ทีมวิศวกรอากาศยานของอังกฤษร่วมมือกันคิดค้นอากาศยานลูกผสม หรือ "ไฮบริด แอร์ เวฮิเคิล" ที่มีส่วนผสมระหว่าง "แอร์ชิป" หรือ "เรือเหาะ" กับเฮลิคอปเตอร์ เพื่อพัฒนาเป็นอากาศยานอเนกประสงค์ ทั้งเป็นยานเพื่อการขนส่งและเป็นสถานีชั่วคราวเพื่อการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลจากระบบเครือข่ายภาคพื้นดิน
อากาศยานลูกผสมดังกล่าวผลิตออกมา 2 ลำ ลำแรกคือ แอร์แลนเดอร์10 กำหนดแล้วเสร็จในราวปี 2016 ส่วนอีกลำขนาดใหญ่กว่า คือ แอร์แลนเดอร์50 กำหนดแล้วเสร็จพร้อมบินในปี 2018 โดยอาศัยโรงเก็บเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ที่คาร์ดิงตัน เป็นสถานที่ในการสร้างเรือเหาะลูกผสมทั้งสองลำนี้
นิค ออลแมน ผู้อำนวยการโครงการไฮบริด แอร์ เวฮิเคิล บอกว่า แอร์แลนเดอร์เหมือนกับเรือเหาะตรงที่มันใช้ก๊าซฮีเลียมสำหรับการลอยตัวอยู่ในอากาศ อย่างไรก็ตาม ตัวยานในส่วนลำตัวก็ถูกออกแบบมาตามหลักแอโรไดนามิก เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและยกตัวขึ้นได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังติดตั้งระบบโฮเวอร์คราฟท์เอาไว้ด้านใต้ตัวยานทำให้มันสามารถขึ้นลงได้ในแนวดิ่ง และสามารถลงจอดได้ในพื้นที่ราบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพื้นหิมะ น้ำ หรือหนองบึง คุณสมบัติพิเศษอีกอย่างก็คือ มันสามารถลอยตัวนิ่งในอากาศได้แบบเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ (แต่ต้องบรรทุกของไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักบรรทุกรวม)
วัตถุประสงค์ในการสร้าง แอร์แลนเดอร์50 ที่มีขนาดยาว 119 เมตร ก็คือการทำหน้าที่เป็นอากาศยานเพื่อการขนส่ง สำหรับขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีถนนหนทางเข้าถึง ส่วนแอร์แลนเดอร์10 ที่มีขนาด 92 เมตรนั้น สามารถลอยตัวขึ้นสูงถึงระดับ 6,000 ฟุตในอากาศได้ต่อเนื่องยาวนานถึงครั้งละ 3 สัปดาห์ จึงสามารถทำหน้าที่เป็นสถานีสื่อสาร เพื่อการสำรวจทางภูมิศาสตร์หรือการถ่ายทำภาพยนตร์ชั่วคราวได้
แอร์แลนเดอร์10 เตรียมอวดศักยภาพของมันด้วยการทำหน้าที่เป็นสถานีสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั่วคราวสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ริโอ เดอจาเนโร ในปี 2016 นี้
ข้อมูลและภาพ : มติชนออนไลน์ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557