วอลรัส 35,000 ตัว เกยตื้นบนชายฝั่งสหรัฐฯ ส่งสัญญาณภาวะโลกร้อนอันน่าห่วงที่โลกไม่ควรมองข้าม
ภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นระดับโลกที่มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ ทั่วโลกก็มีการรณรงค์เรื่องการร่วมมือกันลดโลกร้อนด้วยวิธีต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้ถุงพลาสติกหรือกล่องโฟม หรือแม้กระทั่งลดการใช้รถ แต่ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนว่าภาวะโลกร้อนจะยับยั้งได้ยากแล้ว เมื่อล่าสุด ได้เกิดอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ยืนยันการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกอย่างรวดเร็ว นั่นก็คือปรากฏการณ์วอลรัสเกยตื้นบนชายหาดในอะแลสกา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าสลดไม่ต่างอะไรจากปรากฏการณ์หมีขั้วโลกพากันล้มตายเลยทีเดียว
สำหรับเหตุการณ์วอลรัสพากันว่ายน้ำมาเกยตื้นครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ฝูงวอลรัสกว่า 35,000 ตัว ถูกเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐฯ (NOAA) ไปพบระหว่างที่พวกมันกำลังว่ายน้ำเกยตื้นอยู่บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอะแลสกา สหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากได้พบปรากฏการณ์แปลกนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานฯ ก็ได้เก็บภาพมาเผยแพร่ เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบกับสัตว์แถบขั้วโลกอย่างกว้างขวาง
วอลรัส เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งในอาศัยอยู่ในเขตหนาวเย็นอย่างแถบขั้วโลกเหนือ มหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มีลักษณะคล้ายกับแมวน้ำและสิงโตทะเล แต่จะแตกต่างตรงที่วอลรัสจะมีงาที่ยาวมาก ๆ ซึ่งงาที่ยื่นออกมายาว ๆ นี้ มีประโยชน์ในการใช้หาอาหาร ป้องกันตัว รวมถึงช่วยพยุงตัวเองขึ้นบนฝั่งได้ด้วย นอกจากนี้ผิวหนังของวอลรัสยังสามารถเปลี่ยนสีได้ตามอายุและสภาพอากาศ วอลรัสอายุน้อยจะมีสีน้ำตาลเข้มและสีจะเริ่มอ่อนลงเมื่ออายุมากขึ้น และเวลาที่ว่ายน้ำเย็นยะเยือกสีผิวหนังจะซีดจนเกือบขาว แต่หากเจอกับน้ำอุ่นหรือสภาพอากาศอุ่น ๆ สีก็จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดง
สำหรับวิถีชีวิตของวอลรัสนั้น จะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ แต่ละปีจะมีการอพยพตามฤดูกาล อย่างวอลรัสที่อาศัยอยู่ในทะเลเบริง ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ในฤดูหนาวตัวเมียก็จะออกลูกบนแผ่นน้ำแข็ง และใช้แผ่นน้ำแข็งเป็นพาหนะหาอาหาร (อาหารของวอลรัสคือหอยทากและหนอนต่าง ๆ) บริเวณน้ำตื้น แต่เมื่อฤดูร้อนมาถึง อุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้น แผ่นน้ำแข็งละลาย วอลรัสก็จะพากันอพยพตามกระแสน้ำเย็นขึ้นเหนือไปยังแผ่นน้ำแข็งในทะเลชัคชี มหาสมุทรอาร์กติก ผ่านทางช่องแคบเบริง
อย่างไรก็ดีตลอดหลายปีที่ผ่านมาภาวะโลกร้อนได้ทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการพบเห็นฝูงวอลรัสจำนวนมากมาเกยหาดในสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นแผ่นน้ำแข็ง โดยจากรายงานของทางการ มีการพบวอลรัสฝูงใหญ่เช่นนี้ตั้งแต่ปี 2550-2554 และดูเหมือนว่าวอลรัสกลุ่มเดิมจะมาเกยตื้นบนชายหาดอะแลสกาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจของสำนักงานจัดการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐฯ (NOAA) ในวันนั้น พบว่าไม่มีแผ่นน้ำแข็งลอยอยู่เหนือพื้นผิวมหาสมุทรบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก จึงไม่แปลกที่วอลรัสกว่า 35,000 ตัวจะพากันมาเกยตื้นบนชายหาด ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณโลกร้อนที่น่าเป็นห่วงมาก
ทั้งนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สัตว์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นน้ำแข็ง ส่งสัญญาณให้โลกรู้ว่าพวกมันกำลังประสบปัญหาใหญ่จากภาวะโลกร้อน แต่ก่อนหน้านี้การตายของหมีขั้วโลกจำนวนมากได้กลายเป็นประเด็นเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนที่ได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก โดยหลายปีก่อนมีการพบหมีขั้วโลกจำนวนมากตายในสภาพผอมแห้งเป็นหนังหุ้มกระดูก และผู้เชี่ยวชาญได้เปิดเผยว่า นี่เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อหมีขั้วโลกอย่างแท้จริง เพราะอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้น ทำให้พื้นน้ำแข็งละลายกลายเป็นทะเลอย่างรวดเร็ว หมีขั้วโลกก็ต้องว่ายน้ำไกลขึ้นทุกวันเพื่อออกล่าแมวน้ำ แต่เมื่อหาอาหารได้แล้ว จะว่ายน้ำกลับเข้าฝั่ง ก็พบว่าฝั่งที่พวกมันจากมามีระยะทางไกลขึ้นมาก เพราะน้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำหมด สุดท้าย หมีขั้วโลกหลายตัวก็ต้องอดตายและจมน้ำตายไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ หรือหากรอดชีวิต พวกมันก็ต้องประสบปัญหาในการล่าแมวน้ำเพื่อดำรงชีวิต จนทำให้พวกมันมีร่างกายผ่ายผอมลงจนน่าตกใจ และมีภูมิต้านทานร่างกายน้อยลง อีกทั้งยังทำให้สมรรถภาพในการสืบพันธุ์ของมันด้อยลงอีกด้วย