มการสร้างสุขาให้เห็นบ้าง หลักฐานสมัยศตวรรษที่ ๑๓ การขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จะระบายทิ้งลงตามช่องกำแพงเมือง ซึ่งเรียกเป็นภาษานอร์มันว่า “การ์เดโรบส์” (Garderobes) ความหมายเดิมคือที่ใช้เก็บเสื้อผ้า โดยคิดกันว่าก๊าซแอมโมเนียจากปัสสาวะนั้นมีประโยชน์ในการขับไล่ตัวมอดตัวแมลงต่างๆ ไปจากผ้าไหมและผ้าขนสัตว์ของขุนนางเจ้าของปราสาท

การ์เดโรบส์มักจะมีที่นั่งถ่ายเป็นกรอบไม้ ข้อเสียของการระบายคือทำให้เบื้องล่างของผนังกำแพงเหม็นคลุ้ง ส่งกลิ่นขึ้นมายามนั่งถ่ายโดยเฉพาะหน้าร้อน ส่วนหน้าหนาวก็มีลมพัดขึ้นมาทำให้ก้นเย็นฉียบ เมื่ออุจจาระกองสุมกันเป็นเนิน ก็จะมีคนจัดการเอาพลั่วตักใส่ถังไปทิ้งที่อื่น

จนถึงสมัยทิวดอร์ เริ่มมีการใช้ส้วมตามบ้านคนรวย แต่ก็ยังไม่ถูกสุขลักษณะและมีกลิ่นเหม็นอยู่ดี นั่นคือมีลักษณะเป็นส้วมหลุมที่ขุดลงไปในดิน อาจมีก่ออิฐกันหลุมพัง ส่วนที่นั่งถ่ายก็เป็นแบบหยาบๆ เจาะเป็นรูแล้วถ่ายอุจจาระตกลงไปในหลุมโดยตรง เมื่อหลุมเต็มก็ต้องขนถ่ายปฏิกูลเบื้องล่างออกไปเป็นคราวๆ ที่มีการระบายดีกว่าและปราศจากกลิ่นเหม็นได้แก่บ้านในชนบททางตอนเหนือของเวลส์

สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้ลำธารจะปลูกสร้างคร่อมทางน้ำ ใช้กระแสน้ำเป็นตัวพัดพาอุจจาระให้ลอยหรือชะไป แต่ก็น่าจะคำนึงถึงบ้านหรือชุมชนที่อยู่ทางท้ายน้ำซึ่งต้องใช้ลำธารในการอุปโภคเช่นกัน

เซอร์ จอห์น ฮาร์ริงตัน

สำหรับส้วมทันสมัยรุ่นแรกๆ กำเนิดขึ้นในปี ๑๕๙๔ ออกแบบสร้างโดย เซอร์ จอห์น ฮาร์ริงตัน ส้วมนี้มีถังเก็บน้ำอยู่เหนือที่นั่ง เมื่อยกก้านวาล์วจะมีน้ำชำระพุ่งลงมาอยู่ในโถ พออึเสร็จก็ยกก้านอันที่สอง น้ำและอุจจาระในโถก็จะระบายลงสู่หลุมเบื้องล่าง และนี่อาจเรียกได้ว่า เป็นส้วมระบบชักโครก (Flush toilet) อันแรกของโลก ฮาริงตันประดิษฐ์ส้วมชนิดนี้เพียง ๒ ชุด ชุดหนึ่งสำหรับตนเอง และอีกชุดถวายแด่แม่ทูนหัวของเขา คือ สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ ๑

กระทั่งอีก ๑๗๐ ปี ต่อมา ค.ศ. ๑๗๗๕ ช่างทำนาฬิกา อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ได้จดลิขสิทธิ์ส้วมชักโครกเป็นรายแรก โดยใช้คอห่านเพื่อป้องกันกลิ่นมิให้ย้อนขึ้นมา แม้จะมีวาล์วระบายทิ้งจากโถ แต่ก็ใช้งานไม่ค่อยดี บางทีอุจจาระลอยสวนขึ้นมาทำให้มีกลิ่น และท่ออุดตัน งานของคัมมิงส์ได้รับการพัฒนาปรับปรุงขึ้นในปี ๑๗๗๘ โดย โจเซฟ บรามาห์ ด้วยการติดตั้งวาล์วกระดกที่ปล่อยน้ำชำระแบบอัตโนมัติ ทำให้การระบายของเสียหมดจดขึ้น และมีน้ำขังอยู่ในโถตลอดเวลา เป็นการดักกลิ่น

ผลงานชิ้นนี้เป็นที่นิยมใช้กันยาวนานกว่า ๑๕๐ ปี มีการติดตั้งในสถานที่ราชการ รวมถึงวังเวสต์มินสเตอร์ และมีผู้ขนานนามว่าเป็น “โรลล์ซรอยส์แห่งส้วม” กระนั้นก็ยังมีชนผู้ดีอีกมากที่ยังคงใช้หม้ออุจจาระตามเดิม ชนชั้นสูงมีโถอุจจาระประจำไว้แม้แต่ในห้องดินเนอร์ โดยเก็บในตู้ถ้วยชาม

ล่วงเข้า ค.ศ.๑๘๘๐ จึงมีผลิตภัณฑ์ส้วมชักโครกสำเร็จรูปยูนิทาส (Unitas) ออกจำหน่าย ทำด้วยเซรามิกรูปทรงสวยงามแบบชิ้นเดียว โดยซ่อนคอห่านไว้ภายในมิดชิด ไม่รั่วไม่ซึม และด้วยการผลิตปริมาณมากจึงราคาถูก ขายดีนับล้านชุดทั่วโลก

ปี ๑๘๕๔ จอร์จ เจนนิงส์ ออกแบบส้วมสาธารณะสำหรับชาวลอนดอนทั่วไปใช้โดยเสียเงิน ๑ เพนนี เลยเกิดเป็นสำนวน ไปจ่ายหนึ่งเพนนี (to spend a penny) เวลาจะไปส้วมสาธารณะ ราคานี้ใช้อยู่จนถึง ค.ศ.๑๙๗๑ นับว่าน่าทึ่งที่คงอยู่ยาวนานถึง ๑๒๐ ปี เมื่อโถส้วมเซรามิกเก็บท่อไว้ภายในไม่รุงรัง ผู้ผลิตก็เริ่มแข่งขันในด้านออกแบบให้เตะตาน่าจูงใจ เช่น เป็นรูปชามซุป เป็นรูปปลา ส่วนโถฉี่ของสุภาพบุรุษซึ่งมักเป็นรูปกลมเพื่อกันกระเด็นก็อาจออกแบบเป็นรูปลูกกอล์ฟเช่นในอัมสเตอร์ดัม หรือที่โตเกียวก็มีโถฉี่ที่เชิญชวนให้ฉี่ลงไปดับไฟ

ส่วนการชำระล้าง ผู้คนใช้วัสดุแปลกๆ แตกต่างกันไป ตั้งแต่หญ้า ขนเป็ด ขนไก่ ซังข้าวโพด บางคนคุ้นเคยกับการใช้เปลือกหอยซึ่งแข็งบางจับถนัดถนี่กว่า กระทั่งปี ๑๘๕๗ โจเซฟ คาเยตตี้ ชาวอเมริกัน จึงประดิษฐ์กระดาษชำระให้ใช้กัน แต่ก็ยังมีผู้คนอีกมากที่นิยมใช้น้ำชำระล้าง เช่นเดียวกับวิธีการนั่งถ่าย ทุกวันนี้ก็ยังแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถนัดแบบนั่งบนขอบโถชักโครก แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบนั่งยองๆ

จุงโก โคบายาชิ สถาปนิกโถส้วมชาวญี่ปุ่น กล่าวว่า เขาจะออกแบบให้มีส้วมนั่งยองไว้อย่างน้อยหนึ่งที่ในศูนย์การค้าสำหรับลูกค้าสูงอายุ และคิดค้นวิธีการสร้างเสียงชักโครกโดยไม่มีน้ำไหลสำหรับลูกค้าหน้าบางที่ชอบกดชักโครกกลบเสียงไม่พึงประสงค์ การอำนวยความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับชาวญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้จึงมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการให้ที่นั่งส้วมอบอุ่นก่อนจะหย่อนก้นลงไปนอกจากนี้ยังมีปุ่มกดให้มีน้ำฉีดพุ่งออกมาชำระล้างก้นโดยไม่ต้องใช้มือให้เปรอะเปื้อน

ส้วมที่ถูกสุขลักษณะมีส่วนช่วยลดโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มูลนิธิบิลกับเมลินดา เกตส์ จึงจัดตั้งทุนสำหรับผู้ค้นคิดพัฒนาส้วม เช่น มหาวิทยาลัยเดลฟต์ ในเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในองค์กรที่ได้รับทุน กำลังค้นคิดติดตั้งอุปกรณ์ที่จะไมโครเวฟอุจจาระให้เกิดก๊าซเร็วขึ้น และนำก๊าซไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือน โอ้โฮ้วเรื่องของส้วมนี่เข้มข้นและมีที่มาอย่างยาวนานจริงๆ เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า ส้วมจะต้องถูกพัฒนาให้มีความทันสมัย และสะดวกสบายมากขึ้นกว่านี้อีกแน่ๆ ยังไงก็อย่าลืมติดตามวิวัฒนาการของส้วมกันต่อไปนะคะ

ข้อมูลและภาพ : sookjai.com

Credit: http://teen.mthai.com/variety/81407.html
27 ต.ค. 57 เวลา 07:47 1,539 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...