เมื่อวันที่ 8 กันยายน 57 แอดมินได้ยินข่าวเกี่ยวกับ เชื้อไวรัส เด็งกี ที่กำลังระบาดภายในญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบเกือบ 70 ปีและทำให้มีผู้ป่วยกว่า 70 คน จนทำให้ญี่ปุ่นต้องปิดสวนสาธารณะในกรุงโตเกียว เพราะวิตกเชื้อแพร่กระจาย และอาจจะแพร่ไปอีกในหลายประเทศ จึงทำให้สงสัยว่าเจ้าเชื้อไวรัส เด็งกี คืออะไร มีที่มาและอาการเป็นอย่างไร เพื่อเป็นความรู้ให้กับเพื่อนๆ ที่อาจจะยังไม่ทราบกันค่ะ…
เชื้อไวรัส เด็งกี คืออะไรไข้เด็งกี (Dengue fever) ที่แท้แล้วก็คือ ไข้เลือดออก ที่ประเทศไทยนิยมเรียกกัน เป็นโรคติดเชื้อซึ่งระบาดในเขตร้อน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และมีผื่นลักษณะเฉพาะซึ่งคล้ายกับผื่นของโรคหัด ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีอาการรุนแรง จนกลายเป็นไข้เลือดออกเด็งกี (Dengue hemorrhagic fever) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งทำให้มีเลือดออกง่าย มีเกล็ดเลือดต่ำ และมีการรั่วของพลาสมา หรือรุนแรงมากขึ้นเป็นกลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (Dengue shock syndrome) ซึ่งมีความดันโลหิตต่ำอย่างเป็นอันตรายได้
เชื้อไวรัสเดงกีแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้โดยมียุงลายเป็นตัวนำที่สำคัญ ถึงแม้ว่าจะมียุงลายหลายชนิดที่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่ที่มีความสำคัญทางด้านระบาดวิทยาของโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกเดงกี คือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ยุงลายมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีขาวสลับดำ แหล่งเพาะพันธุ์ คือภาชนะขังน้ำที่คนทำขึ้นและมีน้ำขังเกิน โดยทั่วไปยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน พบอยู่ภายในบ้านและรอบๆบ้าน มีระยะบินไกล 50 เมตร จะพบยุงลายชุกชุมมากในฤดูฝน
ไข้เลือดออกติดต่อผ่านทางพาหะคือยุงหลายสปีชีส์ในจีนัส Aedes โดยเฉพาะ A. aegypti หรือยุงลายบ้าน ไวรัสเด็งกีมีชนิดย่อยอยู่สี่ชนิด การติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งมักทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนั้นๆ ไปตลอดชีวิต แต่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเด็งกีชนิดอื่นๆ ในเวลาสั้น ๆ การติดเชื้อไวรัสเด็งกีชนิดอื่นในภายหลังเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนรุนแรง การป้องกันโรคทำโดยลดจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์และจำนวนของยุง และป้องกันมิให้ยุงลายกัด เพราะยังไม่มีวัคซีนในทางพาณิชย์
ยังไม่มีวิธีจำเพาะในการรักษาไข้เลือดออก การรักษาหลัก ๆ เป็นการรักษาประคับประคอง สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงรักษาโดยการคืนน้ำ อาจใช้การกินทางปากหรือการให้ทางหลอดเลือดดำ และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงรักษาโดยให้สารน้ำหรือเลือดหรือองค์ประกอบของเลือดทางหลอดเลือดดำ อุบัติการณ์ของไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อ 50-100 ล้านคนต่อปี โรคนี้มีการอธิบายเอาไว้ครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1779 ส่วนไวรัสที่เป็นสาเหตุและกลไกการติดต่อนั้นค้นพบเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ไข้เลือดออกได้กลายเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งทั่วโลก มีประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาดมากกว่า 110 ประเทศ ปัจจุบันนอกจากความพยายามลดจำนวนยุงแล้วยังมีความพยายามพัฒนาวัคซีนและยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับไวรัสด้วย หากเพื่อนๆ คนไหนอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อไวรัส เด็งกีเพิ่มเติม สามารถอ่านต่อได้ที่ วิกิพีเดีย
ยังไงก็ขอฝากเตือนถึงน้องๆ เพื่อนๆ ทุกคนด้วยนะคะ ว่าควรระมัดระวังเวลาที่เราไปนั่งในที่มืดหรือบริเวณที่มีน้ำขัง ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง และจะต้องมีการป้องกันโดยการทายากันยุง ฉีดยากันยุง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาพ่นยาฆ่ายุงทุกครั้ง เมื่อพบว่ายุงมีจำนวนมากบริเวณนั้นๆ เพราะปัญหาไข้เลือดออก หรือ เชื้อไวรัสเด็งกี อาจจะดูเป็นปัญหาเล็กๆ แต่มันส่งผลคร่าชีวิตเยาวชนไปได้ทุกปี ทีนเอ็มไทยขอฝากเรื่องน่ารู้นี้ไว้ด้วยนะคะ
เรียบเรียงโดย teen.mthai.com
ข้อมูล วิกิพีเดีย