คนที่เชื่อตามคำบอกเล่าของคนอื่นผนวกกับความรู้สึกของตัวเองว่า ร่างกายดูเหมือนจะรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาทันทีเมื่อได้ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปสักแก้วนั้นไม่ถือว่าผิด เพียงแต่เป็นคนที่อาจจะยังไม่เคยทราบผลการวิจัยหลายต่อหลายอัน ที่ให้คำตอบว่า ตกลงแล้ว ดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายอุ่นขึ้นจริงหรือ?
คำถามนี้มีคำตอบแน่นอนและเป็นคำตอบที่ได้รับการพิสูจน์แล้วเรียบร้อยแล้วด้วยกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ก่อนจะไปทราบถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ขอปูพื้นเรื่องกลไกลพื้นฐานของร่างกายมนุษย์ในการปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิแวดล้อมกันก่อนสักเล็กน้อย
คนเรา “หนาว” กันได้อย่างไร
ความรู้สึกหนาวที่เราท่านต่างเคยรู้สึกกันทุกคนนั้นเกิดขึ้นเมื่อ เลือดในร่างกายไหลออกไปจากผิวหนังกลับเข้าไปสู่อวัยวะต่างๆภายในร่างกายเพื่อไปเพิ่มอุณหภูมิที่แกนกลางของร่างกาย ทั้งยังเพื่อรักษาสภาพของอวัยวะต่างๆในร่างกายไม่ให้เสียหายด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราจึงมีผิวหรือริมฝีปากซีดเผือดเมื่อหนาวสั่นมากๆ การสั่นก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ร่างกายใช้เพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายใน
การวิจัยอันหนึ่งซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปีค.ศ. 2005 พบว่าหลังจากที่คนเราดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป 1 แก้ว ร่างกายจะรู้สึกถึงความอบอุ่นในชั่วขณะสั้นๆ นั่นเป็นเพราะว่าแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายสูบฉีดเลือดออกไปที่บริเวณผิวหนัง เพื่อกระตุ้นการขับเหงื่อออก ซึ่งยิ่งมีผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงไปอีก
ดื่มเหล้าแก้หนาว ทำให้เกิดภาวะ Hypothermia และถึงขั้น “เสียชีวิต”ได้
อีกหลายต่อหลายการวิจัยที่มีออกมาในรอบหลายปีที่ผ่านมายังยืนยันตรงกันว่า แอลกอฮอล์ที่ใครหลายคนยกย่องให้เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะอากาศหนาวนั้น แท้จริงแล้วเพียงแค่ทำให้ผู้ดื่มแค่รู้สึกถึงความอบอุ่นที่ผิวกายเท่านั้น แต่ที่ไม่รู้สึกตัวกันก็คืออุณหภูมิที่ลดต่ำลงภายในแกนกลางร่างกายอันจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดภาวะ ไฮโปเทอร์เมีย (hypothermia) ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะในร่างกายและหากรุนแรงก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
การวิจัยอีกอันซึ่งทำโดยสถาบันวิจัยเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมของกองทัพสหรัฐฯ ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่าสาเหตุหนึ่งที่การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะไฮโปเทอร์เมียนั้น เป็นเพราะว่าแอลกอฮอล์ไปมีผลทำให้กระบวนการสั่นเพื่อเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายถูกขัดขวาง ผลการวิจัยอันนี้ได้รับการยืนยันโดยผลการวิจัยอีกหลายอันซึ่งชี้ชัดว่าการย่อยสลายแอลกอฮอล์ในร่างกายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากภาวะไฮโปเทอร์เมีย
องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยัน ดื่มเหล้าแก้หนาว ความเชื่อที่เป็นผลร้ายต่อร่างกาย!
แม้แต่องค์การอนามัยโลกเองก็ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ “ความเชื่อและความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ไว้บนเว็ปไซต์ ด้วยหวังว่าจะช่วยแก้ความเข้าใจผิดๆ หลายอย่างซึ่งอาจเป็นอันตรายอย่างมหันต์แก่สุขภาพหรือถึงขั้นทำลายชีวิตหากทำกันตามความเชื่อแบบผิดๆเหล่านั้น และหนึ่งในความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ที่องค์การอนามัยโลกให้ ข้อมูลไว้คือ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นวิธีในการคลายหนาวที่ดีอย่างนั้นหรือ? ส่วนคำอธิบายสั้นๆแต่ได้ใจความขององค์การอนามัยโลกต่อคำถามนี้ ก็เป็นคำอธิบายเดียวกับที่ผลการวิจัยที่ยกมาทั้งหลายทั้งปวงนี้ได้ตอบให้ทราบแล้ว แต่ขอย้ำอีกครั้งนั่นคือ “สภาพแวดล้อมที่มีอากาศเย็น ร่างกายจะพยายามรักษาความอบอุ่นในร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ทนต่อสภาวะที่เย็นได้ โดยการลดการไหลเวียนของกระแสเลือดที่ผิวหนังลงเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปที่อวัยวะสำคัญในแกนของร่างกาย แอลกอฮอล์จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่จะทำให้ร่างกายรู้สึก “อุ่น” แต่กลับทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง โดยเพิ่มอุณหภูมิ (เล็กน้อย) ที่ผิวหนัง (ดูได้จากการหน้าแดง ดูมีเลือดฝาด อะไรทำนองนั้นค่ะ) สุดท้ายอาจเกิดภาวะ Hypothermia ได้”
อุบัติการณ์นี้เกิดในเมืองไทยได้หรือไม่?
แม้ภาวะไฮโปเทอร์เมียจะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในประเทศเมืองหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำระดับศูนย์องศาฯ หรืออุณหภูมิติดลบ และไม่ค่อยพบในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย ก็ใช่ว่าจะไม่มีเกิดขึ้นเลย ยกตัวอย่าง เช่น ความนิยมในการไปท่องเที่ยวและพักค้างแรมกันบนยอดภูเขาสูง อย่างเช่น ชมแม่คะนื้งที่ดอยอินทนนท์ หรือดอยอ่างขาง ในภาคเหนือ หรือจะเป็นภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นต้นว่า การไปเฝ้าคอยดูน้ำค้างแข็งเช่นที่ว่านั้น แน่นอนว่าจะเกิดเมื่ออุณหภูมิต่ำเฉียดศูนย์องศาฯ ก็เป็นหนึ่งสถานการณ์เสี่ยง ฉะนั้นแล้ว หากคิดจะดับหนาวกันด้วยแอลกอฮอล์ ก็ให้ตระหนักว่า ณ ที่อุณหภมิต่ำเช่นนั้น ความเสี่ยงในการเป็นภาวะไฮโปเทอร์เมียนั้นสามารถเกิดขึ้นได้มากทีเดียว
สุดท้ายนี้ ทีมงานบทความกรมสุขภาพจิตขอฝากไว้ก่อนจบว่า “นอกจากผลต่อร่างกายแล้ว ฤทธิ์แอลกอฮอล์ยังมีผลต่อการครองสติของผู้ดื่มอีกด้วย และเมื่อขาดสติแล้วอันตรายร้อยแปดสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และกระทั่งนอนหลับหนาวตายก็ยังมี”
ขอบคุณที่มาจาก : ส่วนวิจัยปัญหาสุรา สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ
www.thaihealth.or.th