เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Mayo Clinic สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
ทีมแพทย์อเมริกันผ่าตัดสมองคนไข้นักดนตรีทั้ง ๆ ที่มือยังสีไวโอลินอยู่ ชี้เป็นวิธีทำให้จี้อิเล็กโทรดกระตุ้นสมองได้ถูกจุด
วงการแพทย์มีเรื่องชวนทึ่งอยู่มากมาย และกรณีการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential tremor) ของนักไวโอลินอาชีพ โรเจอร์ ฟริสช์ (Roger Frisch) ก็เป็นหนึ่งในความน่าอัศจรรย์เหล่านั้น เมื่อทีมแพทย์ทำการผ่าตัดโดยให้นักดนตรีผู้นี้ยังสีไวโอลินไปด้วย
รายงานจากเว็บไซต์ซีเน็ต เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2557 เผยว่า ในปี 2552 ฟริสช์เริ่มรู้สึกได้ว่ามือของตัวเองมีอาการสั่นนิด ๆ อย่างไม่ทราบสาเหตุ แม้ไม่ได้สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตมากนัก แต่อาการนี้หมายถึงจุดจบในอาชีพนักดนตรีไวโอลินที่เขายึดถือมาตลอด 40 ปี เพราะเขาจะไม่สามารถบังคับคันชักไวโอลินไห้สีไปอย่างราบรื่นและนุ่มนวลได้อีก
ฟริสช์ตัดสินใจเข้ารับการรักษากับมาโยคลินิก แหล่งรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านไว้ด้วยกัน ที่เมืองโรเชสเตอร์ มินนิโซตา โดยแพทย์ได้เลือกวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) ที่จะทำการจี้อิเล็กโทรดไปกระตุ้นสมองส่วนที่ทำงานผิดปกติจนทำให้เกิดอาการสั่น ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า รวมถึงบรรเทาอาการเจ็บปวดโดยไม่มีสาเหตุ
แต่กรณีของฟริสช์นั้นแตกต่างออกไป อาการสั่นที่เขามีนั้นเป็นเพียงแค่เล็กน้อยจนแพทย์ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าควรจี้อิเล็กโทรดกระตุ้นไปตรงจุดใดของสมองกันแน่ ทีมแพทย์จึงตัดสินใจทำการผ่าตัดโดยให้ฟริสช์ ซึ่งยังมีสติครบและรู้ตัวดี คอยสีไวโอลินไปด้วยขณะผ่าตัด ในขณะที่แพทย์คอยสังเกตจากภาพที่หน้าจอและสอดเข็มอิเล็กโทรดลงไปในสมองของเขา ทำการปล่อยกระแสไฟไปกระตุ้น และดูผลที่ได้แบบเรียลไทม์ว่า ผลของการกระตุ้นไปยังสมองจุดที่คิดว่าเป็นปัญหาได้ผลหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า มือของฟริสช์หายสั่น และสีไวโอลินได้อย่างราบรื่นเหมือนไม่เคยเจ็บป่วยด้วยอาการนี้มาก่อน
ภาพบันทึกการผ่าตัดของฟริสช์ช่างทำให้รู้สึกตื่นตะลึงและทึ่งในวิทยาการทางการแพทย์จริง ๆ แต่หวังว่าเราคงจะไม่ต้องไปนอนสีไวโอลินให้คนเอาเข็มมาแทงลงสมองแบบนี้บ้างหรอกนะ หวาดเสียวจัง >.<