พบค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ ชาวบ้านฮือฮา เผยหายาก ใกล้สูญพันธุ์

 

ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ 
 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ข่าวสด
 
              ชาวบ้าน ต.เขากระปุก จ.เพชรบุรี ฮือฮา พบค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ หรือ ค้างคาวสี สัตว์หายาก ใกล้สูญพันธุ์ เล็งส่งสตาฟเก็บต่อไป
 
              เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 มีรายงานว่า นายปรีชา บุตรรอด อายุ 50 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พบค้างคาวสีสันประหลาด ขนาดเล็ก เพศผู้ ลำตัวกว้างประมาณ 3.5 ซม. ยาวประมาณ 7 ซม. เมื่อจับกางปีกออก วัดจากปลายปีกขวาถึงปลายปีกซ้ายยาว 23 ซม. มีลวดลายสีสันสีดำสลับส้มสวยงาม ลำตัวมีขนคลุมยาวหนาแน่นและปุย ใบหูค่อนข้างใหญ่ บนลำตัวมีสีส้มสด หน้าอกสีเหลืองนวลอ่อนเกือบขาว
 
             โดยนายปรีชา เผยว่า เมื่อคืนวันที่ 15 ตุลาคม เขาได้ขับรถกระบะออกไปทำธุระนอกบ้าน ก่อนกลับเข้าบ้านเมื่อเวลา 21.30 น. แล้วนำรถมาจอดในโรงรถ ซึ่งก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ จนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น เขาเดินมาที่รถ พบก้อนสีส้มติดอยู่กระจังหน้ารถใกล้ป้ายทะเบียน เมื่อดูใกล้ ๆ ก็พบค้างคาวตัวดังกล่าวตายติดอยู่ คาดว่าคงถูกรถชนตอนบินผ่านช่วงถนนที่สองข้างทางเป็นป่าละเมาะและสวนกล้วย
 
            ทั้งนี้ นายปรีชา ระบุว่า เขาทำสวนผลไม้มานานหลายสิบปี ไม่เคยเห็นค้างคาวลักษณะสีสันสวยงามแบบนี้เลย จึงเรียกเพื่อนบ้านมาดู ซึ่งทุกคนก็ยืนยันว่าไม่เคยพบค้างคาวแบบนี้มาก่อนในชีวิตเช่นกัน จึงคาดว่าน่าจะเป็นค้างคาวพันธุ์หายากหรือพันธุ์แปลก คนในหมู่บ้านก็สนใจมาดูกันเยอะ หลังจากนี้เขาก็จะมอบให้ อบต. เขากระปุกไปสตาฟเพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ดูกันต่อไป
 
             ทางด้าน นายเกียรติศักดิ์ กล่อมสกุล ผู้ประสาน กลุ่มดูนกเพชรบุรี ได้ให้ข้อมูลว่า ค้างคาวประหลาดดังกล่าว เป็นค้างคาวพันธุ์หายาก มีชื่อเรียกว่า ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ หรือ ค้างคาวสีมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Kerivoula picta เป็นค้างคาวขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ค้างคาวกินแมลง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในยอดใบกล้วยที่ม้วนเป็นหลอด และจะย้ายไปเรื่อย ๆ เมื่อยอดกล้วยแก่ขยายออก พบเกาะอยู่ตามใบแห้งของต้นไม้ ยอดหญ้าพง ยอดอ้อ และยอดอ้อย 
 
               อนึ่งค้างคาวดังกล่าว จะกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ตอนใต้ของประเทศจีน เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบไม่บ่อยและมีปริมาณไม่มากนัก แต่พบทุกภาค ลักษณะการบินคล้ายผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ แต่บินเร็วกว่ามาก ถือเป็นสัตว์หาดูยากมาก มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 อีกด้วย
 
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
Credit: http://hilight.kapook.com/view/109774
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...