สาวๆ ต้องระวัง! ติดเชื้อจากสระว่ายนํ้า

สาวๆหลายๆคนคงจะชอบการออกกำลังกาย โดยการว่ายน้ำ เพราะทั้งสนุกและก็ไม่เหนื่อยมาก แต่อย่าลืมว่าสระว่ายน้ำเป็นสถานที่สาธารณะที่มีคนมาใช้ร่วมกันมากมาย หากสระว่ายน้ำนั้นมีระบบจัดการที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะนำเชื้อโรคมาสู่เราได้ หรือแม้แต่ถ้าเราว่ายน้ำในสระส่วนตัวแต่ระบบหมุนเวียนน้ำ หรือคลอรีนที่เราใส่ไปในสระมีปริมาณมากเกินไปก็เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆได้ มาดูกันเลยดีกว่าค่ะ ว่าเรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรได้บ้างและวิธีป้องกันเชื้อโรคเมื่อเราไปว่ายน้ำ

การ ติดเชื้อ ในช่องคลอดจากการว่ายน้ำ ในสระว่ายน้ำที่สะอาดได้มาตรฐาน มีการใช้ยาฆ่าเชื้อโรคเช่น คลอรีนนั้นเกิดขึ้นได้ยาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะลักษณะของช่องคลอดในภาวะปกติ จะ ตีบแฟบ เข้ามาชิดกันคล้ายลูกโป่งชนิดยาวที่ยังไม่ได้เป่าลมเข้าไป เมื่อมีอะไรที่ใส่เข้าไปในช่องคลอด มันก็จะโป่งพองออกเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายลูกโป่งที่ถูกเป่าลมให้มันพองออกนั่นเอง ดังนั้น ในภาวะปกติ สิ่งแปลกปลอมจะเข้าสู่ช่องคลอดโดยอาศัยน้ำในสระ จะเป็นไปได้ยาก และอีกประการหนึ่ง ชึดอาบน้ำก็เป็นเกราะช่วยป้องกัน ได้อีกชั้นหนึ่ง

สระว่ายน้ำมาตรฐานมันจะมีระบบกรองน้ำ มีการไหลเวียนถ่ายเทน้ำ มียาฆ่าเชื้อโรคใส่ไว้ในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับ รังสีและความร้อนจากแสงแดดทำให้น้ำในสระสะอาดและปลอดภัย เพราะฉะนั้น การเล่นน้ำในสระว่ายน้ำเหล่านี้จะปลอดภัย ส่วนใหญ่ผู้เล่นน้ำมักจะติดเชื้อ โดยทางอ้อมมากกว่า ซึ่งจะเรียนให้ทราบต่อไป

โรคเกี่ยวกับอวัยวะเพศ หรือ ช่องคลอดจากการว่ายน้ำ ที่พบบ่อย คือ อาการอักเสบของเยื่อบุปากช่องคลอด ผู้ป่วยเหล่านี้ หลังจากว่ายน้ำแล้ว จะมีอาการแสบๆ ที่ปากช่องคลอด โดยเฉพาะเมื่อปัสสาวะไหลมาถูกบริเวณนั้น บางคนมีอาการตกขาวร่วมด้วย เมื่อตรวจภายในก็พบมีอาการอักเสบของเยื่อบุช่องคลอดอย่างชัดเจน แต่ตรวจไม่พบเชื้อที่เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคได้ พวกนี้ สาเหตุมักเกิดจากการแพ้ คลอรีนที่มีอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำที่มีคลอรีนในอัตราส่วนที่เข้มข้นเกินไป

โรคที่เกิดในช่องคลอดที่เคยพบเนื่องมาจากการว่ายน้ำในสระ ได้แก่โรคพยาธิในช่องคลอด และโรคเชื้อรา เพราะเชื้อพยาธิและเชื้อรา สามารถอยู่ในน้ำสะอาดที่มีคลอรีนที่เจือจางได้นานอย่างน้อย 30 นาที เมื่อมีโอกาสเข้าไปในช่องคลอดของนักว่ายน้ำได้ ก็จะทำให้เกิดอักเสบ ตกขาว และ คันบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอดได้ แต่บางคนก็ไม่มีอาการ ส่วนเชื้อกามโรคอื่นๆ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และ โรคเริม ไม่เคยพบมีรายงานที่แน่ชัดว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อเหล่านี้มาจากการว่ายน้ำธรรมดาๆ เพราะเชื้อหนองในแท้และหนองในเทียมมักจะตายเมื่อถูกน้ำสะอาด และ เชื้อซิฟิลิสกับเชื้อเริม มักจะติดต่อด้วยการสัมผัสกับผู้เป็นโรค สิ่งสำคัญขณะที่เล่นน้ำ ไม่ควรให้น้ำเข้าปาก เพราะเชื้อโรคบางชนิดอาจมีอยู่ในน้ำได้ เช่น โรคท้องร่วง และตับอักเสบ เป็นต้น

สระว่ายน้ำบางแห่งไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร มีกระเบื้องแตกหรือชำรุดอยู่ในสระ เมื่อว่ายน้ำไปถูกกระเบื้องเหล่านี้บาดจนเป็นแผล อาจจะกลายเป็นแผลเรื้อรังขนาดใหญ่ได้ในบางครั้ง ซึ่งแผลเหล่านี้ มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่เรียกว่า Mycobacterium marinum เชื้อนี้ทำให้เกิดแผลเรื้อรังคล้ายแผลที่เกิดจาก เชื้อวัณโรคผิวหนังได้ แผลนี้รักษาค่อนข้างยาก แต่หายได้

การ ติดเชื้อ ทางช่องคลอดส่วนใหญ่ติดต่อโดยทางอ้อม เช่นจากที่นั่งเครื่องสุขภัณฑ์ ในห้องน้ำ ผ้าเช็ดตัว ชุดอาบน้ำ หรือเครื่องใช้อื่นๆที่ใช้ร่วมกัน หรือผลัดกันใช้ เพราะเชื้อพวกนี้สามารถอยู่บนสิ่งเหล่านี้ได้นานพอที่จะติดต่อไปให้ผู้อื่นได้ เช่น เชื้อหนองใน สามารถอยู่ในหนองที่เปื้อนบนโถสุขภัณฑ์ได้นาน 3 – 6 ชั่วโมง อยู่ในผ้าเช็ดตัวที่เปียกได้นาน 18 ชั่วโมง เชื้อพยาธิในช่องคลอดสามารถอยู่ในผ้าเช็ดตัวที่เปียกชื้นได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง อยู่ในฟองน้ำที่เปียกชุ่มได้นาน 9 ชั่วโมง เป็นต้น พวกนี้ เวลาใช้เครื่องนุ่งห่มร่วมกัน ทำให้ติดเชื้อได้ มีผู้ป่วยรายหนึ่งแพทย์ตรวจพบเป็นพยาธิในช่องคลอด เมื่อซักประวัติ ติดตามหาแหล่ง ติดเชื้อ พบว่าผู้ป่วยใช้ชุดว่ายน้ำร่วมกับเพื่อนหญิงอีกคนหนึ่ง เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนมีอาการ เมื่อตามเพื่อนหญิงนั้นมาตรวจ ก็พบเชื้อพยาธิอยู่ในช่องคลอดของเพื่อนคนนั้นด้วย

วิธีป้องกัน

1. ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ ของสระว่ายน้ำโดยเคร่งครัด เช่น อาบน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนลงสระ ไม่บ้วนน้ำมูกน้ำลาย ลงในสระ เป็นต้น

2. นักว่ายน้ำควรได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เจาะเลือดตรวจดูภาวะภูมิคุ้มกันโรค และโรคที่มีอยู่ในร่างกาย ถ้าพบโรคใด เช่น โรคซิฟิลิส ก็ควรรักษาเสีย ถ้าขาดภูมิต้านทานโรค ควรรับการฉีดวัคซีน ให้เรียบร้อยก่อน โดยเฉพาะโรคตับอักเสบ เป็นต้น หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือหญิงสาวที่มีอายุมากกว่า 25 ปี ควรได้รับการตรวจภายในปีละครั้ง เพื่อตรวจรักษาโรคบางชนิด ที่มีอยู่ในช่องคลอดแต่ไม่มีอาการให้หมดไปเสีย อย่างน้อยก็ได้รับการตรวจหามะเร็งระยะแรกเริ่ม

3. เมื่อมีสิ่งผิดปกติ เกิดหลังจากว่ายน้ำแล้ว ควรรีบไปรับการตรวจจากแพทย์ และควรงดเล่นน้ำในระยะนี้

4. ไม่ควรให้น้ำเข้าปาก

5. ไม่ควรใช้เครื่องนุ่งห่ม หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกัน

6. สระน้ำและน้ำในสระ ควรได้รับการตรวจบำรุงไม่ให้มีสิ่งบกพร่องที่อาจทำให้ เกิดอันตรายต่อร่างกาย และ เสี่ยงต่อการติดเชื้อของนักว่ายน้ำ

เป็นยังไงกันบ้างคะ ถ้าเราไม่ดูแลตัวเองให้ดี ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคเหล่านี้มาได้ เพราะฉะนั้นสาวๆก็ควรจะระมัดระวังกันด้วยนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีของเรา

ขอบคุณที่มาจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Credit: เอ็มไทยวาไรตี้
#สูขภาพ
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
21 ต.ค. 57 เวลา 09:07 1,650
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...