การศึกษาไทยดิ่ง "ลาว-เขมร"แซง

อดีตเลขาฯ สกอ.ยอมรับไทยแพ้ลาวแล้ว หลังเวิลด์อีโคโนมิกฯ เผยการศึกษาไทย อยู่อันดับท้ายๆ ในอาเซียน

เมื่อวันที่ 7 กันยายน นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ข้อมูลเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกทั้งหมด 144 ประเทศทั่วโลก จากรายงานโกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ท 2014-2015 (Global Competitiv Report 2014-2015) โดย เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum-WEF) โดยสรุป ปรากฏว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อยู่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20 ของโลก แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะดัชนีด้านการศึกษาแล้ว จะเห็นได้ว่า มีความน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ของอาเซียน จากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับ 6 และเป็นอันดับที่ 86 ของโลก โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ขยับไปแทนที่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน และทิ้งห่างไทยไปอยู่ในอันดับที่ 79 ของโลก ส่วนคุณภาพของระดับอุดมศึกษาของไทย อยู่ที่อันดับ 8 ของอาเซียน เป็นอันดับที่ 78 ของโลก ตามหลัง สปป.ลาว ที่อยู่อันดับ 6 ของอาเซียน และอันดับที่ 57 ของโลก ส่วนประเทศกัมพูชา อยู่อันดับ 7 ของอาเซียน อันดับ ที่ 76 ของโลก แม้ว่าขีดความสามารถด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ของไทยจะอยู่อันดับค่อนข้างดี คืออันดับ 5 ของอาเซียน แต่อยู่อันดับ 80 ของโลก

"เมื่อวิเคราะห์ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ต่อจำนวนประชากรของประเทศ พบว่า ไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 79 ของโลก เท่ากับว่าประเทศในอาเซียนที่มีจีดีพีต่ำกว่าไทย กลับจัดการศึกษาได้ดีกว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ WEF จัดให้คุณภาพของการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ของสิงคโปร์ เป็นอันดับ 1 ของโลก นอกจากนี้ การศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่อันดับต่ำกว่าลาว ขณะที่อุดมศึกษาไทยแพ้ทั้งลาวและกัมพูชา ดังนั้น ที่พูดว่าไทยแพ้ลาวแล้ว ทุกวันนี้จึงไม่ใช่คำพูดเล่นๆ อีกต่อไป" นายภาวิชกล่าว

นายภาวิชกล่าวอีกว่า การศึกษาถือเป็นดัชนีหนึ่งในการชี้อนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว หากการศึกษาไม่ดี เศรษฐกิจก็อาจจะแย่ลง โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หากแย่ลงก็จะกระทบต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น ประการแรก จึงควรต้องเพิ่มเรื่องคุณภาพการศึกษา ที่ผ่านมามีประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เองไม่ชัดเจน และพูดในเชิงต่อต้านมาตลอดคือ การรื้อหลักสูตร โดยจะต้องเปลี่ยนมาเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ไม่ไช่เน้นเนื้อหาเช่นปัจจุบัน

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนทราบรายงานการจัดอันดับของ WEF แล้ว แต่ต้องไปดูรายละเอียด โดยเฉพาะกระบวนการและวิธีการประเมิน หากผลการจัดอันดับเป็นจริงตามข้อมูลของ WEF สพฐ.คงต้องยอมรับ จากนั้นต้องไปวิเคราะห์เจาะลึกลงไปอีกว่า ไทยอ่อนตรงจุดไหน เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ที่ผ่านมาได้วางแผนในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาไว้เบื้องต้นแล้ว จากนี้ตนพร้อมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ.จะเดินหน้าจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เพิ่มอันดับการทดสอบในระดับต่างๆ ทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) หรือคะแนนโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Programme for International Student Assessment (PISA) จะต้องตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าในปีต่อไปต้องเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และจะเริ่มเดินตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวทันทีในปีงบประมาณ 2558

"ขณะเดียวกันต้องรอฟังนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่ามีทิศทางอย่างไร เพื่อผสานการทำงานตามนโยบายที่ สพฐ.วางไว้ กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และรัฐบาลไปด้วยกัน ทั้งนี้ เรื่องที่ สพฐ.อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลเรื่องการศึกษา มี 3 เรื่องหลักๆ คือ อยากให้ช่วยผลักดันให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ของ สพฐ.เอง เพื่อให้การบริหารจัดการบุคคลของ สพฐ.รวดเร็ว ช่วยดูแลผลักดันเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษา และเตรียมปรับค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กให้สอดคล้องกับความเป็นจริง รวมถึง ดูแลค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับเด็กต่างด้าว ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีด้วย" นายกมลกล่าว

นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า WEF เป็นการรายงานข้อมูลโดยใช้ผลความพึงพอใจต่อคุณภาพบัณฑิตของนายจ้างมาเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ยอมรับว่าอุดมศึกษาไทยมีปัญหาว่าผลิตบัณฑิตออกมาแล้วไม่สามารถทำงานได้ทันที สถานประกอบการต้องเสียเวลาฝึกงานให้ระยะหนึ่ง อาจทำให้สถานประกอบการของไทย พึงพอใจต่อคุณภาพบัณฑิตค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ถูกจัดอยู่ในอันดับท้ายๆ ส่วนอันดับที่อยู่ท้ายๆ จนตามหลัง สปป.ลาว และกัมพูชานั้น อาจเป็นเพราะทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา ยังมีอุตสาหกรรมน้อยกว่าไทย จึงสามารถเลือกบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการได้มากกว่า เป็นธรรมดาที่ต้องมีความพึงพอใจมากกว่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่พยายามส่งเสริมการเรียนในหลักสูตรทวิภาคี เรียนในสถานประกอบการ หรือเรียนไปทำงานไป เพื่อช่วยเพิ่มทักษะในการทำงานให้กับบัณฑิตมากขึ้น เรื่องนี้คงต้องมีการส่งเสริมในระยะยาวด้วย

"ขณะเดียวกัน อยากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.อีก 2 คน ช่วยผลักดันงบวิจัย เพราะงานวิจัยถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอุดมศึกษา รวมถึง อยากให้ดูแลงบ ในเรื่องของการส่งเสริมอาจารย์ และบุคลากรต่างๆ ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อนำความรู้มาช่วยพัฒนาประเทศด้วย" นพ.กำจรกล่าว

 

 

 

Credit: PostJung
#การศึกษา #ลาว #เขมร
PatPuch
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
9 ก.ย. 57 เวลา 09:09 11,827 4 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...