ลึกเข้าไปในป่าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ได้ชื่อว่าเป็นบริเวณที่ชุ่มฉ่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่นั่น…สะพานไม่ได้ถูกสร้างขึ้น แต่ถูกปลูกขึ้นมา!
ชาวบ้านในเชราปันจี ประเทศอินเดีย คิดค้นวิธีที่ไม่เหมือนใครในการข้ามแม่น้ำ พวกเขาสร้างสะพานโดยการปลูกรากต้นยาง โดยใช้เวลา 10 ถึง 15 ปีในการเจริญเติบโตจนกลายเป็น “สะพานที่มีชีวิต” เมื่อสะพานนั้นใช้ได้แล้วจะมีความแข็งแรงมากและใช้ได้เป็นร้อยๆ ปี
เมื่อนานมาแล้ว ชนเผ่าคาซิส ในเมกฮาลายา ได้พบว่าต้นยางนั้นมีรากที่แข็งแรงและช่วยให้ข้ามแม่น้ำได้ง่าย พวกเขาจึงใช้รากต้นยางสร้างเป็นสะพานข้ามแม่น้ำตลอดริมฝั่ง
การจะทำให้รากของต้นยางเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการเหนือแม่น้ำนั้น ชาวคาซิสหั่นลำต้นหมากและกะเทาะเปลือกออก เพื่อใช้เป็นระบบนำราก
รากบาง ๆ ที่อ่อนนุ่มของต้นยางได้รับการป้องกันไม่ให้กระจายไปอย่างไร้ทิศทางด้วยแผ่นจากต้นหมาก ทำให้รากเติบโตไปในทิศทางตรงออกไปยังอีกฝั่งแม่น้ำ และฝังรากลงในดินของอีกฝั่งแม่น้ำ จากนั้นรอคอยเวลาอีกสักพัก “สะพานที่มีชีวิต” ก็จะถูกสร้างขึ้นเป็นผลสำเร็จ
บางสะพานยาวกว่า 30 เมตร และใช้เวลาตั้งแต่ 10 – 15 ปี ในการรอคอยให้สะพานสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ แต่สะพานที่ถูกสร้างขึ้นนั้นมีความแข็งแรงมาก จนสามารถรับน้ำหนักของคนที่ยืนบนสะพานพร้อมกันได้กว่า 50 คนเลยทีเดียว
สะพานเหล่านี้เป็นตัวอย่างของวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมที่มีชีวิต มอง ๆ ไปราวกับเป็นฉากในเรื่อง Lord of the Rings เลยทีเดียว
และเนื่องจากสะพานนี้มีชีวิตและยังเจริญเติบโตต่อไป สะพานมีชีวิตเหล่านี้จึงแข็งแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา และสะพานบางแห่งยังถูกใช้ทุกวันโดยชาวบ้านรอบ ๆ เชราปันจี สะพานบางแห่งอาจมีอายุถึง 500 ปีเลยทีเดียว
มีสะพานรากหนึ่งแห่งที่พิเศษกว่าที่อื่น คือเป็นสะพานรากสองสะพาน สะพานหนึ่งอยู่เหนืออีกสะพานหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันในชื่อ สะพานสองชั้นอัมเชียง (Umshiang Double-Decker Root Bridge)
ธรรมชาตินั้นก็น่าอัศจรรย์และมีคุณค่ายิ่งนัก หากเราเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติสุขได้ คงจะเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย
ที่มา: Atlas Obscura