สิ้น"ถวัลย์ ดัชนี" ศิลปินแห่งชาติ หลังป่วยด้วยโรคตับอักเสบมาเป็นเวลา 3 เดือน สิริอายุรวม 74 ปี ด้าน "ดอยธิเบศร์" บุตรชายคนเดียว โพสต์อาลัย"ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล"...
เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย. "ม่องต้อย" นายดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายของนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 วัย 74 ปี และเจ้าของบ้านดำ แห่งดอยนางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ผู้เป็นบิดาได้เสียชีวิตลงแล้ว เพื่อบอกกล่าวให้คนทั่วไป ซึ่งติดตามให้กำลังใจศิลปินแห่งชาติ ที่ได้ล้มป่วยลงจากอาการตับอักเสบเมื่อช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้นนายถวัลย์ ได้ใช้สถานที่สยามพารากอน จัดงานฉลองครบรอบ 74 ปีของตัวเอง เมื่อวันที่ 13-15 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา มีการวาดภาพฝีแปรงแสดงผลงาน และเซ็นชื่อให้กับแฟนที่ชอบผลงาน
นายดอยธิเบศร์ ยังโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุอีกว่า "พ่อไม่ต้องกังวล เพราะพ่อจะไม่ไปไหนพ่อจากไปแต่เพียงร่างกาย แต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษาหลับให้สบายนะพ่อ เลือดของพ่อยังไหลเวียนในกายลูกเสมอและเราจะพบกัน...รักพ่อสุดหัวใจ กราบเท้าพ่อเป็นครั้งสุดท้าย"
ทั้งนี้ จะมีการสวดพระอภิธรรมศพศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ที่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลา 7 วัน ก่อนจะทำการขอพระราชทานเพลิงศพ
สำหรับนายถวัลย์ ปัจจุบันอายุ 74 ปี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2482 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง ดัชนี (ถึงแก่กรรม) นายสมจิตต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) และนายวสันต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุ๊ค มีบุตร 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี
ด้านการศึกษา ได้สำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ก่อนเข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว โดยภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย
เมื่อจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี 2500 ได้เดินตามแนวทางของดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้เขาได้พัฒนางานจากภาพวาดเหมือนจริง ไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressionism) แบบไทย แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ยังเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น ที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าไม่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นแท้จริงแล้วจะได้เพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ด้วยการสนับสนุนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ยังได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อ ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ระหว่างที่ศึกษาศิลปะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานการสร้างสรรค์ของเขาโดดเด่นเป็นที่นิยมชมชอบของวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะ ระดับนานาชาติอยู่เสมอ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Man Show และแสดงกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะเป็นอย่างมาก จนเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2557 ประเทศไทยได้สูญเสียเขา "ถวัลย์ ดัชนี" ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ด้วยความอาลัย.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/447557