ภาพงูตัวหนึ่งที่ถูกแชร์ทั่วโลกออนไลน์ โดยมีข้อความเตือนว่าคือ งูลายสอ ถ้าถูกกัดจะเสียชีวิต
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก โครงการอุนทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
งูลายสอ มีพิษหรือไม่ มาทำความรู้จักกับงูลายสอ ลักษณะของงูลายสอ ที่มักจะมาในหน้าฝน
สร้างความข้องใจให้กับใครหลาย ๆ คนเลยล่ะ สำหรับภาพงูตัวหนึ่งที่ถูกแชร์ทั่วโลกออนไลน์ โดยภาพดังกล่าวมีข้อความเตือนว่า งูตัวดังกล่าว คือ "งูลายสอ" ขนาดเล็กกว่าหลอดนม ถ้าถูกกัดจะเสียชีวิต ซึ่งอยากฝากเตือนให้ทุกคนโปรดระมัดระวังก่อนสวมรองเท้าหรือตามพรมเช็ดเท้าให้ดี เพราะงูชนิดนี้ตัวเล็กมาและจะมาในหน้าฝน... งานนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาให้ข้อมูลว่า งูลายสอจริง ๆ แล้วไม่มีพิษร้ายแรงจนถึงขนาดกัดคนตายอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นงูประเภทไม่มีพิษต่างหาก เอ้า ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ วันนี้กระปุกดอทคอม จะขอนำเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับเจ้างูลายสอ ว่าจริง ๆ แล้วมีพิษหรือไม่ แล้วมีลักษณะอย่างไรบ้าง
งูลายสอ
งูลายสอ (Xenochrophis sp.) จัดอยู่ในวงศ์ Colubridae เป็นงูไม่มีพิษและงูพิษเขี้ยวหลัง (Rear-fanged Snakes) ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ถึงงูลายสอจะไม่มีพิษ แต่เขี้ยวของมันก็ยาวพอจะทำให้เจ็บได้หากโดนกัด
ชนิดของงูลายสอและลักษณะของงูลายสอ
งูลายสอใหญ่
งูลายสอใหญ่ (Xenochrophis piscator) มีลักษณะรูปร่างเพรียว ปลายหัวมน ช่วงคอคอดเล็กน้อย หางตาและใต้ตามีลายเส้นสีดำ รูม่านตากลม เกล็ดแบบสัน หัวและลำตัวสีน้ำตาลเข้มหรือสีเหลือง ส่วนใหญ่ลำตัวมีลายหมากรุกสีดำ ท้องสีดำสลับขาว ตัวไม่เต็มวัยลายขีดสีดำบริเวณหางตายาวขึ้นไปถึงบริเวณท้ายทอย ข้างคอสีเหลือง ลำตัวสีน้ำตาลออกเหลือง ท้องขาวไม่มีลาย ไม่มีพิษ สามารถพบตามพื้นและริมลำธาร ในที่ราบลุ่ม ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น พบทั่วประเทศไทย และพบแพร่กระจายแถบเทือกเขาหิมาลัย
งูลายสอสวน หรืองูลายสอบ้าน
งูลายสอสวน หรืองูลายสอบ้าน (Xenochrophis flavipunctatus) มีลักษณะหัวสีเขียวเข้ม ปากสีอ่อนกว่าหัว มีลายเส้นสีดำบริเวณใต้ตาและหางตาขนานกันเฉียงไปทางด้านท้ายลำตัว และมีเส้นสีดำจากขากรรไกรบนไปยังบนหลังแต่ไม่เชื่อมกัน สีเส้นสีดำขนานกันบนกระหม่อม ลำตัวสีน้ำตาลเหลือง มีจุดขนาดใหญ่สีดำบริเวณหลังส่วนต้นของลำตัว และเล็กลงทางด้านท้ายของลำตัว จนหายไปบริเวณหาง ท้องสีอ่อนกว่าบนหลัง ด้านท้ายของเกล็ดท้องแต่ละเกล็ดมีสีดำ เกล็ดลำตัวมีลักษณะเป็นสันชัดเจน เกล็ดกลางลำตัว 19 แถว เกล็ดหัวตา 1 คู่ เกล็ดหางตา 3 คู่ เกล็ดระหว่างเกล็ดจมูกกับเกล็ดหัวตา 1 คู่ เกล็ดริมฝีปากบน 8 คู่ ตำแหน่งเกล็ดที่ 4 และ 5 อยู่ติดกับตา เกล็ดริมฝีปากล่าง 10 คู่ เกล็ดทวารคู่ เกล็ดใต้หางคู่ วางไข่ครั้งละ 25 ฟอง ระยะฟักไข่นาน 43 วัน มีเขี้ยวบนขากรรไกรบนด้านในปาก สามารถพบตามริมน้ำ แพร่กระจายทั่วประเทศไทย
งูลายสอจุดขาว หรือลายสอดำ
งูลายสอจุดขาว หรือ งูลายสอดำ (Xenochrophis punctulatus) จัดเป็นงูลายสอขนาดค่อนข้างเล็ก มีลำตัวเป็นทรงกระบอกค่อนข้างสั้นและแบนข้างเล็กน้อย หัวค่อนข้างแบน กว้างกว่าคอชัดเจน ตามีขนาดเล็ก และหางไม่ยาวมากนัก สีของตัวโดยรวมเป็นสีดำ สีบนเกล็ดบางส่วนและหนังระหว่างเกล็ดเป็นสีขาวจนทำให้เห็นเป็นจุดขาวกระจายทั่วตัว เกล็ดท้องขาวมีขอบดำ มีเส้นขาวข้างลำตัวใกล้ส่วนท้อง อาศัยตามแหล่งน้ำในป่าชายเลน แม้แต่ยามนอนก็ยังนอนตามต้นไม้เหนือระดับผิวน้ำเพียงเล็กน้อย หากินเวลากลางวันโดยเฉพาะเมื่อยามน้ำลง ชอบกินปลาเป็นอาหารโดยจะลงดำน้ำไล่จับปลาอย่างคล่องแคล่ว และบางครั้งก็กินสัตว์จำพวกกบ มีฟันที่แหลมคมมากเพื่อช่วยในการจับปลาไม่ให้ดิ้นหลุดได้โดยง่าย แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ครั้งละประมาณ 17 ฟอง ส่วนมากพบที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ระนอง จัดเป็นงูประเภทหายาก
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงแม้ข้อมูลจะระบุว่า งูลายสออยู่ในจำพวกงูพิษอ่อน แต่ขึ้นชื่อว่า "งู" ก็ไม่น่าไว้วางใจว่าไหม ยังไงก็ดูแลทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย เพราะไม่ใช่แค่อาจจะเจองูลายสอ แต่อาจจะเจองูพิษอื่น ๆ ก็ได้ ระมัดระวังกันด้วยนะคะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
โครงการอุนทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ