โดยทั่วไปแล้วถือกันว่า อารยธรรมอียิปต์เริ่มมีกระบวนการทำมัมมี่หรือการเก็บรักษาศพของมนุษย์เอาไว้เพื่อรอวันฟื้นคืนชีพเอาเมื่อราว2,600 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มหาพีระมิดแห่งกิซาถูกสร้างขึ้น ยุคดังกล่าวรู้จักกันดีในหมู่ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวอียิปต์ว่าเป็นช่วง "อาณาจักรเก่า"
แต่หลังสุดนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งตรวจสอบแล้วพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การทำมัมมี่ของชาวอียิปต์นั้นเริ่มในช่วงเวลาที่เก่าแก่กว่านั้นมาก เนื่องจากตรวจสอบพบร่องรอยของสารผสมซับซ้อนหลายอย่างในเนื้อผ้าห่อศพที่ได้จากหลุมฝังศพ ซึ่งอยู่ในยุคเก่าแก่กว่ายุคของอาณาจักรเก่ามาก
ผ้าห่อศพดังกล่าวนักโบราณคดีชาวอังกฤษที่เดินทางไปสำรวจทางโบราณคดีในอียิปต์นำกลับมาเมื่อเกือบ100 ปีก่อน จากแหล่งขุดค้นที่รู้จักกันในชื่อ "บาดารี" และ "มอสตาเกดดา" ซึ่งเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงตอนปลายของยุคนีโอลิธิค (ยุคหินใหม่) ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงช่วงพรีไดนาสติค พีเรียด หรือระหว่างช่วงเวลา 4,500 ปีก่อนคริสตกาล เรื่อยมาจนถึง 3,100 ปีก่อนคริสตกาล กาย บรุนตัน นักอียิปต์วิทยาชาวอังกฤษผู้ล่วงลับ ได้เครดิตว่าเป็นผู้ค้นพบวัฒนธรรมของชาวบาดารีนี้ในพื้นที่ อัปเปอร์ อียิปต์ หรืออียิปต์ตอนบน เมื่อราวคริสต์ทศวรรษ 1920
ผ้าลินินห่อศพเหล่านั้นถูกนำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบลตันในประเทศอังกฤษ น่าเสียดายที่เป็นการลอกออกมาจากมัมมี่โดยที่ไม่ได้สนใจเก็บรักษามัมมี่เอาไว้ด้วย เพราะให้ความสนใจในตัวผ้ามากกว่าศพนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ เข้าใจกันว่าในยุคนั้นยังไม่มีการทำมัมมี่ชนิดที่อาบน้ำยา แต่อาศัยสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่แห้งแล้ง ร้อนจัด กับสภาพเป็นทรายของทะเลทรายเท่านั้นรักษาศพของผู้ตายให้คงอยู่ได้ยาวนาน แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดย แจนนา โจนส์ จากมหาวิทยาลัยแมคควอรี ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และสตีเฟน บัคลีย์ นักโบราณคดีเคมี จากมหาวิทยาลัยยอร์ก ประเทศอังกฤษ ซึ่งนำตัวอย่าง 50 ชิ้น จากผ้าห่อศพดังกล่าวเหล่านั้นไปตรวจสอบด้วยกระบวนการทางเคมี พบว่าผ้าเหล่านั้นเต็มไปด้วยน้ำยาผสมที่เป็นสูตรพิเศษ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง
เมื่อนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ทีมวิจัยพบว่า น้ำยาชุบผ้าเพื่อทำมัมมี่ดังกล่าวนั้น ส่วนประกอบหลัก 3 ใน 4 ส่วนเป็นน้ำมันจากไขมันสัตว์ ผสมด้วยยางสนจำนวนเล็กน้อย เช่นเดียวกับสารสกัดมีกลิ่นจากต้นไม้ และยางจากน้ำตาล หรือไม่ก็พืชอีกชนิดหนึ่ง ปิดท้ายด้วยน้ำมันปิโตรเลียมที่พบในธรรมชาติในเวลานั้น ทั้งยังพบร่องรอยของการผ่านกระบวนการให้ความร้อน ซึ่งแสดงว่าเป็นกระบวนการทำในยุคโบราณ
เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติพบว่า ยางไม้ที่ใช้กับสารหอมสกัดจากพืชในส่วนผสมมีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรียสูงยิ่ง บัคลีย์ระบุว่า ถึงแม้ว่าส่วนผสมดังกล่าวนี้จะไม่สามารถยับยั้งการเปื่อยผุของศพได้ แต่สามารถออกฤทธิ์สกัดแบคทีเรียไม่ให้เติบโตลุกลามทำให้ศพเน่าได้เป็นอย่างดี
ส่วนผสมในสูตรน้ำยาอาบศพมัมมี่ดังกล่าวนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้ มีเครือข่ายติดต่อค้าขายที่กว้างขวาง เพราะส่วนประกอบบางอย่างถูกจัดซื้อมาจากตอนกลางของอียิปต์
ในขณะที่ยางสนนั้นมาจากพื้นที่ตอนใต้ของอนาโตเลียซึ่งคือประเทศตุรกีในปัจจุบัน