นายขนมต้ม เกิดวันอังคาร เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ส. ๒๒๙๓ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่บ้านกุ่ม (ปัจจุบันคือ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) บิดาชื่อนายเกิด มารดาชื่อนางอี่ มีพี่น้อง ๒ คนคือ
๑.นางเอื้อย ถูกพม่าฆ่าตายเมื่อเล็กๆ
๒.นายขนมต้ม
นายขนมต้มต้องอยู่วัดตั้งแต่เล็กๆ อายุประมาณ ๑๐ ขวบ พ่อแม่ถูกพม่าฆ่าตายหมด และเริ่มฝึกวิชามวยไทยตั้งแต่เริ่มแตกหนุ่ม จนในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่า จึงถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า นายขนมต้มได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงศรีอยุธยาและชาติไทย โดยอาศัยความสามารถในเชิงหมัดมวย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรามีนักมวยไทย คือ นายขนมต้ม ออกไปแสดงฝีไม้ลายมือถึงเมืองพม่า การชกมวยของนายขนมต้มนั้น ทางวงการมวยของเราได้ถือเป็น”วันนักมวย” คือ วันที่ ๑๗ มีนาคม ในพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอังวะโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์เกศธาตุในเมืองร่าง กุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ.๒๓๑๗ พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ ๑๗ มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร
ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก” พระเจ้าอังวะจึงตรัสสั่งให้เอาตัว นายขนมต้มนักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้าอังวะได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบ (ชก) กับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้ พระเจ้าอังวะทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “ไทยมีพิษทั่วตัว แม้แต่มือเปล่าไม่มีอาวุธเลย สู้ได้คนเดียวชนะถึงเก้าคนสิบคน” ฉะนั้นวันมีชัยของนายขนมต้ม คือวันที่ ๑๗ มีนาคม จึงถือเป็นวันเกียรติประวัติของนักมวยไทย
สำหรับชาวพระนครศรีอยุธยา ได้สำนึกในบุญคุณของนายขนมต้มและถือเป็นเกียรติศักดิ์คนดีศรีอยุธยา จึงได้พร้อมใจกันสร้าง”อนุสาวรีย์นายขนมต้ม” ไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจและให้ลูกหลานไทยยึดถือเป็นแบบอย่างสืบไป