ย่างกุ้ง (มูลนิธิ Thomson Reuters) -ภายใต้ชุดสีแดงปักเลื่อมระยับ เท็ตเท็ตทุน หมุนตัวไปรอบๆ เวทีในขณะกำลังซ้อมระบำพื้นบ้านของพม่า ซึ่งเธอหวังว่ามันจะทำให้เธอโดดเด่นกว่าบรรดาสาวงามทั้ง 18 คนที่ต่างก็หวังพิชิตตำแหน่งมิสเมียนมาร์เวิร์ดในปีนี้
การประกวดสาวงามในพม่าเรียกว่ากำลังรุ่งเรือง หลังจากที่ถูกห้ามไม่ให้มีการประกวดมายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษในยุคของรัฐบาลเผด็จการทหาร ก่อนที่จะสิ้นยุคเผด็จการในปี 2011 และรัฐบาลพลเรือนได้เข้าปกครองปกระเทศ
ด้วยความหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและความฝันที่จะมีชื่อเสียงเงินทอง เด็กสาวชาวพม่าต่างก็วิ่งหาโอกาสทุกทางเพื่อเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ที่เริ่มเปิดรับพวกเธอเหล่านั้นในปี 2012 เป็นต้นมา
แต่ความรุ่งเรืองของวงการขาอ่อนซึ่งแต่ละประเทศมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็โจมตีว่าเป็นการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุ ทว่า ก็ได้เผยให้เห็นทั้งโอกาสและหลุมพรางในพม่ายุคใหม่ด้วยเรื่องราวข่าวฉาวและการแสวงหาผลประโยชน์
ภายในปลายปีนี้ ในพม่าจะมีการประกวดสาวงามระดับนานาชาติอย่างน้อย 10 เวที ซึ่งรวมไปถึงมิสยูนิเวิร์สเมียนมาร์ และมิสเอเชียแปซิฟิก ด้วย ทั้งนี้ในการเปิดรับสมัครมิสเมียนมาร์เวิร์ดเป็นเวลา 4 วัน มีสาวงามกว่า 130 คนมาสมัคร โดยจะมีการประกวดในวันที่ 27 กันยายนนี้
“ถ้าฉันได้ตำแหน่ง ฉันอยากจะทำงานเพื่อการกุศลตามที่เหมาะสมกับตำแหน่งสาวงาม นอกจากนี้ฉันก็อยากจะเป็นนักแสดงและทำงานในวงการบันเทิงต่อไป” เท็ตเท็ตทุน สาวงามวัย 22 ปีบอกกับมูลนิธิ Thomson Reuters ด้านนอกสตูดิโอสลัวๆ ที่ย่างกุ้ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดในพม่า หลังซ้อมเสร็จ
ความนิยมการประกวดสาวงามได้ขีดเส้นใต้เน้นยำให้เห็นว่า พม่ากำลังพยายามไล่ตามประเทศต่างๆ ในโลกหลังจากถูกโดดเดี่ยวมานานหลายทศวรรษ บรรดาผู้เข้าประกวดต่างเข้าหลักสูตรเร่งรัดที่จะรับมือกับสนามที่มีการแข่งขันสูง
เมย์เมี้ยตโน เป็นสาวงามคนแรกของพม่าที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศในเวทีการประกวดระดับนานาชาติมาครอง เธอได้รับตำแหน่งมิสเอเชียแปซิฟิกที่จัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ แต่ก็ถูกยึดตำแหน่งคืน 3 เดือนหลังจากนั้นโดยมีปัญหากับกองประกวด
ความขัดแย้งหลังเวทีขาอ่อน
ผู้จัดการประกวดเกาหลีใต้บอกว่าเธอ “หยาบคายและไม่ซื่อสัตย์” และกล่าวหาว่าเธอขโมยมงกฎหนีไปหลังจากเดินทางออกจากกรุงโซล ทั้งๆ ที่มีโปรแกรมอัดเพลงกับนักร้องเคป๊อบเกิร์ลกรุ๊ป
ในงานแถลงข่าวเมื่อเกือนกันยายน เมย์เมี้ยตโน ได้กล่าวผู้จัดการประกวดในพม่าได้ปลอมอายุของเธอจาก 16 เป็น 18 ปี และกล่าวหาว่ากองประกวดเกาหลีได้กดดันให้เธอผ่าตัดเสริมหน้าอก
“(กองประกวดที่เกาหลี) ยังบอกฉันที่นั่นว่า มีแค่ทางเดียวที่จะหาเงินเพื่อทำอัลบัมของฉัน และเพื่อให้ทำงานในวงการบันเทิงต่อ…คือต้องไปกับเจ้าพ่อนักธุรกิจบางคนเวลาที่เขาอยากให้ฉันไปด้วย” เธอกล่าวในงานแถลงข่าว
หรือความโหดร้ายในวงการนางงามอาจจะยังเป็นเรื่องที่ใหม่ แต่ชิตวิน ที่กำลังทำงานวิจัยเกี่ยวการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในพม่า จากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียนเนชั่นแนล กล่าวว่า การประกวดนางงามมีอยู่ในพม่ามานานหลายศตวรรษแล้ว
แนวคิดเรื่องสาวงาม หรือที่ถูกขนานนามว่าเป็น “กูน ตอง เกง” (เจ้าของกล่องใส่หมาก) นั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนยุคที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 แล้ว เขากล่าว
แต่การประกวดนางงามถูกห้ามตั้งแต่ปี 1962 หลังจากนายพลเนวิน กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจและได้ปราบปรามการกดขี่ประชาชน
การกลับมาอีกครั้งของเวทีสาวงามทำให้ผู้หญิงทั่วประเทศพม่าพากันเอาอย่างชาติตะวันตก
ชาร์ทุตเองดรา เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สเมียนมาร์ ที่ใช้เวลาขัดเกลาทักษะเพื่อการประกวดเป็นเวลา 1 ปี ยอมรับว่าสิ่งแรกที่เธอต้องเตรียมตัวคือการลดน้ำหนัก
การประกวดนางงามยังเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ประชาชนยังมีการแบ่งแยกกันในพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 51 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 100 กลุ่ม และยังคงมีปัญหาเรื่องลัทธิชาตินิยมและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์
การประกวดนางงามได้รับความสนใจจากกลุ่มโซเชียลมีเดียต่างๆ จำนวนมาก ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
โมแซ็ตวาย สาวลูกครึ่งพม่า -จีน เป็นสาวพม่าคนแรกในรอบ 50 ปีที่เป็นตัวแทนประเทศไปประกวดมิสยูนิเวิร์สเมื่อปี่ 2013 พบว่า เธอได้กลายเป็นเหยื่อของโซเชียลมิเดียที่ผู้คนต่างพากันเรียกร้องให้ยึดตำแหน่งคืน
โดยผู้ใช้โซเชียลมิเดียในพม่าเกิดข้อกังขาในเชื้อชาติของเธอและได้นำรูปภาพเก่าจากการประกวดนางงามพม่าเชื้อสายจีนที่เคยจัดขึ้นในย่างกุ้ง นำมาแสดง
ทางลัดสู่ชื่อเสียง
แม้ว่าความโหดร้ายในวงการนางงามจะเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมพม่ามากขึ้น แต่ผู้หญิงหลายคนก็ยังรอเข้าแถวเพื่อหาทางลัดไปสู่ชื่อเสียงจากการประกวดนางงามที่เติบโตขึ้นทุกวัน
แต่มีไม่กี่คนเท่านั้น ที่สามารถสร้างชื่อเสียงจนโด่งดัง ได้รับความชื่นชองจากประชาชน และได้รับโอกาสให้แสดงภาพยนตร์และโฆษณา ภาพของนางงามคนปัจจุบันและอดีตปรากฎอยู่ตามป้ายโฆษณา แม็กกาซีน และโปสเตอร์หนังในย่างกุ้ง
“หลังจากฉันได้รับตำแหน่ง คนที่ติดตามฉันในเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นหลายหมื่น” โกญีเอจ่อ หญิงสาวหน้าแฉล้มวัย 25 ปี พูดจาฉะฉาน บอก เธอได้รับตำแหน่งในการประกวดมาแล้ว 10 กว่าเวที ก่อนที่จะคว้าตำแหน่งมิสเมียนมาร์อินเตอร์เนชั่นแนลปี 2013 มาได้สำเร็จ
บัญชีเฟซบุ๊กของเธอถูกแฮค 3 วันหลังจากนั้น เป็นการยืนยันชื่อเสียงที่เพิ่งโด่งดังอย่างหนึ่งสำหรับแฟนๆ ของเธอ
ติ่นโม ลวิน ผู้บุกเบิกในธุรกิจโมเดลลิ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชาวพม่าและการเปิดรับความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในการประกวดนางงาม
ปัจจุบัน ติ่นโม ลวิน อยู่ในวัย 40 กว่า เธอเป็นกรรมการตัดสินและผู้ฝึกสอนสาวงามที่ต้องการเป็นแอร์โฮสเตสในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่กำลังถ่ายทำอยู่ขณะนี้
“เปรียบเทียบกับตอนที่ฉันเพิ่งเริ่ม มันมีความสนใจในแฟชั่นมากขึ้น สาวๆ มีความมั่นใจมากขึ้นและสังคมก็เปิดรับมากขึ้น” เธอกล่าว ขณะกำลังจิบชาที่ล็อบบี้ของโณงแรมเซโดนา ซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาวในย่างกุ้ง
ทว่า วงการนี้ก็ยังมีความเสียงอยู่ คือตั้งแต่เริ่มจนถึงทุกวันนี้ก็มีความวุ่นวายจากการถกเถียงกันเรื่องต่างๆ และการแสวงหาประโยชน์โดยมีคนในโซเชียลมีเดียคอยเติมเชื้อไฟ
ขณะที่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การโต้แถียงกันของสาธารณชนมักจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งเรื่องสัญญาระหว่างกองประกวดและผู้ชนะ สัญญาส่วนใหญ่จะกำหนดเงื่อนไขว่า นางงามต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นให้กับกองประกวด ปกติอยู่ที่ประมาณ 20 -30 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ที่ได้รับจนถึง 3 ปี
จอห์น ลวิน อดีตนายแบบและผู้ก่อตั้งบริษัทเอเจนซี่ Star & Models International ในย่างกุ้งที่ปั้นนางแบบแนวหน้าของพม่ามาแล้วหลายคน
เรียกความขัดแย้งนี้ว่า “การต่อสู่เพื่อแย่งชามข้าว”
“ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจว่าการทำธุรกิจร่วมกันต้องได้รับประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย” จอห์น ลวิน กล่าว
ทั้งๆ ที่มีเรื่องราวอันน่ากลัวอยู่ แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางสาวงามหลายคนได้ เช่นเดียวกับ เค ซิน โป สาววัย 19 ปี ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อเข้าประกวดมิสเมียนมาร์เวิร์ดในปีหน้า เธอเริ่มจากการหัดเดินและโพสท่าที่ บริษัท Star & Models International
“ฉันเปลี่ยนใจไม่เข้าประกวดในปีนี้เพราะยังไม่ม่นใจในตัวเอง” เค ซิน โป กล่าว เธอเป็นเจ้าของตำแหน่งการประกวดนางงามที่มีรูปร่างดีของโรงเรียนมัธยม
“เรื่องหลักๆ ก็คือ การดูแลรูปร่างของฉันได้รูปและพัฒนาความสามารถพิเศษ (ร้องเพลง เต้นรำ หรือการแสดง)”
อีผิ่วอ่อง บรรณาธิการของนิตยสาร Sunday รายสัปดาห์ มองเห็นทั้งโอกาสและหลุมพรางของวงการนางงาม ว่าเป็นส่วนหนึ่งของบาดแผลจากการเติบโตของประเทศ
“มันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศของพม่า” เธอกล่าว “มันเป็นเหมือนฝุ่นที่เข้ามาตอนเราเปิดหน้าต่าง เราไม่สามารถปิดหน้าต่างทิ้งไว้ตลอดไปได้ ดังนั้นเราจึงต้องหาทางที่จะทำให้ฝุ่นเข้ามาน้อยที่สุดและเปิดรับแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด”