เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ข่าวสด
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก พบตุ๊กแกบินได้ เป็นครั้งแรก คาดเป็นตุ๊กแกบินหางแผ่น สัตว์ป่าคุ้มครอง
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก จับสัตว์เลื้อยคลานประหลาดชนิดหนึ่งได้บริเวณลานกางเต็นท์ของอุทยาน จึงได้จับใส่ขวดน้ำไว้ และนำมาให้ทางอุทยานช่วยตรวจสอบ โดยสัตว์ดังกล่าวมีรูปร่างคล้ายตุ๊กแก แต่สามารถบินได้ หัวคล้ายตุ๊กแก ลำตัวมีสีน้ำตาลสลับดำ มีหนังจากลำตัวแผ่ออกไปจนถึงขาทั้งสี่ สองข้าง เพื่อใช้กางเป็นปีกร่อนไปมาระหว่างต้นไม้แบบเดียวกับตัวบ่าง นิ้วเท้าทั้งสี่ลักษณะเป็นแผ่นพังผืด หางแบนเป็นหยักคล้ายใบเลื่อย ทั้งนี้คนในพื้นที่ยืนยันว่า เคยพบเพียงแค่กิ้งก่าที่บินได้เท่านั้น เพิ่งเคยเจอตุ๊กแกบินได้เป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ นายมนัส สีเสือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์อุทยานฯ เผยว่า ผู้ที่พบตุ๊กแกบินได้คือ นายดอนชัย ทองหงำ เจ้าหน้าที่เวรรักษาการณ์ ที่พบตุ๊กแกตัวดังกล่าวบินลงมาหากินแมลงอยู่บนพื้นดินบริเวณลานกางเต็นท์ จึงได้จับมาเก็บไว้เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน จากนั้น นายอดิษร ขันวิชัย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ จึงได้นำมาเลี้ยงเพื่อทำการศึกษา เนื่องจากเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ยาก ก่อนจะเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
อนึ่งได้มีรายงานเพิ่มเติมว่า ตุ๊กแกบินที่พบบริเวณอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า น่าจะเป็นตุ๊กแกบินหางแผ่น สัตว์เลื้อยคลานจำพวกตุ๊กแก มีรูปร่างคล้ายจิ้งจกบ้านทั่วไปแต่ขนาดใหญ่กว่า ลำตัวยาวประมาณ 9.5 ซม. หางยาว 9.5 ซม. มีพังผืดยึดระหว่างนิ้วเท้า ใต้เท้ามีแผ่นยึดเกาะเรียงเป็นแถวเดี่ยว ปลายนิ้วมีเล็บ มีแผ่นหนังแผ่กว้างออกมาจากข้างแก้มและลำตัวทำหน้าที่เหมือนปีกเครื่องร่อน พบในป่าดิบในภาคใต้ของไทยจนถึงภาคเหนือของมาเลเซีย สิงคโปร์ หมู่เกาะนิโคบาร์ในอินโดนีเซีย รวมถึงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่ติดกับพม่า โดยตุ๊กแกบินหางแผ่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 แต่ก็มีผู้ที่นิยมเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก