ไข 5 ความเชื่อผิดๆ กินแล้วผอม

ไข 5 ความเชื่อผิดๆ กินแล้วผอม

   หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการจะลดน้ำหนัก น่าจะต้องเคยได้ยินคำแนะนำที่ว่า ลองกินอาหารประเภทไขมัน 0 เปอร์เซ็นต์ แบ่งมื้ออาหารย่อยๆ กินผลไม้เยอะๆ หรือดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งทุกเช้าสิ ช่วยได้...

          ฟังเหมือนใช่ ดูเหมือนเป็นไปได้ว่านี่แหละเคล็ดลับของการลดน้ำหนัก แต่ “ ข้อเท็จจริง” ที่ว่าเชื่อถือได้แค่ไหน ประเด็นนี้ เลขานุการเครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโภชนวิทยาคลินิก รพ.รามาธิบดี นพ.ฆนัท ครุธกุล มีคำตอบ

          “เราไม่ควรปักใจเชื่อว่าการเลือกกินอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งจะทำให้น้ำหนักลด” คุณหมอให้คำแนะนำ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะอาหารแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ให้พลังงาน และไม่ให้พลังงาน แม้เราจะกินผลิตภัณฑ์จำพวกไขมัน 0 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าสิ่งนั้นมีคาร์โบไฮเดรตสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ก็ทำให้อ้วนได้เหมือนกัน

           ยิ่งคิดว่าจะต้องไปจำกัดปริมาณอาหารบางอย่าง อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการเบื่ออาหารโดยไม่รู้ตัว

           “การไม่เลือกกินแป้งเลยก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะกลายเป็นว่าร่างกายจะต้องนำไขมันมาเป็นแหล่งพลังงานทดแทนคาร์โบไฮเดรต เมื่อนำไขมันมาใช้ ร่างกายก็จะได้ คีโตเอซิโดซิส ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ทำให้เบื่ออาหาร ฯลฯ จึงไม่ควรลดน้ำหนักโดยลดอาหารในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ยกเว้นจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น” เลขานุการเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวด้วยความห่วงใย

           ไขความเชื่อผิดๆ โดย นพ.ฆนัท ครุธกุล

          รับประทานแต่ผลไม้เป็นอาหารเย็น ช่วยลดน้ำหนัก?

         โดยมากคนไทยจะกิน “มื้อเย็น” หนักที่สุด ฉะนั้นการลดปริมาณอาหารมื้อเย็นลง จัดว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ “น้ำหนักลด” แต่หากในมื้ออาหารเช้าหรืออาหารเที่ยง ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะปริมาณของวิตามิน เกลือแร่ หรือโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนที่ร่างกายต้องใช้ การลดปริมาณของมื้อเย็นลงโดยที่มื้ออื่นๆ กินในสัดส่วนที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลเสียตามมาได้ โดยหลายคนเข้าใจว่า กินผลไม้อย่างเดียว จะช่วยให้น้ำหนักลดนั้น จะต้องระวังการบริโภคเกินความต้องการ เนื่องจากในผลไม้ มีน้ำตาลที่ชื่อ “ฟรุกโตส” หากกินในปริมาณมากเกินไป ไม่เพียงแต่จะได้รับพลังงานเกิน ร่างกายยังจะสร้างไขมัน “ไตรกลีเซอไรด์” เพิ่มสูงขึ้นด้วย

           การแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ช่วยให้ผอม?

          การที่เราหิวส่วนหนึ่งเป็นเพราะน้ำตาลในเลือดต่ำลง จึงไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความหิว ฉะนั้น การแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยก็มีส่วนช่วยทำให้ไม่ค่อยรู้สึกหิว และกินอาหารในมื้อหลักๆ ได้น้อยลง แต่ในปัจจุบันพบว่า การแบ่งกินอาหารมื้อย่อยๆ คือการกินเพิ่มโดยไม่หิว มื้อใหญ่ไม่ได้ลดปริมาณอาหารลง ในบางครั้งการแบ่งกินมื้อย่อยๆ จึงอาจส่งผลเสียให้บางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ยกเว้นคนที่มีวินัยในการกินที่พยายามควบคุมปริมาณอาหารไม่ให้ได้รับเกินกว่า ที่ร่างกายต้องการ

           น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง ลดพุง?

          ปกติการกินประเภทนี้ ช่วยให้ระบาย เพราะน้ำผึ้งมีความเข้มข้นสูง เมื่อดื่มเข้าไปจะทำให้น้ำในลำไส้ถูกดูดซึมเข้าในลำไส้ดีขึ้น จึงทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น เมื่อขับถ่ายดี เลยเข้าใจไปว่าน้ำหนัก น่าจะลดลง ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้ทำให้น้ำหนักลดลง ส่วนสรรพคุณของมะนาวนั้น ยังไม่มีข้อมูลว่ามีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้

          กินโปรตีนถั่วเหลืองดีกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์?

          พบว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรือโปรตีนจากถั่วเหลืองไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก นัก แม้โปรตีนจากถั่วเหลืองจะเป็นโปรตีนคุณภาพดี แต่ก็ยังสู้ไข่หรือโปรตีนที่เป็นเนื้อดีไม่ติดมันไม่ได้ ซึ่งการกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์จะได้สัดส่วนของไขมันมากกว่า หากกินให้ปริมาณมากก็อาจส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้

          สารให้ความหวานแทนน้ำตาล และการกินนับแคลอรีไม่ทำให้อ้วน?

          สารให้ความหวานแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม มีกลุ่มที่ให้พลังงาน แต่น้อยกว่าปกติ บางกลุ่มไม่ให้พลังงาน ตรงนี้ต้องระวัง ถ้าเป็นคนที่ติดหวาน ขอแนะนำให้ลดปริมาณของน้ำตาลลง ตรงนี้จะได้ผลกับสุขภาพดีกว่า ส่วนการกินนับแคลอรี เป็นวิธีมาตรฐานอย่างหนึ่งในการลดน้ำหนัก แต่หากคุมอาหารได้ไม่มาก การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญแคลอรีมากขึ้น ก็ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้

          ทีนี้ ถ้าต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผลยั่งยืน ควรทำอย่างไร นพ.ฆนัท แนะว่า การลดน้ำหนักไม่สามารถทำได้โดยการควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการผสมผสาน ซึ่งทางเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ กรมอนามัย และสสส. แนะวิธีการลดน้ำหนักโดยให้ยึดหลัก 3 อ. คือปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ลดอาหารที่มีพลังงานสูง เพิ่มการออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้อารมณ์แจ่มใส

          ถ้าทำได้ น้ำหนักก็จะลดลงถาวร โดยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น...

 

 

          เรื่องโดย : ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th

 

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ที่มา: http://www.thaihealth.or.th/Content/25464-E0B984E0B88220520E0B884E0B8A7E0B8B2E0B8A1E0B980E0B88AE0B8B7E0B988E0B8ADE0B89CE0B8B4E0B894E0B98620E0B881E0B8B4E0B899E0B981E0B8A5E0B989E0B8A7E0B89CE0B8ADE0B8A1html
 
26 ส.ค. 57 เวลา 15:32 2,330
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...