วิกฤตตัวประกันสะท้านโลก

 

ขอพาคุณเข้าสู่เหตุการณ์จับตัวประกันที่ช่างเลวร้าย จุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบ ผลกระทบที่ส่งผลต่อจิตใจของทั้งคนร้ายและตัวประกัน... แล้วท่านจะรู้ว่าผลสุดท้ายมีแต่การสูญเสีย


MUNICH MASSACRE : กันยาทมิฬ

 

 

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1972 ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ เยอรมัน เป็นเจ้าภาพ เหตุร้ายเริ่มขึ้นเวลา 04.30 น. เมื่อมีกลุ่มโจรผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์พร้อมอาวุธทั้งหมด 8 คน จากกลุ่ม "Black September" บุกเข้าโจมตีหอพักนักกีฬาชาวอิสราเอล พร้อมสังหารนักกีฬาอิสราเอลลงทันที 2 คน แล้วจับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 9 คนเป็นตัวประกัน และยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลอิสราเอล และเยอรมัน ให้ปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังไว้ทั้งหมดทันที อีกทั้งขอเครื่องบินเจ็ตเพื่อหลบหนี แต่พอตกดึก ตำรวจเยอรมันพยายามซ้อนกลโดยการใช้หุ่นจำลองเครื่องบินหลอกผู้ก่อการร้ายพร้อมบุกจู่โจมทันที ทำให้เหตุปะทะทำให้ตัวประกันทั้งหมดเสียชีวิต ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตไป 3 คน ถูกจับ 3 คน อีก 2 คนหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงปัจจุบันก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าหายไปอย่างไร และฝ่ายตำรวจเยอรมันเสียชีวิต 1 นาย

 

นักกีฬาชาวอิสราเอลทั้ง 11 คนที่เสียชีวิต

 

 

IRAN HOSTAGE CRISIS 

วิกฤตจับตัวประกันในอิหร่าน

 

 

เป็นวิกฤตทางการทูตระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเช้าของวันที่ 4 พ.ย. 1979 ที่ประเทศอิหร่าน กลุ่มนักศึกษาอิหร่านราว 500 คน บุกผ่านทหารนาวิกโยธินไปที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตหะราน พร้อมจับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ 52 คน เป็นตัวประกันเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งตัวพระเจ้าชาร์ อดีตผู้นำของอิหร่านซึ่งกลุ่มนักศึกษาเชื่อว่าเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐฯ มาดำเนินคดีที่อิหร่าน แต่การเข้ามาของยูเอ็น ก็ทำให้อิหร่านเริ่มใช้ไม้อ่อนลงโดย อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำกลุ่มนักศึกษา มีการปล่อยตัวประกัน 3 คน เป็นชุดแรก ก่อนจะมีการเจรจาขั้นต่อไป จนกระทั่ง 23 ก.ค. 1980 พระเจ้าชาร์ได้สิ้นพระชนม์ลงทำให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายอีกทั้งทูตของแอลจีเรียก็เสนอตัวมาเป็นคนกลางในการเจรจา เหตุการณ์นี้ก็จบลงในวันที่ 20 ม.ค. 1980 หลังสหรัฐฯ ยอมรับเงื่อนไขทุกอย่าง ตัวประกันทั้งหมดเลยถูกปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังมายาวนานถึง 444 วัน

 

 

MOSCOW THEATER HOSTAGE CRISIS

จับตัวประกันในโรงละครกรุงมอสโก

 

 

23 ต.ค. 2002 กลุ่มติดอาวุธเชเชนราว 50 คน บุกไปที่โรงละครในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เพื่อจับผู้ชมและนักแสดงประมาณ 900 คนเป็นตัวประกัน และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากเชชเนียทันที พร้อมขู่ว่าหากรัสเซียใช้กำลัง พวกเขาจะยิงตัวประกันทิ้งทันที รัสเซียตัดสินใจใช้ความรุนแรงแบบที่ไม่มีใครคาดคิด 26 ต.ค. 2002 มีแก๊สถูกรมเข้าไปในโรงละครผ่านระบบระบายอากาศ ซึ่งเป็นสารเคมีไม่ทราบชื่อ ส่งผลให้ผู้ที่สูดดมเสียชีวิตเกือบจะทันที แต่ยังมีกลุ่มก่อการร้ายบางคนใส่หน้ากากป้องกันแก๊สไว้ กองกำลังรัสเซียจึงบุกโจมตีทันที ท้ายสุดตัวประกันที่อยู่ด้านในเสียชีวิตเกือบจะทั้งหมดจากการถูกรมแก๊ส และคนร้ายถูกยิงเสียชีวิตเกือบหมด ซึ่งการปฏิบัติการรมแก๊สของรัสเซียถูกวิจารณ์ว่าใช้ไม้หนักจนตัวประกันต้องมาตายหลายศพ แต่รัสเซียอ้างว่าพวกเขาไม่มีทางเลือก

 

 

THE KIDNAPPING OF

INGRID BETANCOURT PULECIO

จับตัวประกัน อินกริด เบทันคอร์ท

 

 

อินกริด เบทันคอร์ท สตรีเชื้อสายฝรั่งเศส อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศโคลัมเบีย ถูกลักพาตัวและจับเป็นตัวประกันเมื่อ 23 ก.พ. 2002 ที่โคลอมเบีย ในระหว่างระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยกบฏฝ่ายซ้ายต่อต้านรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่า ฟาร์ค การจับตัวประกันของกลุ่ม ฟาร์ค นี้ไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ เป็นชิ้นเป็นอันนอกจากการแสดงความต่อต้านรัฐบาล เธอถูกจองจำอยู่นานถึง 6 ปี ระหว่างนั่นก็ถูกทรมานสารพัดและถูกล่ามโซ่ให้อยู่กลางป่า ข่าวคราวของเธอเริ่มเงียบหายไปเรื่อย หลายฝ่ายคิดว่าคงเสียชีวิตไปแล้ว แต่แล้วในปี 2007 เธอก็ถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมตัวประกันคนอื่นอีก 14 คน หลังจากนั้นเธอเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กลุ่ม ฟาร์ค เปลี่ยนแนวทางไปสู่วิธีที่สงบสันติ ซึ่งทำให้นิตยสารไทมส์ จัดให้เธอเป็นบุคคลแห่งปีเมื่อปี 2008

 

 

CRISTINA HOSTAGE CRISIS

จับตัวประกัน คริสติน่า

 

 

เกิดขึ้นที่บราซิล เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2008 และเป็นเหตุการณ์จับตัวประกันที่ยาวนานที่สุดใน เซา เปาโล ถึงกว่า 100 ชั่วโมง เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ อัลเวส ชายชาวบราซิล พกอาวุธปืนบุกไปอพาร์ตเม้นท์อดีตแฟนสาวที่ชื่อ คริสติน่า พิเมนเทล ก่อนจับเธอและเพื่อนอีกสองคนไว้เป็นตัวประกัน เจ้าหน้าที่พยายามเจรจาถึงที่สุด จน อัลเวส ยอมปล่อยตัวเพื่อนของเหยื่อทั้งหมด แต่คนที่ถูกปล่อยดันขออาสากลับเข้าไปเกลี้ยกล่อมคนร้าย ตำรวจก็อนุญาตแต่ก็ไม่เป็นผลแถมถูกจับเป็นตัวประกันอีกครั้งด้วย เวลาผ่านไปเกือบ 100 ชั่วโมงแล้วจู่ๆ ก็มีเสียงปืนดังขึ้นในอพาร์ทเม้นท์ ตำรวจจึงบุกเข้าโจมตีช่วยตัวประกันทันที แม้จะจับตัวคนร้ายได้ แต่ก็ล้มเหลวในการรักษาชีวิตตัวประกัน คริสติน่า ถูกคนร้ายยิง 2 นัด และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ซึ่งการทำงานของตำรวจ เซา เปาโล ในครั้งนั้นถูกวิจารณ์ว่าช่วยตัวประกันผิดพลาดจนเหยื่อต้องเสียชีวิต

 

 

BESLAN SCHOOL HOSTAGE CRISIS

จับตัวประกันที่โรงเรียน เมืองเบสลัน

 

 

1 ก.ย. 2004 กลุ่มกบฏเชเชนติดอาวุธประมาณ 30 คน สวมหมวกคลุมหน้าอาวุธครบมือ และมีเข็มขัดระเบิดพันรอบตัว ได้บุกไปที่โรงเรียนในเมืองเบสลัน ทางใต้ของรัสเซีย พร้อมจับเด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ไว้ประมาณ 1,200 คน เป็นตัวประกันในโรงยิม ข้อเรียกร้องครั้งนี้คือ ให้รัสเซียถอนทหารออกจากเชชเนีย คนร้ายขู่ว่าหากมีการใช้กำลังจากทางรัสเซีย จะระเบิดตัวเองไปพร้อมตัวประกันทันที การเจรจาไม่มีความคืบหน้าจนสองวันต่อมา จู่ๆก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นในโรงยิมทำให้ตัวประกันหนีเอาตัวรอด แต่คนร้ายก็เริ่มเปิดฉากยิงตัวประกันและกองทัพรัสเซียก็ได้บุกเข้าไปทันที ทำให้ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตทั้งหมด ส่วนตัวประกันเสียชีวิต 394 คน ซึ่งเป็นเด็กเกินกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเหตุการณ์จับตัวประกัน 

 

 

HOSTAGE IN THAILAND

เมืองไทยก็มีการจับตัวประกัน

 

 

ก็อดอาร์มี่ บุกยึดสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย


เสาร์ที่ 1 ต.ค. 2542 กลุ่มนักศึกษาพม่า จำนวน 12 คน พร้อมอาวุธปืนและระเบิด บุกเข้าไปในสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทร จับเจ้าหน้าที่สถานทูตและประชาชนที่เข้าไปติดต่อราชการเป็นตัวประกันไว้ได้ราว 20 คน พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่าให้ปล่อยตัว นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ให้กลับไปทำหน้าที่หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 ฝ่ายรัฐบาลไทยพยายามเจรจาแต่ก็ยังไม่เป็นผล อย่างไรก็ตามตัวประกันเริ่มหนีออกมาได้เกือบหมด ทำให้ ก็อดอาร์มี่ ต่อรองขอเฮลิคอปเตอร์ให้ไปส่งพวกตนที่ชายแดนไทย-พม่า ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งไทยยอมทำตามข้อเสนอนั้น โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้น เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย เหตุการณ์ก็จบลงอย่างสงบหลังเวลาผ่านไป 25 ชั่วโมง

 

 

ก็อดอาร์มี่ บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี


ยังคงเป็นกลุ่มก็อดอาร์มี่ คราวนี้ทำการในวันที่ 24 ม.ค. 2543 ก่อเหตุรุนแรงยิ่งกว่าเดิมโดยใช้ปืนเอ็ม-16 และระเบิดจี้รถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี ให้พาไปยังโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อไปถึงได้บุกยึดโรงพยาบาล จับแพทย์และคนไข้ราว 1,000 คน เป็นตัวประกัน ข้อเรียกร้องคราวนี้คือ ก็อดอาร์มี่ต้องการนำตัวแพทย์ไปรักษาทหารกะเหรี่ยงที่บาดเจ็บจากการถูกรัฐบาลทหารพม่าปราบปราม ซึ่งทางไทยก็พยายามจัดหาสิ่งที่คนร้ายต้องการมาให้ ขณะเดียวกันก็มีการวางแผนจัดการขั้นเด็ดขาดไว้ด้วย ในที่สุดเช้าตรู่วันต่อมากองกำลังไทย 50 นาย ได้บุกเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน ควบคู่ไปกับการจัดการคนร้ายโดยใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 นาที สามารถช่วยเหลือตัวประกันไว้ได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย และกลุ่มก็อดอาร์มี่ เสียชีวิต 10 คน

 

วิกฤตจับตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย


การปฏิบัติการของกลุ่ม "Black September" ชาวปาเลสไตน์ ในช่วงนั้นยังลามมาถึงประเทศไทยด้วย 28 ธ.ค. 2515 คนร้าย 4 คน เข้าจู่โจมสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ และจับบุคลากรภายในเป็นตัวประกัน แต่ได้มีการปล่อยตัวชาวไทยทั้งหมดในตึกให้เป็นอิสระ ข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลอิสราเอล ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 36 คน ออกจากเรือนจำทันที ไม่เช่นนั้นจะระเบิดสถานทูตทิ้ง แต่คราวนี้การเจรจาเป็นผลหลังผ่านไป 19 ชั่วโมง ผู้ก่อการก็ยินยอมที่จะวางอาวุธและปล่อยตัวประกัน โดยแลกกับความปลอดภัยของกลุ่มตนเองที่ประเทศอียิปต์

 

Credit: http://www.fhm.in.th/SECTION-FEATURES/ARTICLE/READ-Hostage-Crisis-129/
22 ต.ค. 57 เวลา 04:13 3,542 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...