อีโบลา ระบาดจากคนสู่คน สธ.ไทย วาง 3 มาตรการป้องกัน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ข่าวสด 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก             

 

 

             อีโบลา ระบาดจากคนสู่คน มีอัตราการตายสูงถึง 50-90% สาธารณสุขไทย วาง 3 มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาด ไวรัสอีโบลา แนะหากพบผู้ป่วยมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว ให้รีบพบแพทย์            เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงกรณีมีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาใน 3 ประเทศแอฟริกา คือกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน โดยระบุว่า ยอดผู้ป่วยโรคอีโบลา ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วย 1,093 ราย เสียชีวิต 660 ราย ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาเฉพาะ ในส่วนของประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงในการระบาดต่ำ ​แต่ก็​ได้จัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันไว้แล้ว โดยมี 3 มาตรการหลัก ได้แก่             1. ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคจาก WHO อย่างใกล้ชิด ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ​เพราะไม่มียารักษา ต้องค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด               2. ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดมาตรการดูแลรักษา หากมีผู้ป่วยมีอาการในข่ายสงสัย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตรายสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส เป็นต้น              3. ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยมีความร่วมมือใกล้ชิดกับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ในการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชนิดนี้             ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ปัจจุบันวงการระบาดของโรคมีอยู่ใน 3 ประเทศ ส่วนไนจีเรีย เกิดจากการเดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย โดยมาตรการเฝ้าระวังจะเพิ่มขึ้นตามวงการระบาดที่เพิ่มขึ้น             สำหรับ ไวรัสอีโบลา มีช่องทางการติดต่อโรคเหมือนโรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ คือ ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางการรับหรือสัมผัสของเหลวจากร่างกายผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ สารคัดหลั่งต่าง ๆ ตลอดจนเชื้ออสุจิ โดยยังไม่พบการติดต่อทางทางเดินหายใจ ทั้งนี้ พบว่าอัตราการติดเชื้อเกิดอย่างช้า ๆ แต่ที่ควบคุมการระบาดยังไม่ได้ สืบเนื่องจากวัฒนธรรมและลักษณะประเทศของแอฟริกา ที่ไม่มีน้ำสะอาดเพียงพอ ขาดอุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงการฝังศพที่ชาวบ้านยังใช้มือเปล่า ทำให้โดนสารคัดหลั่งจากศพจนติดเชื้อ จึงควบคุมได้ยาก ไวรัสอีโบลามีระยะฟักตัวไม่เกิน 7 วัน แต่ WHO ยังระบุว่า ประมาณ 2-21 วัน โดยมีอัตราการตายสูงถึง 50-90%            นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากการติดตามพบว่ามีประชาชนที่เดินทางมาจากแถบประเทศที่เกิดการระบาด 100 รายต่อเดือน และอาศัยอยู่ไม่นานนัก โดยระบบเฝ้าระวังการระบาดจะให้ประชาชนที่เดินทางเข้ามาจากประเทศต้องสงสัยรายงานตัวและลงชื่อ ที่อยู่ เพื่อติดตามอาการเจ็บป่วย เพื่อให้เฝ้าระวังโรคได้ทัน ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไป 3 ประเทศดังกล่าว หากไม่มีความจำเป็นก็ยังไม่ควรเดินทางไป แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไป ต้องไปรายงานตัวที่ประเทศเซเนกัล เพราะมีสถานกงศุลอยู่ ฉะนั้นมาตรการขณะนี้ถือว่าเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังโรคเมอร์โควี ยังถือว่าต้องทำอย่างเข้มข้นมากกว่า             สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคอีโบลา คือ มีไข้สูงทันที อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ในรายที่อาการรุนแรงหรือในบางรายที่เสียชีวิตจะมีอาการเลือดออกง่าย โดยมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ ​ขณะนี้ WHO ยังไม่มีคำแนะนำห้ามเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง             ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสอีโบลา มีข้อแนะนำคือขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้าโดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย และหลีกเลี่ยงการการรับประทานเนื้อสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลก ๆ มาประกอบอาหาร                และหากพบว่ามีอาการป่วย เช่น มีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดโรค ขอให้แจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การดูแลได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิตทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร 0-2590-3159, 3538 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 
Credit: http://health.kapook.com/view94592.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...