เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก พุทธวจน ธรรมวินัยจากพุทธโอษฐ์
ที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติไม่เอาผิด พระคึกฤทธิ์ ปมยุบศีลในปาฏิโมกข์จาก 227 ข้อ เหลือ 150 ข้อ เชื่อพระคึกฤทธิ์ไม่มีเจตนาบิดเบือน เป็นเพียงความเข้าใจไม่ตรงกัน เนื่องจากอ่านหนังสือคนละเล่มเท่านั้น
จากกรณีมีพุทธศาสนิกชนร้องเรียนเข้ามายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เรื่องพระคึกฤทธิ์ หรือ พระอธิการคึกฤทธิ์ โสตถิผโล เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง จังหวัดปทุมธานี ได้ยุบศีลสงฆ์หรือศีลในปาฏิโมกข์จาก 227 เหลือ 150 ข้อ ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จนทำให้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในการประชุมมหาเถรสมาคม ในวันที่ 20 สิงหาคม 2557
ล่าสุด นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยผลการประชุมมหาเถรสมาคม ว่า ที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติยืนยันศีลพระสงฆ์เถรวาทไทย 227 ข้อ ยึดตามพระวินัยปิฎก 8 เล่ม โดยเฉพาะเล่มที่ 2 กับเล่มที่ 8 สรุปชัดเจนว่า ศีลปาฏิโมกข์มี 227 ข้อ
ส่วนกรณีที่พระอาจารย์คึกฤทธิ์ กล่าวอ้างถึงที่มาของศีลปาฏิโมกข์เพียง 150 ข้อ โดยนำหลักฐานอ้างอิงมาจากพระสูตรนั้น ทางที่ประชุมมหาเถรฯ พิจารณาแล้วว่า ศีลในพระสูตรจะต่างจากในพระวินัยปิฎก ที่มีการกำหนดไว้ 227 ข้อ ดังนั้น ที่ประชุมมหาเถรฯ จึงมติจะทำคำอธิบายที่มาที่ไปของศีล 227 ข้อให้ชัดเจน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะให้มีความเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมมหาเถรฯ ได้มอบหมายให้เจ้าคณะปกครอง จังหวัดปทุมธานี ไปชี้แนะและอธิบายให้พระอาจารย์คึกฤทธิ์รับทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไข โดยที่พระอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ต้องเข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุมมหาเถรฯ พร้อมกันนี้ จะมีการออกประกาศมหาเถรฯ ให้คณะสงฆ์ไทยทั่วประเทศ ยึดศีลปาฏิโมกข์ 227 ข้อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนเรื่องการกระทำของพระคึกฤทธิ์ ที่มีการนำหลักในพระสูตร 150 ข้อเท่านั้นมาเผยแผ่ ที่ประชุมมหาเถรฯ มองว่า พระคึกฤทธิ์ไม่มีเจตนาบิดเบือน แต่เหตุที่มีความเข้าใจไม่ตรงกันก็เนื่องจากการอ่านหนังสือคนละเล่มเท่านั้น
นายนพรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนกรณีที่มีการสวดศีลปาฏิโมกข์ไม่ถึง 227 ข้อ จะมีความผิดหรือไม่นั้น เป็นเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ โดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 กำหนดให้มหาเถรฯ เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รักษาระเบียบและพระธรรมวินัย ตลอดจนคำสอนทุกอย่างไว้ หากมีการฝ่าฝืนจะต้องพิจารณาตามมูลเหตุที่เกิดขึ้นว่ามีเจตนาอย่างไร ถึงจะพิจารณาการกำหนดลงโทษ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก