แรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานตามฟาร์มเกษตรกรรมของเกาหลีใต้ตกเป็นเหยื่อการ ล่วงละเมิดอย่างรุนแรง ภายใต้ระบบการออกใบอนุญาตทำงานซึ่งเปิดช่องให้นายจ้างสามารถฉวยโอกาสกับแรง งานเหล่านี้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่อง “น่าละอาย” องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) ระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่วันนี้(20)
ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยการเหยียดผิว (UN's special rapporteur on racism) ซึ่งได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในเกาหลีใต้ ยังเอ่ยถึง “ปัญหาร้ายแรง” ที่คนต่างด้าวซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือและได้ค่าจ้างเพียงน้อยนิดต้องเผชิญ
รายงานของ เอไอ เรื่อง “การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ขมขื่น” (Bitter Harvest) ซึ่งสรุปจากการสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวหลายสิบชีวิตตามฟาร์มเกษตกรรมทั่วเกาหลีใต้ เผยข้อมูลเกี่ยวกับการข่มขู่และใช้ความรุนแรง การใช้ให้ทำงานเกินเวลา และที่อยู่อาศัยซึ่งสกปรกซอมซ่อ
“การแสวงหาผลประโยชน์จากคนงานต่างด้าวในภาคเกษตรกรรมถือเป็นรอยด่าง ที่บั่นทอนภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้”นอร์มา กัง มุยโก นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานต่างด้าวในเอเชีย-แปซิฟิกของ เอไอ ระบุ
“รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สร้างระบบอันน่าละอาย ซึ่งเปิดโอกาสให้การค้ามนุษย์เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์ และการบังคับใช้แรงงานสามารถเฟื่องฟูขึ้นมาได้... ในทางกลับกัน หากพลเมืองเกาหลีใต้ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดอย่างนี้บ้าง พวกเขาต้องไม่ยอมแน่นอน” เธอกล่าว
จากข้อมูลในปี 2013 มีแรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ประมาณ 250,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมราว 20,000 คน
แรงงานเหล่านี้ทำสัญญาว่าจ้างภายใต้ระบบการอนุญาตจ้างงาน (Employment Permit System –EPS) ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่ง เอไอ ชี้ว่ามีรายละเอียดที่เอื้อผลประโยชน์ต่อนายจ้างมากเกินไป จนทำให้แรงงานต่างด้าวตกอยู่ในความเสี่ยง และไม่ได้รับการปกป้องทางกฎหมายอย่างเพียงพอ
ในขณะที่นางจ้างสามารถไล่คนงานออกได้ตามใจชอบ แรงงานซึ่งส่วนใหญ่มาจากกัมพูชา เนปาล และเวียดนาม จะสามารถเปลี่ยนงานได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างยอมเซ็นใบอนุญาตปล่อยตัวเท่านั้น
เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเดินทางจากบ้านเกิดมาหางานทำในเกาหลีใต้ การตกงานจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ และทำให้พวกเขาแทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เลย
“ระบบอีพีเอสของเกาหลีใต้ทำให้ชีวิตของแรงงานต่างด้าวต้องขึ้นอยู่กับความเมตตาของนายจ้าง ซึ่งบางรายก็ไม่ซื่อสัตย์ และถือโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากเงื่อนไขจ้างงานที่จำกัดสิทธิของแรงงานในการเปลี่ยนงาน” มุยโก ระบุ
รายงานฉบับนี้ยังอ้างถึงการ “สมรู้ร่วมคิด” จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองด้วย เพราะเมื่อแรงงานที่ถูกล่วงละเมิดเข้าไปร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ ก็มักจะถูกทางการโน้มน้าวให้หยุดดำเนินการเสีย
คนงานชาวกัมพูชาวัย 25 ปีรายหนึ่งเผยกับ เอไอ ว่า เขาเคยไปที่ศูนย์จ้างงานของรัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมกับคลิปในโทรศัพท์มือถือที่ บันทึกภาพนายจ้างกำลังทุบตีเขา
“เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนบอกผมว่า เป็นความผิดผมเองที่ตัดกะหล่ำปลีผิดวิธี... เธอบอกให้ผมรีบกลับไปหานายจ้างและขอโทษเสีย”
ด้วยอัตราความชราภาพที่สูงขึ้นและการหลั่งไหลเข้าสู่เมืองของคนรุ่นใหม่ๆ เกาหลีใต้จึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมาเติมเต็มตำแหน่งงานที่ขาดแคลนในภาค การเกษตร การประมง และการก่อสร้าง
เอไอ เรียกร้องให้รัฐบาลโซลหามาตรการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทั้งในด้านชั่วโมงทำงานและวันหยุดพักผ่อน รวมถึงอนุญาตให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนงานได้ โดยไม่ต้องรอให้นายจ้างเซ็นใบปล่อยตัว
มาทูมา รูทีรี ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติ ก็ได้อ้างถึงปัญหาของระบบอีพีเอสระหว่างการเยือนเกาหลีใต้เมื่อต้นเดือน ตุลาคมเช่นกัน โดยชี้ว่า นอกจากแรงงานต่างด้าวจะได้ค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว “ส่วนใหญ่ยังถูกแบ่งแยกกีดกัน ถูกดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย และถูกทำร้ายร่างกายด้วย”