วังหน้า

วังหน้า คือ ที่ประทับของพระอุปราชครับ (ว่าที่พระเจ้าแผ่นดิน)
วังหน้า คือ ธรรมศาสตร์ โรงละครแห่งชาติ และพื้นที่แทบนั้นทั้งหมดจนจรดกฤษฎีกา
 

พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)      

          พระราชวังบวรสถานมงคล หรือเรียกสามัญว่า “วังหน้า” ตั้งอยู่ริมถนนหน้าพระธาตุในท้องที่แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร ในแนวคลองคูเมืองเดิม

          สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑  ทรงสร้างพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์ในพุทธศักราช ๒๓๒๕ เดิมมีอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าในปัจจุบัน มีกำแพงและป้อมล้อมรอบตั้งแต่ถนนพระจันทร์ กำแพงวังผ่างกลางสนามหลวงไปถึงหน้ากระทรวงยุติธรรม เลี้ยวไปตามถนนราชดำเนินใน วกไปตามถนนราชินีจนถึงท่าช้างวังหน้า อันเป็นบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการในปัจจุบัน คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยช่างศิลปะ วิทยาลัยนาฏศิลป วัดบวรสถานสุทธาวาส อนุสาวรีย์ทหารอาสา และสนามหลวงตอนเหนือ

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระราชวังบวรสถานมงคลขณะนั้นมีสภาพชำรุดทรุดโทรมทั่วไป ทรงพระราชดำริว่าเกินกำลังที่จะซ่อมบูรณะให้คงคืนสภาพเดิมได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อมปราการตลอดจนอาคารบางส่วนในพระราชวังบวรสถานมงคลเพื่อใช้ราชการ คือรื้อป้อมกำแพงวัดชั้นนอกออกทั้งหมดเหลือเพียงกำแพงด้านใต้ เขตพระราชวังด้านตะวันออกตัดเหนือเพียงริมถนนหน้าพระธาตุซึ่งเดิมเป็นถนนผ่านกลางพระราชวังตรงไปบรรจบถนนหน้าพระลาน บริเวณริมถนนหน้าพระธาตุฝั่งตะวันออก ให้รวมเป็นเขตท้องสนามหลวง ด้านใต้แบ่งเป็นที่ตั้งคลังแสง ด้านตะวันตกแบ่งที่ตอนหลังวังลงไปถึงริมแม่น้ำสร้างโรงทหาร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ด้านเหนือรื้อกำแพงและป้อมทำสนามและสร้างอาคาร ๓ หลัง เดิมใช้เป็นที่ทำการกระทรวงธรรมการต่อมาเป็นกระทรวงยุติธรรม แล้วเปลี่ยนเป็นกระทรวงคมนาคม แลปราบที่ไปทางวัดบวรสถานสุทธาวาสเมื่อปรับปรุงพระอุโบสถเป็นพระเมรุพิมาน ในงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เหลือเขตวังอยู่เพียงบริเวณพระราชมณเฑียรสถาน

          พุทธศักราช ๒๔๓๐ โปรดให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จากศาลาสหทัยสมาคม มาจัดที่พระที่นั่งส่วนหน้าของพระราชวังบวรสถานมงคล คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมานพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

          ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายในของพระราชวังบวรสถานมงคลเหลือน้อยลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปประทับในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานที่พระวิมานและพระราชมณเฑียรตอนในให้เป็นโรงทหารย้ายโรงราชรถมาสร้างข้างหน้า ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายทหารไปอยู่วังจันทรเกษม (บริเวณกระทรวงศึกษาธิการและคุรุสภาในปัจจุบัน) พระราชทานที่พระราชมณเฑียรทั้งบริเวณเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และเก็บรักษาหนังสือประเภทสมุดไทยและศิลาจารึกของหอพระสมุดสำหรับพระนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙ ขึ้นอยู่ในสังกัดของราชบัณฑิตยสภา

          ปัจจุบันพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นที่ทำการของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

 

วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า)

          วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือเรียกกันเป็นสามัญว่า “วัดพระแก้ววังหน้า” เป็นวัดที่อยู่ในเขตพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง คือ ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลด้านเหนือ เดิมบริเวณนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดให้สร้างวัดประทานแก่นักชีผู้เป็นมารดาของนักองค์อีและนักองค์เภาพระสนมเอกพร้อมทั้งชีอื่นที่เป็นบริวาร ถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ไม่มีชีอันสมควรแก่การอุปการะสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ จึงโปรดให้รื้อวัดชีทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย

          ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงอุทิศที่สวนกระต่ายสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาสเป็นพุทธบูชา กล่าวกันว่าสร้างขึ้นเพื่อแก้บนหรือเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้เสด็จยกกองทัพไปปราบเวียงจันทร์ โดยเหตุที่เป็นวัดในพระราชวังจึงไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา

          พระอุโบสถที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันนี้เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพมีพระดำริจะสร้างเป็นยอดปราสาท แต่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ห้าม เพราะไม่มีธรรมเนียม ที่จะมีปราสาทในพระราชวังบวร

 

พระธาตุพนมจำลอง ปัจจุบัน ไม่มีแล้วในวังหน้า วังหน้าถูกตัดพื้นที่ ไปเป็นสนามหลวง และ มหาลัย วิทยาลัย

 

 

 

 

ที่มา: http://www.m-culture.go.th/rattana/index.php/องค์ความรู้-3/201
Credit: PostJung
#วังหน้า
PatPuch
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
23 ก.ย. 57 เวลา 09:50 3,339
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...