เทศกาลกินเจ 2557 มี 2 รอบ เริ่มวันที่ 24 กันยายน



 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 


          เทศกาลกินเจ 2557 ปีนี้ กินเจ 2 ครั้ง ตรงกับวันที่ 24 กันยายน และรอบสอง 24 ตุลาคม ครั้งละ 9 วัน อยากรู้ไหมว่า ประวัติเทศกาลกินเจเป็นอย่างไร แล้วทำไมต้องกินเจ เรามีข้อมูลมาฝาก 

          เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ของทุกปี เราจะเห็นธงสีเหลือง ๆ มีตัวอักษรจีนประดับอยู่ตามร้านอาหาร และที่ต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ว่า เริ่มเข้าสู่เทศกาลกินเจแล้ว แต่เนื่องจากว่า ในปี 2557 ปฏิทินจีนมีเดือน 9 สองครั้ง ทำให้มีเทศกาลกินเจ 2 ครั้งด้วยกัน คือ 
 

          ครั้งที่ 1 ตรงกับวันที่ 24 กันยายน-2 ตุลาคม 2557
 

          ครั้งที่ 2 ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2557
 

          แต่บางคนอาจกินเจล่วงหน้า 1 วัน หรือที่เรียกว่า "ล้างท้อง" นั่นเอง และวันนี้เราก็มีความรู้เกี่ยวกับเทศกาลกินเจมาฝากค่ะ ... 


ความหมายของเจ 

          คำว่า "เจ" ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายว่า "อุโบสถ" เดิมหมายความว่า "การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน" ตามแบบอย่างของชาวพุทธที่รักษาอุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 ที่จะไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว แต่สำหรับพุทธนิกายมหายานนั้น การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย เราจึงนิยมเรียกการไม่ทานเนื้อสัตว์รวมไปกับการกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ดังนั้นความหมายของคนกินเจ ไม่เพียงแต่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ 

          "การกินเจ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า "เจียฉ่าย" หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาว 

ช่วงเวลากินเจ 

          ประเพณีกินเจที่ชาวจีนเรียกกันว่า "เก้าอ๊วงเจ" หรือ "กิ้วอ๊วงเจ" แปลว่า "เจเดือน 9" เริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย (ตามปฏิทินสากล) สำหรับในปี พ.ศ.2557 นี้ เริ่มวันที่ 24 กันยายน–2 ตุลาคม 

          คำว่า "เก้าอ๊วง" หรือ "กิ้วอ๊วง" แปลว่า "พระราชา 9 องค์" หรือนพราชา หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีกินผักกินเจ 

ความหมายของ "ธงเจ" 

          ในช่วงเทศกาลกินเจ เราจะสังเกตเห็นธงประจำเทศกาล โดยมีพื้นธงเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับคนสองกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มกษัตริย์ ราชวงศ์ และกลุ่มอาจารย์ปราบผี ดังจะเห็นจากยันต์สีเหลืองตามภาพยนตร์จีน ดังนั้นสีเหลืองจึงเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล บนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดง อ่านว่า "ไจ" หรือ "เจ" มีความหมายว่า "ของไม่มีคาว" เหตุที่ใช้สีแดง เพราะชาวจีนเชื่อว่า เป็นสีมงคง สร้างความเจริญให้แก่ชีวิต 

          ธงเจนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนถือศีลกินเจได้ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงระยะเวลา 9 วัน 9 คืน

กินเจเพื่ออะไร 

          จุดประสงค์หลักของการกินเจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ 

           1. กินเพื่อสุขภาพ เพราะอาหารเจเป็นอาหารชีวจิต เมื่อกินติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ และปรับระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้มีเสถียรภาพ 

           2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากทุก ๆ วัน อาหารที่เรากินประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีจิตใจดีงามจึงไม่สามารถกินเนื้อของสัตว์เหล่านั้นได้  

           3. กินเพื่อเว้นกรรม เพราะการฆ่าเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้จะไม่ได้ลงมือฆ่าเองก็ตาม เพราะการซื้อผู้อื่นเท่ากับการจ้างฆ่า ถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย ผู้ที่เข้าใจเรี่องกฎแห่งกรรมจึงหยุดกิน หันมารับประทานอาหารเจแทน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ให้อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น 
 


ตำนานการกินเจ 

          ตำนานที่มาของการกินเจ มีเรื่องเล่าอยู่ถึง 7 เรื่องได้แก่ 

           ตำนานที่ 1 รำลึกถึงวีรชนทั้ง 9 

          เทศกาลกินเจเริ่มขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว โดยชาวจีนกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งได้ต่อสู้กับชาวแมนจูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ถึงแม้จะแพ้และต้องตายก็ตาม ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณเกิดความเข้มแข็งทางร่างกายและจิตใจ 

           ตำนานที่ 2 บูชาพระพุทธเจ้า 

          เชื่อว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า "ดาวนพเคราะห์" ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาจะสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีล งดเว้นเนื้อสัตว์ และแต่งกายด้วยชุดขาว 

           ตำนานที่ 3 เก้าอ๊องฝ่ายมหายาน 

          กล่าวไว้ว่า การกินเจเป็นพิธีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ รวมเป็น 9 พระองค์ (หรือ "เก้าอ๊อง") 

          ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ด้วยกันคือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ 

           ตำนานที่ 4 พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้อง 

          เชื่อว่า การกินเจกินเจเป็นการบูชากษัตริย์เป๊ง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่ง เป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง ประเพณีนี้เข้ามาสู่เมืองไทยโดยชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่อีกทอดหนึ่ง 

           ตำนานที่ 5 เล่าเอี๋ย 

          เมื่อ 1,500 ปีก่อน ณ มณฑลกังไสซึ่งเป็นแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเก่งทั้งบุ๋น บู๊ ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็ง และมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มากกว่าหลายเท่าตัว โอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่า อีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วย แต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสา และเพ่งญาณเห็นว่า ควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญลีฮั้วก่าย 

          คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่า มีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบ เศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไป และประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อน และผู้อื่นจึงปฏิบัติตาม จนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย 

          เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไส จึงได้ศึกษาตำราการกินเจของ เศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธียกอ๋องฮ่องเต้ (พิธีเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในการกินเจ) 

           ตำนานที่ 6 เล่าเซ็ง 

          มีชายขี้เมาคนหนึ่งชื่อ เล่าเซ็ง เข้าใจผิดว่า แม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่มาเข้าฝันว่า ตนตายไปได้รับความสุขมาก เพราะแม่กินแต่อาหารเจ และหากลูกต้องการพบให้ไปที่เขาโพถ้อซัว บนเกาะน่ำไฮ้ ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งจึงขอตามเพื่อนบ้านไปไหว้พระโพธิสัตว์ด้วย โดยเพื่อนบ้านให้เล่าเซ็งสัญญาว่า จะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงยอมให้ไป แต่ระหว่างทางเล่าเซ็งผิดสัญญา เพื่อนบ้านจึงหนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เช่นกัน เขาจึงขอตามนางไปด้วย 

          เมื่อถึงเขาโพถ้อซัว ขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบพระโพธิสัตว์อยู่นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูป แต่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเขาเดินทางกลับ ได้เจอกับเด็กชายยืนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปถามไถ่จนทราบว่า เด็กคนนั้นเป็นลูกชายของเขากับภรรยาเก่าที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วย และต่อมาหญิงสาวที่นำทางเล่าเซ็งไปพบพระโพธิสัตว์ได้มาขออยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข 

          หญิงสาวคนนั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม และถือศีลกินเจอยู่เป็นประจำ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้ว จึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางแต่งตัวด้วยอาภาณ์ขาวสะอาด นั่งสักครู่แล้วก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่ จึงเกิดศรัทธา ยกสมบัติให้ลูกชาย แล้วประพฤติตัวใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่ และหญิงสาว ประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น 

           ตำนานที่ 7 การกินเจที่ภูเก็ต 

          มีคณะงิ้วจากเมืองจีน มาเปิดการแสดงที่อำเภอกระทู้นานเป็นแรมปี บังเอิญช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นโรคระบาดก็หาย ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาจึงปฏิบัติตาม หลังจากประกอบพิธีอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็มีผู้คนเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับอยากได้พิธีกินเจที่สมบูรณ์แบบตามประเพณีมณฑลกังไส ประเทศจีน จึงได้ส่งตัวแทนไปนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) จากกังไสให้ลอยมาถึงภูเก็ต โดยในการเดินทางกลับจะต้องคอยจุดธูปต่อกันมิให้ดับมอด ศาลเจ้ากะทู้จึงได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของพิธีกินเจในปัจจุบัน 

          สำหรับเมืองไทยความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นสักการะบูชาแก่พระพุทธเจ้า และมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือ "เจ้าแม่กวนอิม" การกินเจจึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ 

 


เทศกาลกินเจ ที่ จ.ภูเก็ต


เทศกาลกินเจ ที่ จ.ภูเก็ต


ภูเก็ต เมืองแห่งเทศกาลเจ 


          จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่จัดประเพณีการกินเจอย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี โดยมาจากรากฐานความเชื่อเดียวกัน คนจีนเรียก "เจเดือนเก้า" แต่ถ้านับตรงกับเดือนไทยก็จะได้ตรงกับเดือน 11 ดังนั้นเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตจึงมีขึ้นหลังเทศกาลกินเจทั่ว ๆ ไป บางครั้งเราจึงมักได้ยินชื่อเรียกของเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตว่า เป็นเทศกาลกินผัก ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการกินเจในรูปแบบ และระยะเวลา 9 วันเช่นเดียวกัน 

10 วันของเทศกาลกินเจ 

          ประเพณีกินเจจะจัด 9 วัน 9 คืน โดยแต่ละวันมีพิธีต่าง ๆ กันดังนี้ 

           วันแรก แต่ละศาลเจ้าก็จะดูฤกษ์ยามว่า จะเชิญเจ้ามาเวลาไหน แต่ไม่เกินเที่ยงวัน โดยใช้ "ปวย" 2 อันเสี่ยงทายโดยการโยน 2 ครั้ง หาก 1 อันหงาย 1 อันคว่ำ แสดงว่า เจ้าทั้ง 9 ได้เสด็จลงมาแล้ว การกินเจจะเริ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักทานกันล่วงหน้าเพื่อล้างท้อง 

          ที่ภูเก็ตในตอนกลางคืนจะมีพิธียกเสา "โกเด้ง" ขึ้นที่หน้าศาลเจ้า หรืออ๊าม เพื่อใช้เป็นที่แขวนตะเกียงทั้ง 9 ดวง และอัญเชิญดวงวิญญาณของยกอ๋องฮ่องเต้ หรือ พระอิศวร และ กิวอ๋องไตเต หรือ ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้ามาประทับ 

           เช้าวันที่สอง จะมีการจุดธูปขนาดใหญ่ ตั้งเครื่องเซ่นและเผาไม้หอม เพื่อบูชาเจ้าประจำอ๊าม 

          หลังพิธีการกินเจ หรือชาวภูเก็ตเรียก "การกินผัก" ผ่านไป 3 วัน จะถือว่าตัวเองมีความสะอาดแล้ว หรือเรียกว่า "เช้ง" ในตอนค่ำมีพิธีการเชิญเจ้าเข้าทรงอีก 2 องค์ คือ "ลำเต้า" เจ้าผู้สำรวจคนเกิด และ "ปักเต้า" เจ้าผู้สำรวจคนตาย และทำพิธี "ปั้งกุ้น" หรือพิธีปล่อยพระ หรือการจัดทหารของเจ้าไปรักษาศาลเจ้าทั้ง 5 ทิศ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และภูตผีมาทำลายพิธี ความสนุกสนานเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อการเชิญทหารเต็มไปด้วยร่างทรงของตัวละคร อาทิ เห้งเจีย บู๊สง เป็นต้น 

           วันที่สี่ เป็นวันที่คนส่วนใหญ่จะมาไหว้เจ้า วันนี้ศาลเจ้าต่าง ๆ จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน 

           ในวันที่เจ็ด จะเริ่มพิธีบูชาดาว เพื่อขอความเป็นสิริมงคล รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการไหว้เจ้า แต่วันนี้สำคัญกว่าวันที่สี่ เรียกว่า "ไหว้เจ้าใหญ่" ในวันนี้จะมีการซื้อเต่า, ปลาไหล, นก ฯลฯ มาไหว้ด้วย 

           วันที่แปด วันนี้จะมีการลอยกระทง คล้ายการลอยกระทงของคนไทย เพื่อขอบคุณเจ้าแม่คงคาที่ให้น้ำใช้ น้ำดื่ม และให้สิ่งไม่ดีลอยไปตามน้ำ นอกจากนี้ที่ภูเก็ตยังมีการจัดขบวนแห่อย่างมโหฬาร เพื่อนำเกี้ยวไปรับพระจำหลักที่สะพานหิน เป็นการระถึงวันที่ควันธูปจากมณฑลกังไสมาถึงภูเก็ต ในขบวนแห่จะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง หรือ คนทรงเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะเห็นภาพของการใช้ของมีคมต่าง ๆ ทิ่มแทงตามร่างกาย มีทั้งง้าว ลูกตุ้มเหล็กฟาดหน้าฟาดหลัง เอาขวานจามหลัง หรือเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย หรือแทงลิ้น จนกระทั่งเฉือนลิ้นตัวเองออกมา โดยทรงเหล่านั้นอ้างว่าไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ ขณะเป็นร่างทรง ม้าทรงจะเดินเต้นไปทั่วเมือง ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อให้เจ้าไปโปรดและมีการจุดประทัดตลอดเส้นทาง ทั้งเกาะปกคลุมด้วยควันธูปและประทัด 

           วันที่เก้า ช่วงเช้าจะมีพิธีทำทาน หรือเรียกว่า "ซิโกว" เป็นการให้ทานแก่ผีไม่มีญาติ ตอนกลางคืนจะมีแห่มังกร, สิงโต, ขบวนของเด็กที่จัดเพื่อเป็นสีสัน  

          ขณะที่จังหวัดภูเก็ตจะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธี "โก๊ยโห้ย" หรือพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ ม้าทรง หรือเจ้าจะเดินผ่านกองไฟ ที่มีถ่านร้อนแดงเป็นระยะทางกว่า 2 ฟุต และตามด้วยผู้ที่ถือศีลกินเจที่มีความมั่นใจว่าตัวเองสะอาดแล้ว ก็สามารถร่วมลุยไฟได้ด้วยเช่นกัน ในตอนกลางคืนจะมีพิธีปีนบันไดมีด สูงประมาณ 12 เมตร และจบลงที่ยามดึกของคืนวันที่ 9 จะมีการแห่พระไปส่งทะเลบริเวณสะพานหิน และนำเสาโกเต้งลง ดับโคมไฟทั้ง 9 เป็นเสร็จพิธีกินเจที่ภูเก็ต 

           วันที่สิบ เป็นวันส่งเจ้ากลับ 

อาหารเจ

 


          อาหารเจนับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และไม่มีพิษต่อร่างกาย เพราะได้โปรตีนจากถั่วต่าง ๆ และยังย่อยง่ายเป็นการแบ่งเบาภาระของระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย ผู้ที่รับประทานเจ สามารถเลือกส่วนผสมดังต่อไปนี้มาปรุงอาหารได้ คือ ข้าวกล้อง (ใช้แทนข้าวขาว) โปรตีนเกษตร (แทนเนื้อสัตว์) ผักสด เห็ดหอม ถั่วนานาพันธุ์ เต้าหู้ แป้งหมี่กึง และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันมีเมนูอาหารจำนวนมาก ซึ่งหลายเมนูทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ได้เหมือนจริง เช่น ขาหมูเจที่ทำจากแป้ง และถั่ว ฯลฯ 

ความแตกต่างของ "เจ" กับ "มังสวิรัติ" 

 


          หลายคนอาจสงสัยว่า "กินเจ" ต่างกับ "กินมังสวิรัติ" อย่างไร เพราะอาหารมังสวิรัติก็เป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน แต่มังสวิรัติสามารถทานผักได้ทุกชนิด แต่อาหารเจ ต้องเว้นผักฉุน 5 ประเภท คือ กระเทียม หัวหอม (รวมทั้งหอมแดง หอมขาว หัวหอมใหญ่ ต้นหอม) หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน ไม่ค่อยพบในประเทศไทย) กุยช่าย และใบยาสูบ รวมทั้งของเสพติดทุกชนิด และยังต้องประพฤติศีลร่วมด้วย จึงจะเป็นการถือศีลกินเจที่แท้จริง ขณะที่มังสวิรัติ หมายถึง การไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น 

หลักธรรมในการกินเจ 

          การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ 

           1. การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน, ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน และไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตัวเอง 

           2. การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเอง คือ จะรับประทานสิ่งใดเข้าไปต้องไม่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมเท่ากับเป็นการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นจึงมีการห้ามของมึนเมา สารเสพติด ขณะที่วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ยืนยันว่า เลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย เนื้อสัตว์เหล่านี้จึงจัดเป็นพิษชนิดหนึ่งเช่นกัน การละเว้นจึงส่งผลดีต่อร่างกายอีกด้วย 
 


การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ 

          ช่วงเวลา 9 วันที่กินเจนั้น ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ถือศีลกินเจอย่างครบสมบูรณ์ตามประเพณี ต้องปฏิบัติตัวดังนี้ 

           1. งดเว้นเนื้อสัตว์ และทำอันตรายต่อสัตว์ 

           2. งดนม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์ 

           3. งดอาหารรสจัด ทั้งอาหารเผ็ด หวานจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด 

           4. งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม ต้นหอม หลักเกียว กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ และของมึนเมาต่าง ๆ เพราะผักดังกล่าวนี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีพิษคอยทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ 

           5. รักษาศีลห้า 

           6. ทำบุญทำทาน สำหรับคนที่เคร่งครัดจะนุ่งขาวห่มขาว 

           7. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ 

          สำหรับผู้ที่เคร่งครัดมาก ๆ จะทานอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นคนปรุงเท่านั้น รวมทั้งจะต้องล้างหม้อจนสะอาด แยกภาชนะสำหรับใส่เนื้อสัตว์ออก เพื่อปรุงอาหารเจเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุดตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับ เพื่อเป็นพุทธบูชา และรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้อง ตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด 

ประโยชน์ของการกินเจ 

          การกินอาหารเจ นอกจากจะเป็นการถือศีลรักษาประเพณี และละเว้นชีวิตแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้ 

           1. 

Credit: กระปุก
#กินเจ
PatPuch
นักแสดงนำ
สมาชิก VIP
1 ก.ย. 57 เวลา 09:12 2,096
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...