เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก thumbsup.in.th
สพธอ. เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2557 พบคนไทยติดเน็ตงอมแงม มากกว่าวันละ 7 ชั่วโมง นิยมแชทมากสุด อึ้ง กว่า 75% ไม่ตั้งรหัสผ่านเข้าเครื่องและไม่ล้างข้อมูลหลังเลิกใช้ เสี่ยงข้อมูลถูกฉก
ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงเครือข่ายไร้สายได้ง่ายผ่านทางสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และช่องทางอื่น ๆ ที่นับวันยิ่งล้ำสมัยขึ้น ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2557 ซึ่งได้เริ่มสำรวจบนเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2557-สิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 16,596 คน แบ่งเป็นเพศหญิง ร้อยละ 56 เพศชาย ร้อยละ 43.1 และเพศที่สาม ร้อยละ 1.3 ดังที่เว็บไซต์ thumbsup.in.th หยิบยกมารายงานให้ทราบกัน ดังนี้
ภาพรวมของการใช้งานอินเทอร์เน็ต
จากผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้งานโดยเฉลี่ย 32.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 4.6 ชั่วโมงต่อวัน ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้คนใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ของวันเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังพบว่า "กลุ่มเพศที่สาม" มีจำนวนค่าเฉลี่ยชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด อยู่ที่ 62.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
อุปกรณ์ที่ใช้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Device)
"สมาร์ทโฟน" เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ตอบแบบสำรวจใช้งานมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 77.1และมีการใช้งานโดยเฉลี่ย 6.6 ชั่วโมงต่อวัน ตามมาด้วย "คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ" ซึ่งมีผู้ใช้งานร้อยละ 69.4 และมีค่าเฉลี่ยในการใช้งานต่อวันคิดเป็น 6.2 ชั่วโมง และสำหรับการใช้งาน "สมาร์ททีวี" ในยุคทีวีดิจิตอลระยะเริ่มต้น พบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียงร้อยละ 8.4 เท่านั้นที่ใช้อุปกรณ์นี้ โดยมีการใช้งานเฉลี่ย 3.4 ชั่วโมงต่อวัน
ช่วงเวลาที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์ต่าง ๆ
ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 50 ระบุว่าช่วงเวลา 08.01–16.00 น. เป็นช่วงเวลาที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์แบบ Desktop อย่างไรก็ตาม ยังพบอีกว่าผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 40 ยังมีการใช้งานสมาร์ทโฟนในช่วงเวลานี้เช่นกัน และในช่วงเวลาหลังเลิกงาน/เรียน ตั้งแต่เวลา 16.00–24.00 น. สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้งานเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด นอกจากนี้ อุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตและสมาร์ททีวีก็ถูกใช้งานมากขึ้นในช่วงเวลานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่น
กิจกรรมการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต
จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อความบันเทิงและการสื่อสารเป็นหลัก โดย 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 การพูดคุยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ร้อยละ 78
อันดับ 2 อ่านข่าวหรือ e-book ร้อยละ 56
อันดับ 3 ค้นหาข้อมูล ร้อยละ 56
ในขณะที่ผู้ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์จะใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ได้แก่ การรับ-ส่งอีเมล การค้นหาข้อมูล อ่านข่าว หรือ e-book ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินยังมีการดำเนินการผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่าอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความคุ้นเคยและความรู้สึกปลอดภัยในการใช้งาน รวมทั้งระบบบราวเซอร์ที่รองรับการทำงานบนคอมพิวเตอร์มากกว่า
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มเพศที่สามเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ซื้อสินค้าออนไลน์ร้อยละ 39.1 และ ใช้คอมพิวเตอร์ซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 50.7
เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยม
ในปีนี้เครือข่ายสังคมออนไลน์และแอพพลิเคชั่นยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ Facebook (ร้อยละ 93.7) LINE (ร้อยละ 86.8) และ Google+ (ร้อยละ 34.6) ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2556 จะเห็นว่ามีการสลับตำแหน่งกันระหว่าง LINE (ร้อยละ 61.1) และ Google+ (ร้อยละ 63.7)
สำหรับ Instagram และ Twitter มีผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 โดยในปีนี้ มีผู้ใช้งาน Instagram ร้อยละ 34.1 ในขณะที่ปี 2556 มีผู้ใช้งานเพียงร้อยละ 12 และ Twitter มีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ 16.1 ในขณะที่ปี 2556 มีผู้ใช้งานเพียงร้อยละ 8.2 เท่านั้น
ปัจจัยที่ใช้ประกอบการซื้อสินค้า/บริการผ่านอินเทอร์เน็ต
ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อ 3 อันดับแรก ได้แก่ โปรโมชั่นที่ถูกใจ ข้อมูลสินค้าจากเว็บไซต์ของผู้ขายมีมากพอต่อการตัดสินใจซื้อ และระบบความปลอดภัยของเว็บไซต์ นอกจากนี้ บุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด คือ กลุ่มเพื่อนหรือคนรู้จักที่เคยซื้อสินค้าและบริการจากเว็บ ซึ่งพบว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากกว่าความคิดเห็นของ Blogger หรือโฆษณาผ่านหน้าเว็บไซต์
ถึงแม้ว่าผลการสำรวจจะชี้ให้เห็นว่าคนไทยจะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่ทาง สพธอ. ได้แสดงความกังวลว่าอาจจะเป็นการสร้างภัยให้โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนมากยังไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามออนไลน์ โดยจะเห็นได้จากผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สุ่มเสี่ยง พบว่า กว่าร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสำรวจมักจะเช็กอินเสมอ ซ้ำยังตั้งค่าบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตนเป็น "Public" อีกด้วย
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นอีกว่าตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มีมากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ โดยมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการซื้อสินค้าอยู่ที่ 4,000 บาทต่อครั้ง และมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นจำนวนเงินมากถึง 15,000 บาท โดยที่ผู้ใช้งานกว่าร้อยละ 75 ไม่ตั้งรหัสผ่านก่อนเข้าเครื่อง และไม่ทำการล้างข้อมูลเมื่อเลิกใช้หรือนำโทรศัพท์มือถือไปขายต่อ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยกลุ่มมิจฉาชีพ
อย่างไรก็ตาม ทาง สพธอ. มีนโยบายที่จะรับมือกับกระแสภัยคุกคามออนไลน์ด้วยการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาหรือความไม่ชอบธรรมในโลกออนไลน์แบบ One Stop Service โดยเป็นความร่วมมือกับกสทช. และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ซึ่งอาจจะมีการทำข้อตกลง MOU กันเร็ว ๆ นี้