พบฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ ผู้ริเริ่มพัฒนาเซ็กส์เพื่อความสนุก พร้อมกำเนิดการผสมพันธุ์ในร่างกาย
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 สำนักข่าวซินหัว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ค้นพบต้นกำเนิดของพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตจากฟอสซิลของปลาดึกดำบรรพ์ ที่มีชีวิตอยู่ในทะเลเมื่อ 430 ล้านปีก่อน ได้แก่ Antiarch placoderms ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบเวลาที่การร่วมเพศ วิวัฒนาการมาเป็นการสืบพันธ์ุ อีกทั้งฟอสซิลดังกล่าว ระบุว่า สิ่งมีชีวิตชนิดนี้เป็นสัตว์ชนิดแรกที่มีอวัยวะเพศผู้และเพศเมีย สามารถผสมพันธ์ุในร่างกายได้ ส่วนก่อนหน้านี้ผสมพันธุ์กันภายนอก
ด้านนายจอห์น ลอง หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ และนักบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส เปิดเผยว่า ลักษณะทางกายภาพของเพศผู้ จะมีรูปร่างเหมือนตัวแอล ที่ชี้ออกไปด้านข้างลำตัวทั้งสองด้าน เพื่อสอดใส่ในช่องคลอดของตัวเมีย หากวิเคราะห์ดูแล้ว ทำให้สัตว์ชนิดนี้ไม่สามารถทำท่ามิชชั่นนารีได้ แต่ทำได้ท่าเดียว คล้ายกับท่าเต้นรำ
ขณะเดียวกัน นายจอห์น ลอง เปิดเผยอีกว่า ฟอสซิลดังกล่าว ยังบอกถึงพฤติกรรมการร่วมเพศด้วย นับว่าเป็นครั้งแรกที่การร่วมเพศสร้างความสนุกสนาน มิเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะสร้างอวัยวะเพศรูปร่างแปลก ๆ เอาไว้ นอกจากความสนุกที่ได้ทำ