คุณรู้จัก 29 กุมภา ดีแค่ไหน

คุณรู้จัก 29 กุมภา ดีแค่ไหน

วันที่ 29 กุมภาพันธ์นับเป็นความพิเศษเพราะมีได้แค่ 4 ปีครั้ง และวันที่ 29 ก.พ.แห่งปี 2008 นี้ก็พิเศษเข้าไปอีก เพราะวันที่ 29 ก.พ.นี้ ตรงกับวันศุกร์ นับเป็นครั้งแรกใน 28 ปี
      
เชื่อว่าถ้าใครมีความสามารถคลิกเข้ามานั่งอ่านบทความชิ้นนี้ คงต้องเคยผ่าน 29 กุมภาพันธ์มาแล้วอย่างน้อย 3-4 รอบ
      
ว่าแต่...คุณรู้จัก “วันที่ 29 กุมภาพันธ์” ที่มา 4 ปีครั้งดีแค่ไหนลองทดสอบด้วยการตอบคำถามเหล่านี้ดู
      
1. ลองไล่ดูว่าปีที่จะมีวันที่ 29 ก.พ.ในอีก 5 รอบหลังจาก 2008 นี้มีปีอะไรบ้าง?
      
2. ถ้าพจมานเกิดปี 1988 ดังนั้นวันที่ 29 กุมภาครั้งแรกของเธอ คือปีอะไร?
      
3. ปีไหนบ้างที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน : 1900, 1972, 1956, 1946, 1992, 1886, 1420, 1600
      
4. ปีนี้วันที่ 1 ม.ค.ตรงกับวันอังคาร ส่วนปีที่แล้ว 1 ม.ค.ตรงกับวันจันทร์ และก่อนหน้านั้น (ปี 2006) วันที่ 1 ม.ค.ตรงกับวันอาทิตย์ ลองทายดูแบบไม่เปิดปฏิทินว่า 1 ม.ค.ปีหน้า (2009) และวันที่ 1 ม.ค.2013 ตรงกับวันอะไรบ้าง?
      
5. ปีปกติมี 365 วัน แต่ทุกๆ 4 ปีจะต้องเพิ่มขึ้นมาอีก 1 วันเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ นั่นหมายความว่าโลกใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์นานกว่า 365 วัน แท้จริงแล้วโลกใช้เวลานานแค่ไหนโคจรรอบดวงอาทิตย์?
      
       ... ดูเฉลยท้ายบทความ ...
       แต่จะอ่านคำอธิบายในย่อหน้าถัดๆ ไปก่อนก็ไม่เกี่ยง !!
      
       เราจะหาว่าปีไหนบ้างที่มีเดือนกุมภาได้ 29 วัน มีกฎง่ายๆ คือ
      
       ปีคริสตศักราชที่หารด้วย 4 ลงตัว
       (อย่างปีนี้ 2008)
      
       แต่ 99% ของกฎในสากลโลกต้องมีข้อยกเว้น..
       นั่นก็คือ ปีที่หารด้วย 100 ลงตัวไม่ต้องเพิ่มวันที่ 29 เข้าไป
       (อย่างปี 1900 และ 1800 ก็หารด้วย 4 ลงตัวและหารด้วย 100 ลงตัว ดังนั้นจึงไม่ต้องเพิ่มวันที่ 29 ลงไป)
      
       แต่นั่นหาใช่สิ้นสุดไม่...
       เพราะมีข้อยกเว้นของข้อยกเว้นบอกอีกว่า... แม้จะผ่านด่านหารด้วย 4 และ 100 ลงตัวแล้วก็ตาม แต่ถ้าปีนั้นเกิดหารด้วย 400 ลงตัว ให้กลับไปใช้หลักการแรกสุด นั่นคือ เพิ่มวันที่ 29 เข้าไปด้วย
       (อย่างปี 2000 และ 1600 หาร 4 ลงตัว, หาร 100 ก็ลงตัว ทว่ายังหารด้วย 400 ลงตัว ดังนั้นจึงเพิ่มวันที่ 29 ได้)
      
       เรื่องนี้มีคำอธิบาย...
      
       จากหลักการที่ว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบกินเวลา 365.25224 วัน หรือ 365 กับอีก ¼ วัน ซึ่งปีปกติที่มี 365 วันก็จะทำให้เวลาขาดไป ¼ วัน ดังนั้นจึงต้องทดไว้ เมื่อทดครบ 4 ปีก็จะได้เท่ากับ 1 วันพอดี จึงทำให้ต้องเพิ่ม 1 ปีมี 366 วันในทุกๆ 4 ปี
      
       ปีที่มีวันเพิ่มมานั้นเราเรียกกันว่า “อธิกสุรทิน” ซึ่งแปลว่า “วันเกิน” ขณะที่ฝรั่งเรียกว่า “ลีปเดย์” (leap day)
      
       คราวนี้ถ้าทุกๆ 4 ปีมีวันเกินมา 1 วัน เมื่อถึง 400 ปีหรือครบ 100 รอบจะมีวันเกินไปอีก 3.104 วัน (เพราะ อีก 1 วันในทุกๆ 4 ปีเป็นเวลาโดยประมาณ) ดังนั้นในรอบทุกๆ 400 ปีจะต้องลดวันลงไป 3 วัน ก็เลยกำหนดให้ปีที่ครบร้อยแต่หาร 400 ไม่ลงตัว ไม่ต้องเพิ่มวันตามข้อยกเว้นที่กล่าวมา จึงจะเป็นการนับวันเวลาได้ใกล้เคียงกับวัฎจักรโลกและดวงอาทิตย์มากที่สุด
      
       อย่างไรก็ดี ด้วยหลักการนี้เมื่อครบรอบ 10,000 ปี วันในปฏิทินจะผิดจากความเป็นจริงไปอีก 3 วัน แต่อีกตั้งหมื่นปี...ปัญหานี้เลยค่อยคิด !!
      
       ** ข้อสังเกตที่น่าสนใจ **
      
       ปกติแล้ววันเริ่มปี หรือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี จะตกในวันไล่ติดกันไปในสัปดาห์ แต่ละปี อย่าง 1 ม.ค.ปีที่แล้วตรงกับวันจันทร์ ส่วน 1 ม.ค.ปีนี้ตรงกับวันอังคาร ซึ่งวัฎจักรปกติแล้ว 1 ม.ค.2009 จะต้องตรงกับวันพุธ
      
       ทว่าวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้ากลับตรงกับวันพฤหัสบดี เพราะวันที่ 29 ก.พ.ทำหน้าที่ขโมยซีนไปเสียแล้ว
      
       ดังนั้นการเริ่มต้นปีที่จะเรียงกันไปนั้น หากเป็นปีอธิกสุรทินมาคั่น วันเริ่มต้นของปีถัดไปก็จะเลื่อนไปอีก 1 วัน ตามตัวอย่าง
      
       1 มกราคม 2000 ตรงกับ วันเสาร์ (ปีอธิกสุรทิน)
       1 มกราคม 2001 ตรงกับ วันจันทร์
       1 มกราคม 2002 ตรงกับ วันอังคาร
       1 มกราคม 2003 ตรงกับ วันพุธ
       1 มกราคม 2004 ตรงกับ วันพฤหัสบดี (ปีอธิกสุรทิน)
       1 มกราคม 2005 ตรงกับ วันเสาร์
       1 มกราคม 2006 ตรงกับ วันอาทิตย์
       1 มกราคม 2007 ตรงกับ วันจันทร์
      
       เหล่านี้...คือกติกาและข้อสังเกตของการมีหรือไม่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ในแต่ละครั้ง ส่วนความเป็นมาของการเกิดวันที่ไม่เท่ากันในปฏิทินที่ใช้กันเป็นสากล และเกร็ดอื่นๆ เกี่ยวกับวันพิเศษนี้ สามารถติดตามได้จาก "ข่าวที่เกี่ยวข้อง" ด้านล่าง
      
      
--------------------------------------------------------------------------------

      
       เฉลย : ถ้าอ่านคำอธิบายก็น่าจะรู้คำตอบ ^^
       (แต่เพื่อความมั่นใจ ดรากเมาส์ ปาดแถบแสงไปที่ 5 บรรทัดที่มองไม่เห็นด้านล่างกันเลย)
      
       1. 2012, 2016, 2020, 2024, 2028
       2. 1988
       3. 1972, 1956, 1992, 1420, 1600
       4. วันพฤหัสบดี และ วันอังคาร
       5. 365 วันกับอีก 6 ชั่วโมงโดยประมาณ (หรือ 365.24224 วัน)

———————————RESERVED BY ARTzSka——————————

Credit: http://www.pooyingnaka.com
1 พ.ค. 53 เวลา 07:43 3,017 3 66
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...