รัสเซียกว้านซื้อทองคำล็อตใหญ่ เชื่อปูตินหันหลังให้ “ดอลลาร์-ยูโร”

รัสเซียกว้านซื้อทองคำล็อตใหญ่ เชื่อปูตินหันหลังให้ “ดอลลาร์-ยูโร”

       ข้อมูลล่าสุดยืนยัน ธนาคารกลางรัสเซียยังคงเดินหน้า “กว้านซื้อทองคำล็อตใหญ่” ในตลาดโลกมาถือครองเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ล่าสุดรัสเซียกลายเป็นประเทศที่มีปริมาณทองคำสำรองในความครอบครอง “แซงหน้าสาธารณรัฐประชาชนจีน” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
       
       รายงานข่าวซึ่งอ้างข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แบงก์ชาติของรัสเซีย ได้ทำการกว้านซื้อทองคำมาถือครองเพิ่มเติมอีก คิดเป็นปริมาณสูงถึงเกือบ 340,000 ออนซ์
       
       การเดินหน้ากว้านซื้อทองคำจากตลาดโลกของธนาคารกลางรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุดปริมาณทองคำสำรองที่อยู่ในความครอบครองของแดนหมีขาวได้เพิ่มขึ้นเป็น “มากกว่า 35.5 ล้านออนซ์” แล้ว
       
       ขณะที่แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงมอสโก ออกมาเปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของธนาคารกลางรัสเซีย เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำสั่งของ“ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน” ผู้นำรัสเซีย ที่มีนโยบายสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซีย ด้วยการ “ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินยูโร”
       
       ในอีกด้านหนึ่ง มีการเผยแพร่รายงานล่าสุดของสภาทองคำโลก (World Gold Council) ที่ระบุว่า การเดินหน้ากว้านซื้อทองคำมาถือครองเพิ่มเติมอย่างขนานใหญ่ของรัสเซียตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้รัสเซียมีทองคำสำรองอยู่ในความครอบครองสูงกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นครั้งแรกแล้ว
       
       โดยผลการศึกษาของสภาทองคำโลก ซึ่งมีการใช้หน่วยของปริมาณทองคำเป็น “ตัน” ระบุว่า ขณะนี้ ปริมาณทองคำสำรองของรัสเซียได้เพิ่มเป็นทั้งสิ้น 1,094.7 ตันแล้ว แซงหน้าจีนที่มีทองคำสำรองในครอบครองอยู่ที่ 1,054.1 ตัน นอกจากนั้น รัสเซียยังก้าวขึ้นครองตำแหน่งประเทศที่มีปริมาณทองคำสำรองอยู่ในกำมือมากเป็นลำดับที่ 6 ของโลกได้แล้วเช่นกัน (อันดับ 1 สหรัฐอเมริกามีทองคำสำรองจำนวน 8,946.9 ตัน ข้อมูลปี 2013)       

       ด้านพาเวล ซิโมเนนโก ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร “ดูกาสโกปี” ออกมาให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงการขยับตัวของรัฐบาลมอสโกเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และลดทอนผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทั้งหลายของประเทศตะวันตก ที่หวัง “พุ่งเป้าเล่นงานรัสเซีย” จากผลพวงของวิกฤตในยูเครน
 

                               
ที่มา: http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000099799
 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...