สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สาเหตุที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้เลือดของคนที่หายป่วยจากอีโบลา มาใช้รักษาผู้ป่วยรายอื่นที่ติดเชื้อนี้ ก็เพราะการหายป่วยจากเชื้ออีโบลาจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานเชื้อนี้ขึ้นมาในเลือด ดังนั้น ก็ควรใช้เลือดจากคนที่หายป่วยมารักษาคนอื่นที่ติดเชื้อนี้
ทั้งนี้ ในทางทฤษฏีการถ่ายภูมิต้านทานจากผู้ที่หายป่วยไปยังคนไข้ที่กำลังป่วยอยู่ เพื่อให้สร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองในร่างกายนั้น
เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และผลการศึกษาเมื่อปี 1995 ตอนที่เกิดการระบาดของเชื้ออีโบลา ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ก็พบว่า การถ่ายเลือดของคนที่หายป่วย ไปยังคนที่กำลังป่วยจากเชื้ออีโบลานั้น ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 7 ใน 8 เลยทีเดียว
ขณะที่ การระบาดของเชื้ออีโบลาในตอนนี้ ทางองค์การอนามัยโลกเห็นว่า มีคนที่หายป่วยไปแล้วหลายราย ดังนั้น ควรลองใช้วิธีถ่ายเลือดในแบบนี้ดูบ้าง เผื่อว่าจะได้ผล เพราะปัจจุบันยังไม่มียา หรือ วัคซีนใด ที่ได้รับการรับรองว่า รักษาหรือป้องกันอีโบลาได้ผล
อย่างไรก็ตาม การทดลองใช้วัคซีนป้องกันอีโบลา ก็ได้เริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้
และจะกระจายการทดลองไปยังอังกฤษ มาลี และแกมเบีย ในสัปดาห์ถัดไป แต่กว่าจะรู้ผลว่า วัคซีนใช้ได้หรือไม่ก็น่าจะประมาณเดือน พ.ย. ซึ่งถ้าวัคซีนได้ผล ก็จะรีบนำไปใช้ในแอฟริกาตะวันตกทันที ส่วนยาซีแมพพ์ ที่ทดลองใช้รักษาอีโบลานั้นยังอยู่ระหว่างการประเมินผล