ไม่ใช่แค่ไทยที่เตรียมพร้อมรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ สปป.ลาว ก็ตื่นตัวเรื่องนี้เช่นกัน โดยเปิดให้ภาคเอกชนจีน เข้ามาพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเวียงจันทน์ เพื่อให้พร้อมรับการลงทุนอื่นๆ ที่จะตามมา
พื้นที่แห่งนี้ เคยเป็นบึงน้ำที่ชาวลาว เรียกว่า บึงธาตุหลวง แต่ปัจจุบัน ได้ถมบึงบางส่วน และปรับพื้นที่เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยทางการลาว เปิดให้สัมปทานแก่บริษัท เซี่ยงไฮ้ วั่นเฟิง ของประเทศจีน เป็นผู้พัฒนา พ่วงด้วยสัญญาสัมปทานนาน 99 ปี
แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง วางคอนเซ็ปต์เป็นเมืองใหม่ใจกลางนครเวียงจันทน์ ประกอบด้วย โรงเรียนนานาชาติระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย , โรงพยาบาล , สถาบันการเงิน , ศูนย์วัฒนธรรม , โรงแรมระดับ 3-5 ดาวขึ้นไป , หอประชุมนานาชาติ , ชอปปิ้ง เซ็นเตอร์ , โซนที่อยู่อาศัยทั้งในรูปแบบบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ล้อมรอบด้วยธรรมชาติของแหล่งน้ำและสวนสาธารณะขนาดใหญ่
นอกจากนี้ จะพัฒนาเขตศูนย์การค้าปลอดภาษี เขตนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีอาเซียน , เขตศูนย์กลางการบริการทางธุรกิจการเงินและการลงทุน รวมถึงท่าเรือขนส่งสินค้า
บริษัทจีนที่เป็นผู้รับสัมปทาน จะรับผิดชอบการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค มูลค่าลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์ฯ จากนั้น จะเปิดให้เอกชนที่สนใจ รวมถึงนักธุรกิจไทยเข้ามาลงทุนตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ ซึ่งจีนตกลงแบ่งรายได้ให้ลาว ร้อยละ 50 ของรายได้ค่าเช่า ปัจจุบัน มีนักธุรกิจจากจีนและญี่ปุ่น จองพื้นที่ลงทุนบางส่วนไปแล้ว
ทางการลาว คาดหวังว่า โปรเจ็กต์นี้จะช่วยกระตุ้นจีดีพี ของประเทศให้ขยายตัวได้ถึง 10 เท่าในอนาคต จากปัจจุบัน ขยายตัวร้อยละ 6-7 ต่อปี
ความได้เปรียบของลาว อยู่ที่การเป็นแลนด์ลิ้งค์ (Land link) เชื่อมต่อจีน ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ช่วยอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ รวมถึงปัจจัยค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำ จึงดึงดูดนักธุรกิจให้เข้าไปแสวงหาการลงทุน แต่ด้วยจำนวนประชากรทั้งประเทศไม่ถึง 7 ล้านคน อาจทำให้เกิดคำถามว่า ลาว พร้อมหรือยังสำหรับการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะตามมาในเร็วๆ นี้