แมงกะพรุน สัตว์สวยงามพิษร้ายลึกในท้องทะเล

แมงกะพรุน สัตว์สวยงามพิษร้ายลึกในท้องทะเล

 
แมงกะพรุน
 

 
 
          แมงกะพรุน คือ สัตว์พิษร้ายใต้ทะเลลึก ทั้งแมงกะพรุนหลากสี แมงกะพรุนกล่อง แมงกะพรุนจืด ว่าแต่ละตัวมีพิษร้ายขนาดไหน และมีวิธีแก้พิษแมงกะพรุนอย่างไร
 
          เป็นข่าวที่หลายคนให้ความสนใจไม่น้อยเลยล่ะ สำหรับเจ้าแมงกะพรุนหลากสี ที่ออกมาโชว์โฉมลอยตัวบนผิวน้ำทะเลระยองหลายพื้นที่ ซึ่งคนที่สนใจก็สะพายกล้องไปแชะภาพไว้เป็นที่ระลึกเพียบเลย ถึงแม้ว่าเจ้าแมงกะพรุนจะสีสวยใสหน้าตาน่ารัก แต่ขอบอกเลยว่าบางชนิดนั้นมีพิษร้ายน่ากลัว บางรายถ้ารักษาไม่ทันก็อาจจะทำให้ถึงตายได้นะ ซึ่งในวันนี้เราก็ขอพาไปทำความรู้จักกับเจ้า"แมงกะพรุน" ว่ามีกี่ประเภท มีประโยชน์อย่างไรบ้าง และหากโดนพิษของมันจะมีวิธีแก้อย่างไร 
 
 
 แมงกะพรุน คือ
 
          แมงกะพรุน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Jellyfish นั้น จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง  มีลักษณะลำตัวใสและอ่อนนิ่มคล้ายวุ้น ด้านบนมีลักษณะนูน รูปร่างคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำ มีหนวดเป็นเส้น ๆ อยู่รอบบริเวณขอบร่ม เพื่อใช้เป็นเครื่องสัมผัสและทรงตัว ถัดจากขอบร่มเข้าไปตรงกลางใต้ร่ม จะมีเส้นยาว ๆ ลักษณะคล้ายหนวดปลาหมึกห้อยย้อยลง โดยส่วนปลายของเส้นจะคอยทำหน้าที่ล่าเหยื่อหรือจับเหยื่อใส่ปาก 
 
          นอกจากนี้ แมงกะพรุนยังมีระบบประสาท เส้นประสาทของแมงกะพรุนจะต่อกันเป็นร่างแหตามลำตัวและหนวด เพื่อรับสัมผัสและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม แต่แมงกะพรุนไม่มีสมอง ไม่มีกระดูก ไม่มีหัวใจ และไม่มีปอด โครงสร้างของร่างกายมีเพียงเนื้อเยื่อสองชั้นมาบรรจบกันเป็นปากอยู่กลางลำตัว ส่วนบริเวณรอบปากจะมีส่วนที่ห้อยยื่นออกมาเป็นพู 4 พู มีทางเดินอาหารและกระเพาะอาหารและมีช่องเปิดออกได้เพียงช่องเดียว ทำหน้าที่เป็นปากและทวารหนัก ระหว่างเนื้อเยื่อจะมีสารที่มีลักษณะคล้ายวุ้นเรียกว่า มีโซเกลีย (Mesoglea) ทำหน้าที่ยึดเนื้อเยื่อทั้งสองเข้าด้วยกัน ส่วนร่างกายมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึง 95 เปอร์เซนต์ อย่างไรก็ตามแมงกะพรุนทุกชนิดมีเซลล์ที่เรียกว่า Cnidocyte ที่มีเข็มพิษ (Nematocyst) แต่จะมีระดับความเข้มข้นของพิษที่แตกต่างกันไป
 
           การเคลื่อนที่ของแมงกระพรุน แมงกะพรุนจะใช้กล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณขอบของร่มในการว่ายน้ำเคลื่อนที่ มีวิธีการคือเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวขอบของร่มก็จะหุบลง น้ำทะเลก็จะถูกขับออกจากร่างกายทำให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ โดยใช้แรงขับดันของน้ำ เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวขอบของร่มก็จะเปิดออก น้ำทะเลก็จะไหลเข้าไปใหม่หมุนเวียนสลับกันไป  อย่างไรก็ดีแมงกะพรุนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตโดยการลอยตามกระแสน้ำมากกว่า
 
 
 
 แมงกะพรุนกล่อง แมงกะพรุนที่อันตรายที่สุดในโลก
 
          แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) มีอีกชื่อหนึ่งว่า แมงกะพรุนอิรุคันจิ (irukandji jellyfish) หรือตัวต่อทะเล มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มาโล คิงกิ (Malo kingi) โดยตั้งชื่อตาม โรเบิร์ต คิง (Robert King) นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เสียชีวิตจากพิษของแมงกะพรุนกล่อง 
 
         ทั้งนี้แมงกะพรุนกล่อง เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลักษณะโปร่งใสสีฟ้าอ่อน รูปร่างคล้ายลูกบาศก์จึงได้ชื่อว่า แมงกะพรุนกล่อง มีขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีหนวดบาง ๆ งอกออกมาถึง 15 เส้น สามารถยืดได้ไกลถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นจะประกอบด้วยเซลล์พิษจำนวนมาก อีกทั้งยังมีดวงตาที่มีประสิทธิภาพสูงเกาะกลุ่มกันอยู่รอบตัวสี่ทิศ
 
          นอกจากนี้ แมงกะพรุนกล่อง ยังสามารถเคลื่อนที่พุ่งขึ้นสู่ด้านบนได้อย่างรวดเร็วมาก และว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที จึงสามารถจับสัตว์ทะเลกินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย แมงกะพรุนกล่องมักอาศัยอยู่ตามทะเลในเขตอุ่น เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวาย ฯลฯ ช่วงที่พบได้มากที่สุดคือ เดือนตุลาคม-เมษายน และหลังจากช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง
 
          สำหรับการพบในประเทศไทย พบว่า แมงกะพรุนกล่องถูกพบครั้งแรกในน่านน้ำไทย หลังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถูกเข็มพิษของแมงกะพรุนทิ่มหลายรายในปี พ.ศ. 2551 โดยที่บางรายถึงกับเสียชีวิตทันที และมีนักท่องเที่ยวรายหนึ่งที่เกาะหมากจังหวัดตราด ยืนยันว่าลูกชายของตนถูกพิษจากแมงกะพรุนกล่องจนอาการสาหัส 
 
          ต่อมาหัวหน้าสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต เปิดเผยว่า แมงกะพรุนกล่องมีอยู่ในประเทศไทยจริง และพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้นั้นเทียบเท่ากับหอยเต้าปูนและหมึกสายวงน้ำเงิน อย่างไรก็ตาม ด้วยเข็มพิษที่มีกว่าล้านเซลล์ตามหนวดที่ยืดออกมาของแมงกะพรุนกล่อง ทำให้แมงกะพรุนกล่องเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก โดยพิษนี้จะสร้างความเจ็บปวดอย่างรุนแรงแก่ผู้ที่ได้รับ ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้ โดยพิษสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง และเมื่อเข้าสู่ระบบประสาท ก็จะกดทับระบบประสาททำให้หยุดหายใจ และยังมีผลต่อระบบหัวใจ โดยทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นเฉียบพลัน บางรายยังไม่ทันขึ้นจากน้ำ พิษก็จะเข้าสู่หัวใจทำให้หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตทันที
 
 แมงกะพรุนถ้วย
 
          แมงกะพรุนถ้วย หรือ แมงกะพรุนหลากสี จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัม Cnidaria คลาส Scyphozoa วงศ์ Catostylidae มีลักษณะลำตัวใสนิ่ม ลักษณะคล้ายร่ม มีหนวดทรงกรวยแปดหนวดอยู่ด้านล่างของลำตัว มีเข็มพิษบริเวณหนวดใช้สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ พิษของแมงกะพรุนถ้วยมีความรุนแรงไม่มากนัก และไม่เป็นอันตรายต่อคน แมงกะพรุนชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไปบริเวณกลุ่มเกาะมลายูและคาบสมุทรอินโดจีน มีสีสันแตกต่างกันไป ตั้งแต่ขาว เหลืองนวล น้ำตาล ฟ้า ม่วง น้ำเงิน
 
 อาหารของแมงกะพรุน
 
           ส่วนใหญ่จะเป็นตัวอ่อนของสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เช่น กุ้ง ปลาโดยใช้อวัยวะที่เรียกว่า เข็มพิษ (Nematocyst) ดักจับอาหาร เข็มพิษนี้มีลักษณะเป็นกระเปาะที่บริเวณหนวด ประกอบด้วยน้ำพิษและฉมวกยาวเป็นเส้นด้าย เข็มพิษไม่มีระบบประสาทมาควบคุม ดังนั้นเมื่อมีสิ่งเร้าทั้งทางเคมีและกายภาพมากระทบ เข็มพิษจะตอบสนองทันที โดยไม่มีการจำแนกว่าสิ่งที่มากระทบนั้นคืออะไร และเหยื่อที่โดนเข็มพิษจะถูกทำให้เป็นอัมพาตทันที จากนั้นเหยื่อจะถูกหนวดของแมงกะพรุนจับเข้าสู่ปาก
 
 แมงกะพรุนที่ใช้บริโภค
 
          แมงกะพรุนได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ แมงกะพรุนที่ใช้บริโภคและแมงกะพรุนที่เป็นพิษ ไม่สามารถบริโภคได้ แมงกะพรุนที่ใช้บริโภคได้ มีดังนี้
 
          - แมงกะพรุนลอดช่อง หรือ Lobonema smithii จะมีลำตัวใส มีสีฟ้า ขาว ชมพู และม่วงคราม ผิวนอกของร่มจะมีเส้นเล็ก ๆ คล้ายวุ้น เป็นเส้นตรงเหมือนเส้นลอดช่องสิงคโปร์ ส่วนเส้นที่อยู่ตรงกลางใต้ร่มจะมีขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางร่มอยู่ระหว่าง 20-50 เซนติเมตร
 
          - แมงกะพรุนหนัง หรือ Rhopiloma hispidum หรือแมงกะพรุนส้มโอ ลำตัวจะมีสีขาว หรืออาจมีจุดประสีน้ำตาล ผิวหยาบขรุขระค่อนข้างแข็งคล้ายเปลือกส้มโอ
 
          - แมงกะพรุนหอม หรือ Mastigias sp. ลำตัวจะมีสีน้ำตาลไหม้ ผิวนอกของร่มเป็นปุ่มนูนยาวคล้ายผิวของมะกรูด
 
 แมงกะพรุนที่เป็นพิษ
 
          ในประเทศไทยยังไม่มีการจำแนกชนิดของแมงกะพรุนที่เป็นพิษอย่างชัดเจน แต่ที่รู้จักกันดี คือ 
 
          - แมงกะพรุนไฟ มีรูปร่างคล้ายแมงกะพรุนหนัง แต่มีขนาดเล็กกว่า มีร่างกายส่วนที่เป็นร่มค่อนข้างแบนไปกับบริเวณขอบร่ม บางส่วนที่คล้ายด้ามร่มเป็นสายพันกันไปมา และบางส่วนพองเป็นถุง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของร่มอยู่ที่ประมาณ 30 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลอมม่วง นอกจากนี้ยังมีแมงกะพรุนสาหร่ายและแมงกะพรุนหวี มีลักษณะที่คล้ายกันคือ มีหนวดเป็นสายยาวต่อจากลำตัวหลายเส้น แต่ละเส้นยาวประมาณ 1.50 เมตร ถ้าหนวดนี้ขาดหลุดออกไปก็สามารถทำอันตรายกับผู้ที่โดนได้
 
 พิษของแมงกะพรุน
 
        พิษในแมงกะพรุน นับว่าเป็นสารที่มีความซับซ้อนและสามารถทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้  พิษในแมงกะพรุนจะส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกายของมนุษย์ เช่น พิษต่อหัวใจ พิษต่อประสาท พิษต่อผิวหนังทำให้เกิดการเน่าตาย พิษต่อกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย พิษสลายเม็ดเลือดแดง พิษต่อเซลล์ เป็นต้น
 
        อาการที่เกิดขึ้นเมื่อถูกพิษของแมงกะพรุน คือ ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน ตกเลือด เกิดอาการชา รวมไปถึงปวดท้อง จุกเสียด แน่นหน้าอกและเป็นไข้ บางรายอาจมีอาการท้องร่วง บริเวณที่ถูกพิษมักเป็นรอยแผลไหม้ อาจทำให้เกิดอาการอักเสบหรือติดเชื้อได้ ในรายที่ถูกพิษมากและเป็นชนิดที่ร้ายแรงจะมีอาการชักจนหมดสติอาจถึงตายได้ หรือบางรายอาจมีอาการเสียงแหบแห้งหลายวัน
 
 วิธีการแก้พิษแมงกะพรุน
 
          เมื่อถูกพิษของแมงกะพรุน ควรรีบนำผู้ป่วยขึ้นจากน้ำทะเลโดยเร็ว จากนั้นให้เอาน้ำทะเลล้างบาดแผล เพื่อให้น้ำทะเลล้างเอาพิษออก บางครั้งจะมีหนวดของแมงกะพรุนติดขาดมากับผิวหนัง อย่าใช้มือเปล่าหยิบออกโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายเร็วขึ้น 
 
         นอกจากนี้ คนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบอกว่า ผักบุ้งทะเลสามารถรักษาพิษของแมงกะพรุนได้ โดยนำใบผักบุ้งทะเลมาตำหรือขยี้ให้ละเอียด แล้วนำไปพอกบริเวณที่โดนพิษของแมงกะพรุน จะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้
 
 ประโยชน์ แมงกะพรุน  
 
           แมงกะพรุนใช่เพียงแต่จะมีแต่อันตรายเพียงอย่างเดียว จากการบันทึกในเภสัชศาสตร์จีน แมงกะพรุนยังมีประโยชน์ที่มากหลาย ทั้งสามารถขับไล่ลม ขจัดเสลด อีกทั้งจากบันทึกของรุ่นเก่า บอกว่า แมงกะพรุนยังสามารถใช้รักษาแผลไฟลวก แก้อาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะได้อีกด้วย
 
          อย่างไรก็ตาม การนำแมงกะพรุนมาใช้ประโยชน์ข้างต้น ยังไม่มีการทำวิจัยศึกษาที่ชัดเจน จึงควรศึกษาให้รอบคอบก่อนการนำไปใช้
 
          เมื่อได้รู้จักกับแมงกะพรุนเป็นอย่างดีแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจกันมากขึ้นว่า แมงกะพรุนนอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังมีพิษร้ายแรงที่น่ากลัวอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีหลายประเทศที่นิยมนำแมงกะพรุนมาใช้เป็นอาหาร เช่น จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ นอกจากนี้แมงกะพรุนก็ยังมีประโยชน์ทางยา แต่ก็ควรที่จะศึกษาให้ดีก่อนนำแมงกะพรุนมาใช้กับร่างกาย
 

 

                    

ที่มา: http://www.ufocool.com/index.php?500740 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 
aquatoyou.com, bjw6413.orgfree.com, emcor.go.th
8 ก.ย. 57 เวลา 10:00 2,930
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...